สร้างภูมิคุ้มกันต้านโรค COVID-19 ในผู้สูงอายุ

สร้างภูมิคุ้มกันต้านโรค COVID-19 ในผู้สูงอายุ

HIGHLIGHTS:

  • ความเสื่อมของอวัยวะและระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ต่ำลงตามวัยและโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และโรคระบบทางเดินหายใจ   อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรค Covid-19 มีมากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ

  • ในภาวะที่มีการระบาดของโรค COVID-19 หากพบว่า ผู้สูงอายุ มีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอ จาม เจ็บคอ อ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการโทรศัพท์ หรือใช้ Telemedicine

การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (Coronavirus) สายพันธุ์ใหม่ SARS-CoV-2 ที่เป็นสาเหตุของโรค Covid-19  อย่างรุนแรง

ในประเทศจีน พบว่าผู้ที่มีอายุ มากกว่า 60 ปี (โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อายุมากกว่า 80 ปี) มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้ออย่างรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยพบยอดการเสียชีวิตใน ผู้สูงอายุ  80 ปีขึ้นไปมากถึง  14.8 % ขณะที่ผู้เสียชีวิตอายุน้อยกว่า 50 ปีมีประมาณ 1% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม  แพทย์ยังไม่สามารถยืนยันสาเหตุแน่ชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอายุกับความรุนแรงของโรค เพียงตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดจากความเสื่อมของอวัยวะและระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ต่ำลงตามวัย นอกจากนี้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง  โรคหัวใจ และโรคระบบทางเดินหายใจ

การป้องกันการติดเชื้อ SARS-CoV-2 สาเหตุโรค COVID-19 ใน ผู้สูงอายุ

  • ทั้งผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ ด้วยสบู่ โดยใช้เวลาล้างอย่างน้อย 20 วินาที หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (CDC) และองค์การอนามัยโลก (WHO)  แนะนำให้ร้องเพลง Happy Birthday 2 รอบ  ของไทยเราร้องเพลง ลอยกระทง 1 รอบ ก็ได้ 30 วินาที
  • หากไม่มีสบู่และน้ำ ให้ใช้เจลทำความสะอาดที่มีแอลกอฮอล์อย่างน้อย 70% เทลงบนมือและถูให้ครบ 7 ขั้นตอนจนรู้สึกแห้ง
  • ควรอยู่แต่ในบริเวณบ้าน งดพาผู้สูงอายุไปยังแหล่งชุมนุม เช่น ตลาด วัด ซูเปอร์มาร์เก็ต หรือไปร่วมกิจกรรม งานสังสรรค์  ถ้าจำเป็นต้องออกนอกบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลทุกครั้งหลังจับสิ่งของนอกบ้าน
  • งดใช้บริการขนส่งสาธารณะ ทั้งรถเมล์ เรือ รถไฟฟ้า หากจำเป็นต้องเดินทางด้วยแท็กซี่ ควรใส่หน้ากากอนามัยและรีบทำความสะอาดมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์ หลังจากลงรถ
  • เมื่อกลับถึงบ้านควรรีบอาบน้ำ สระผม เปลี่ยนชุดใหม่ทันที
  • ผู้ดูแลที่ใกล้ชิดผู้สูงอายุ ก็ควรออกนอกบ้านให้น้อยที่สุด และควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
  • แยกสำรับอาหาร ห้องพัก และของใช้ส่วนตัวสำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ
  • ผู้ที่มีไข้ตัวร้อน หรืออยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโรค COVID-19 หรือโรคทางเดินหายใจอื่นๆ ห้ามสัมผัสตัว หรือเข้าใกล้ผู้สูงอายุในระยะ 2 เมตร  หากอาศัยในบ้านเดียวกัน ควรใส่หน้ากากอนามัย และแยกกักตัวเองออกจากผู้สูงอายุเป็นเวลา 14 วัน
  • สมาชิกในครอบครัวคนอื่นที่ไม่ป่วย เมื่อกลับถึงบ้านก็ควรอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนเข้ามาใกล้ชิดผู้สูงอายุ
  • ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่สัมผัสบ่อยๆ ทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณที่ผู้สูงอายุใช้พักผ่อน เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องครัว รวมถึงลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ โซฟา และโต๊ะต่างๆ  เปิดประตู หน้าต่างที่พักให้อากาศถ่ายเท และมีแสงแดดส่องทั่วถึง
  • ไม่พาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาลโดยไม่จำเป็น แต่ก็ต้องรับประทานยาประจำตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอาจให้ผู้อื่นไปพบแพทย์ตามนัดและรับยาแทน
  • หากพบอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ ไอ จาม เจ็บคอ อ่อนเพลีย เหนื่อยหอบ ควรให้ผู้สูงอายุสวมหน้ากากอนามัย และรีบปรึกษาแพทย์ประจำทันที และพาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล หากแพทย์แนะนำ

