โรคมือ เท้า ปาก ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

โรคมือ เท้า ปาก ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

Highlight:

  • โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อกลุ่มเอนเทอโรไวรัส ได้แก่ คอกแซกกีและเอนเทอโรไวรัส 71 หรือ EV71 มักพบในเด็กเล็ก และส่งผลให้เจ็บป่วยรุนแรงและอันตรายมากในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี 
  • สำหรับผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ อาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้แก่ อาการแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น ชัก ซึม อาเจียน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดบวมน้ำเฉียบพลัน 
  • วัคซีนป้องกันโรคมือ เท้า ปาก EV71 ช่วยป้องกันเชื้อเอนเทอโรไวรัส 71 ที่เป็นสาเหตุหลักของอาการรุนแรงถึงชีวิต สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี  โดยฉีด 2 เข็ม ระยะห่างกัน 1 เดือน 

วัคซีนป้องกันโรค มือ เท้า ปาก EV71 ซึ่งเป็นวัคซีนที่ป้องกันเชื้อไวรัส Enterovirus 71 หรือที่รู้จักกันในชื่อ EV71 ที่ทำให้โรคมือ เท้า ปาก มีอาการรุนแรงจากไวรัสชนิดนี้ (ทั้งนี้วัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันไวรัส EV71 ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงเท่านั้น ยังไม่สามารถป้องกันไวรัสชนิดอื่นที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก ได้) 

โรคมือ เท้า ปาก คืออะไร

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโรไวรัส โดยที่พบบ่อย ได้แก่ คอกแซกกี (Coxsackie virus) และเอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71) หรือ EV71 โดยโรคนี้มักจะพบมากในเด็กเล็ก และจะยิ่งส่งผลให้เจ็บป่วยรุนแรงและอันตรายมากในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี

ลักษณะอาการของโรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก จะแสดงออกเป็นกลุ่มอาการ โดยประกอบไปด้วย อาการไข้ มีผื่นลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส หรืออาจเป็นตุ่มแดง มีแผลอักเสบในหลายที่ เช่น ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม นิ้วมือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางรายอาจมีตุ่มเกิดขึ้นตามลำตัว หรือแขน ขา มีแผลในปากมีลักษณะกลมๆ เล็กๆ กระจายไปที่ลิ้นและเหงือก กระพุ้งแก้มและเพดานปาก ผู้เป็นโรคมือเท้าปากบางรายอาจมีอาการแทรกซ้อนทางระบบประสาทที่อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

อาการที่รุนแรงของโรคมือ เท้า ปาก

ผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก อาการเริ่มต้นโดยส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง มีเพียงอาการของไข้และผื่น ซึ่งไข้มักจะหายภายใน 2-3 วัน โดยผื่นจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 7-10 วัน แต่สำหรับผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก EV71 ที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงได้แก่ 

  • อาการแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น ชัก ซึม อาเจียน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาต กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ปอดบวมน้ำเฉียบพลัน 
  • หรือบางรายที่รอดชีวิต แต่ความรุนแรงของโรคอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดความผิดปกติทางระบบประสาทตามมาได้ 

ช่วงเวลาระบาดของโรคมือ เท้า ปาก

ในประเทศไทย โรคมือ เท้า ปาก สามารถเกิดการระบาดขึ้นได้ตลอดทั้งปี แต่จะเกิดการระบาดมากและรุนแรงในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน หรือช่วงฤดูฝน แต่ในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม ก็ยังสามารถเกิดการระบาดได้ ดังนั้นเมื่อมีรายงานการติดเชื้อขึ้น ทุกคนจึงควรระมัดระวังหรือหาทางป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจากการรับหรือสัมผัสโรค

การติดต่อของโรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก สามารถติดต่อได้จากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นน้ำลาย น้ำมูก หรือจากการสัมผัสกับผื่น ตุ่มน้ำใส หรืออุจจาระของผู้ป่วยและผู้ป่วยที่ติดเชื้อนี้แต่ไม่แสดงอาการ โดยเชื้ออาจจะแพร่ผ่านจากมือผู้ที่ไปสัมผัส ส่งต่อไปยังบุคคลอื่นหรือเด็กคนอื่นๆ   เช่น การเล่นกับลูก การถือของเล่นของลูก การเปลี่ยนผ้าอ้อม การเช็ดตัว การป้อนข้าวหรือการใช้ของต่างๆ ร่วมกับลูก จึงทำให้สัมผัสเชื้อที่ติดอยู่บนพื้นผิวของสิ่งต่างๆ เหล่านั้น 

การติดเชื้อซ้ำหลังจากหายจากโรคมือ เท้า ปาก

หลังจากหายจากโรคแล้วจะยังมีเชื้อปนออกมากับอุจจาระเป็นเวลา 6-8 สัปดาห์  เชื้อของโรคมือ เท้า ปาก อาจยังตกค้างอยู่ในอุจจาระได้ ทำให้อาจยังสามารถแพร่เชื้อได้ จึงจำเป็นต้องดูแลและระวังต่อไปอีกซักระยะ เพราะเชื้อสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นาน และยังทนต่อน้ำยาฆ่าเชื้อหรือแอลกอฮอล์อีกด้วย 

การรักษาโรคมือ เท้า ปาก

ปัจจุบันการรักษาโรคมือ เท้า ปาก เป็นการรักษาตามอาการของโรคที่พบในผู้ป่วย  

แยกผู้ป่วยและหาทางป้องกันไม่ให้เกิดการสัมผัสกับผู้ป่วย เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรอยู่บ้าน ไม่ออกไปปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ถ้าพบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ในโรงเรียน ต้องทำการปิดโรงเรียนหรือสถานเลี้ยงเด็กเพื่อทำความสะอาด หากมีการระบาดให้พ่อแม่หลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กให้ไปอยู่ในที่ชุมชนหรือที่มีคนจำนวนมาก และหลีกเลี่ยงการไปสนามเด็กเล่นและห้างสรรพสินค้า 

นอกจากนี้ต้องรักษาสุขอนามัยให้ตัวเอง ครอบครัว และดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เน้นเรื่องการล้างมือ ทำความสะอาดของเล่นและสิ่งแวดล้อม  

การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ด้วยการฉีดวัคซีน

วัคซีนจะช่วยป้องกันการติดเชื้อโรคมือ เท้า ปาก หรือถ้าติดเชื้ออาการก็จะไม่รุนแรง โดยวัคซีนจะช่วยป้องกันเชื้อไวรัสชนิดเอนเทอโรไวรัส 71 (EV 71) ซึ่งนับเป็นสาเหตุหลักของอาการรุนแรงที่อาจถึงชีวิต สามารถฉีดได้ตั้งแต่เด็กอายุ 6 เดือน – 5 ปี  โดยฉีดทั้งหมด 2 เข็ม ระยะห่างระหว่างเข็มประมาณ 1 เดือน 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?