วัย 50+ กับโรคจอประสาทตาเสื่อม

วัย 50+ กับโรคจอประสาทตาเสื่อม

Highlights:

  • โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นโรคตาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ หนึ่งในสาเหตุของการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวร มักมีอาการตาพร่ามัว มองเห็นภาพบิดเบี้ยว หรือเห็นจุดดำ
  • โรคจอประสาทตาเสื่อม มี 2 แบบ คือ แบบแห้ง (Dry AMD) พบประมาณ 85–90 % ซึ่งจะส่งผลให้การมองเห็นค่อยๆ ลดลง และค่อยดำเนินไปอย่างช้าๆ และ แบบเปียก (Wet AMD) ซึ่งจะพบประมาณ 10-15% มักจะเกิดตามหลังจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง
  • ในปัจจุบันมีหลักฐานว่าการรับประทานวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระสามารถลดการดำเนินของโรคไปสู่ระดับที่รุนแรงขึ้น ในกลุ่มโรคตั้งแต่ระดับปานกลางไปสู่ระดับที่รุนแรง ซึ่งสามารถประเมินระดับความรุนแรงของโรคได้จากการตรวจตาโดยจักษุแพทย์

“ดวงตา” เป็นหน้าต่างของหัวใจ ยังคงเป็นสำนวนที่ใช้ได้ทุกยุค ทุกสมัย และทุกช่วงวัย เพราะไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร ดวงตาก็ยังเป็นอวัยวะที่สำคัญของชีวิต แต่เมื่ออายุเยอะขึ้นความเสื่อมถอยของดวงตา ก็ไล่ตามมาเช่นเดียวกับอวัยวะส่วนอื่นเช่นกัน

จอประสาทตาเสื่อม คืออะไร

โรคจอประสาทตาเสื่อม หรือที่เรียกว่า Age-related macular degeneration (AMD) นั้น จัดว่าเป็นโรคตาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และที่สำคัญเป็นโรคจอประสาทตาที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรในผู้สูงอายุ โดยโรคจอประสาทตาเสื่อมนั้นจะทำให้สูญเสียการมองเห็นเฉพาะภาพตรงกลาง ส่วนภาพด้านข้างของการมองเห็นยังดีอยู่ ซึ่งลักษณะอาการที่สังเกตได้ในเบื้องต้น เช่น มองตรงกลางภาพไม่ชัด ตาพร่ามัว มองเห็นภาพบิดเบี้ยว หรือเห็นจุดดำบริเวณศูนย์กลางของภาพ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม

  • อายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม
  • การสูบบุหรี่
  • โรคความดันโลหิตสูง รับประทานยาลดความดันโลหิตเป็นประจำ
  • โรคอ้วน มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่าหรือเท่ากับ 30 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (BMI ≥ 30 kg/mm2) 
  • มีระดับไขมันในเลือดสูง (Cholesterol) และรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง (Saturated fat) เช่น เนื้อสัตว์ติดมันชีส เนย ขนมเค้ก ไอศกรีม เป็นต้น
  • ผู้ที่ขาดวิตามิน และเกลือแร่ที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินซี วิตามินอี และเกลือแร่ที่มีส่วนสำคัญในการมองเห็น เช่น แคโรทีนอยด์ (Carotenoids) สังกะสี (Zinc) โอเมก้า-3,6 (Omega-3,6)
  • การได้รับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV Exposure)
     

อาการจอประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม จะมีลักษณะของโรค 2 รูปแบบ ได้แก่

  1. โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (Dry AMD) พบประมาณ 85–90 % ของโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งหมด เป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด เกิดจากการเสื่อมและบางลงของบริเวณศูนย์กลางรับภาพของจอประสาทตา เกิดจากการที่มีของเสียมาสะสมอยู่ใต้ลล์จอประสาทตา (Drusen) ซึ่งจะส่งผลให้การมองเห็นค่อยๆ ลดลง และค่อยดำเนินไปอย่างช้าๆ
  2. โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก (Wet AMD) พบประมาณ 10-15% เกิดจากการที่มีเส้นเลือดผิดปกติงอกขึ้นมา จากใต้จอประสาทตา ส่วนใหญ่มักจะเกิดตามหลังจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง เส้นเลือดที่งอกใหม่จะมีลักษณะเปราะบางทำให้เกิดการรั่วซึมและแตกง่าย ส่งผลให้จุดรับภาพบวม มีเลือดออกใต้จอประสาทตาและในชั้นจอประสาทตา ทำให้การมองเห็นภาพเริ่มพร่ามัว และเกิดการสูญเสียการมองเห็นจากแผลเป็นใต้จอประสาทตาและเซลล์รับภาพของจอประสาทตาตายลงไป

การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง (Dry AMD)

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงชะลอการดำเนินของโรคเท่านั้น คือ การตรวจสุขภาพตากับจักษุแพทย์เป็นประจำ รวมถึงควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการเสื่อมของจุดศูนย์กลางการรับภาพของจอประสาทตา
สามารถลดปัจจัยเสี่ยง ดังนี้