ผู้สูงอายุ สร้างภูมิคุ้มกันต้านโรค COVID-19

  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะสารเคมีในบุหรี่จะทำลายเนื้อเยื่อปอด ทำให้ปอดอ่อนแอ เมื่อรับเชื้อ SARS-CoV-2 เข้าไป อาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดปอดอักเสบรุนแรง และระบบทางเดินหายใจล้มเหลวเฉียบพลันได้
  • ควบคุมโรคประจำตัวให้ดี มีข้อมูลระบุว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคอ้วน และโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น เบาหวานเรื้อรัง มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงจากเชื้อ SARS-CoV-2 มากกว่ากลุ่มอื่น
  • รับวัคซีนตามช่วงอายุ โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส (Pneumococcal vaccine) หรือวัคซีนป้องกันเชื้อปอดอักเสบ  เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะปอดอักเสบจากเชื้อ SARS-CoV-2 จะสามารถมีการติดเชื้อไวรัสและ/หรือแบคทีเรียตัวอื่นแทรกซ้อนด้วย ซึ่งอาจส่งเสริมให้อาการปอดอักเสบของผู้ป่วยทรุดหนักลงกว่าเดิม
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และปรุงสุกใหม่  สารอาหารที่ดีต่อสุขภาพจะช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันเพื่อให้สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้ รับประทานผัก ผลไม้หลากสีซึ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดการบริโภคน้ำตาล ไขมัน อาหารแปรรูปและเนื้อสัตว์ติดมัน หรืออาจปรึกษาแพทย์ เพื่อรับวิตามินหรืออาหารเสริม
  • ออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดิน เดินหรือนั่งแกว่งแขน ถีบจักรยานอยู่กับที่ ว่ายน้ำ (ถ้ามีสระว่ายน้ำที่บ้าน) แอร์โรบิคแบบที่ไม่มีการกระโดดหรือกระแทกที่ข้อต่อ โยคะ  รำไทเก๊ก ฯลฯ  ภายในบ้านหรือบริเวณบ้านที่มีอากาศถ่ายเท ทุกวัน วันละ 30 – 60 นาที  
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมงต่อคืน
  • ลดความเครียด ด้วยการหากิจกรรมที่ผ่อนคลาย และสนุกสนาน เพราะความเครียดเรื้อรังส่งผลต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายอ่อนแอ

ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19  อีกทั้งยังเป็นโรคที่มีความรุนแรงต่อระบบทางเดินหายใจ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ รวมถึงการระบาดของโรคก็เป็นไปอย่างแพร่กระจายและรวดเร็วไปทั่วโลก และยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลงในเร็ววัน ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกัน คือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับเชื้อไวรัส ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และการไม่พาผู้สูงอายุออกไปในพื้นที่เสี่ยงรับเชื้อไวรัส และไม่นำเชื้อไวรัสจากนอกบ้านเข้ามาสู่ในบ้าน

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?