  1. งดการสูบบุหรี่
  2. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ติดมันและอาหารที่มีคลอเรสเตอรอล (Cholesterol) สูง
  3. ควบคุมความโลหิตและระดับไขมันในเลือด
  4. ควบคุมน้ำหนักและออกกำลังกาย
  5. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักใบเขียว เนื้อปลา ผลไม้ เป็นต้น
  6. ตรวจสุขภาพและตรวจตาเป็นประจำทุกปี
  7. ควรสวมแว่นตากันแดดที่เคลือบสารป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) และกางร่มที่สะท้อนรังสีอัลตราไวโอเลต เมื่อออกกลางแดด

ในปัจจุบันมีหลักฐานการรับประทานวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระสามารถลดการดำเนินของโรคไปสู่ระดับที่รุนแรงขึ้นในกลุ่มโรคตั้งแต่ระดับปานกลาง (Intermediate AMD)ไปสู่ระดับที่รุนแรง (Advance AMD) ซึ่งสามารถประเมินระดับความรุนแรงของโรคได้จากการตรวจตาโดยจักษุแพทย์
 

การรักษาโรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดเปียก (Wet AMD) ทำการรักษาได้โดย

1.การใช้แสงเลเซอร์ที่ทำให้เกิดความร้อนต่อจอประสาทตา (Laser Photocoagulation)  

จะใช้แสงเลเซอร์เข้าไปยิงเข้าไปในจอประสาทตาของผู้ป่วยเพื่อทำลายเล้นเลือดงอกใหม่ที่ผิดปกติใต้จอตาด้วยความร้อน วิธีนี้ไม่เพียงแต่ทำลายเส้นเลือดที่ผิดปกติ แต่ยังมีผลต่อจอประสาทตาส่วนดีที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับเส้นเลือดที่ผิดปกติ โดยตำแหน่งที่เลเซอร์จะสูญเสียความสามารถในการรับภาพไป วิธีนี้ใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเส้นเลือดที่อยู่ห่างจากจุดรับภาพสำคัญที่ใช้ในการรับภาพตรงกลางของการมองเห็น

2.การฉายแสงเลเซอร์กระตุ้นยาที่ให้ทางเส้นเลือดเพื่อทำให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดผิดปกติ (Photodynamic Therapy: PDT)

โดยจะให้ยาเข้าทางเส้นเลือดดำ เมื่อยาไปถึงบริเวณเส้นเลือดผิดปกติใต้จอประสาทตาจะเกิดการจับกับเซลล์ผนังเส้นเลือด หลังจากนั้นจะทำการฉายแสงเลเซอร์ในบริเวณที่มีความผิดปกติเพื่อกระตุ้นให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดผิดปกติ โดยที่จะมีผลกระทบกับจอประสาทตาบริเวณข้างเคียงน้อย ซึ่งผู้ป่วยยังคงระดับการมองเห็นได้เหมือนก่อนที่จะได้รับการฉายแสงเลเซอร์

3.การฉีดยาต้านการเจริญเติบโตของเส้นเลือด (Anti-Vascular Endothelial Growth Factor: Anti-VEGF) 

การฉีดยาเข้าน้ำวุ้นตา โดยที่ยาจะไปจับกับสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นเลือด เมื่อสารกระตุ้นการเจริญเติบโตลดลงก็จะส่งผลต่อเส้นเลือดผิดปกติที่งอกขึ้นใหม่ให้เกิดการฝ่อลงไป ยาจะต้องฉีดทุกเดือน อย่างน้อย 3 ครั้ง และสามารถยืดระยะเวลาในการฉีดได้ตั้งแต่ทุก 1 - 4 เดือนในระยะต่อมาขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค โดยที่ผู้ป่วยบางรายสามารถหยุดฉีดยาได้เมื่อโรคสงบ การมองเห็นจะกลับมาดีขึ้นตามลำดับ

4.การผ่าตัด 

ทำในกรณีที่มีเลือดออกในวุ้นตาและใต้จอประสาทตาบริเวณจุดรับภาพสำคัญ โดยทำการผ่าตัดจอประสาทตา โดยอาจทำร่วมกับการฉีดยาละลายลิ่มเลือดใต้จอตา ฉีดยากลุ่มต้านการเจริญเติบโตของเส้นเลือดเข้าน้ำวุ้นตา หรือการฉีดแก๊สเพื่อรีดเลือดให้ออกจากจุดรับภาพสำคัญ

จะเห็นได้ว่า “ดวงตา” เป็นอวัยวะที่สำคัญของชีวิต แต่เมื่ออายุเยอะขึ้นดวงตาก็จะเสื่อมถอยตามเช่นเดียวกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ดั้งนั้น นอกจาการตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปีแล้ว ก็อย่าลืมตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี เพื่อที่จะได้ดูแล รักษาร่างกายก่อนการเกิดโรคได้อย่างทันท่วงที

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?