การเรียนรู้บกพร่อง

การเรียนรู้บกพร่อง

โรคการเรียนรู้บกพร่อง(Learning disorder)

มักถูกเรียกสั้นๆง่ายๆ ว่า “โรค LD” หมายถึง กลุ่มโรคที่เด็กมีปัญหาการอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ หรือคำนวณ โดยที่เด็กอาจทำไม่ได้เลย หรือทำได้ต่ำกว่าเด็กอื่นที่อายุเท่ากันและ สติปัญญาเท่ากันอย่างน้อย 2 ชั้นปี ทั้งๆที่เด็กมีสติปัญญาปกติ ในเด็กไทยพบได้ร้อยละ 6-10 ของเด็กวัยเรียน

LD แบ่งเป็น 3 ด้าน

1.ความบกพร่องด้านการอ่าน
2.ความบกพร่องด้านการเขียนสะกดคำ
3.ความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์

ลักษณะอาการ

เด็กจะมีอาการอ่านหนังสือไม่คล่อง อ่านผิดพลาด อ่านช้าด้วยความยากลำบาก อ่านตะกุกตะกัก อ่านออกเสียงไม่ชัด อาจใช้วิธีเดา เด็กจะมีความยากลำบากในการแปลความหมายของสิ่งที่อ่าน บางครั้งไม่เข้าใจเรื่องที่อ่าน เด็กมีปัญหาในการสะกดคำ อ่านข้าม คำยาก หรือคำที่อ่านไม่ออก เติมคำใหม่ เอาพยัญชนะหรือสระอื่นมาแทน จำสระไม่ได้ สับสนตัวสะกด ผันคำไม่ได้
เด็กจะมีความยากลำบากในการเขียนหนังสือ เขียนสะกดคำผิด เขียนประโยคไม่ได้ ใช้ไวยากรณ์ผิด เรียงลำดับเนื้อเรื่องที่เขียนไม่ได้ ไม่สามารถถ่ายทอดความคิดผ่านการเขียนได้
บางรายมีความบกพร่องด้านคณิตศาสตร์ ก็จะไม่เข้าใจในเรื่องค่าของตัวเลขหลักต่างๆ การนับจำนวน ไม่สามารถคำนวณคิดหาคำตอบบวกลบคูณหารตามกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์ได้ บางรายก็ไม่สามารถทำโจทย์เลขได้ รวมทั้งขาดทักษะในการประยุกต์ใช้ หลักการคิดคำนวณในการแก้ปัญหาได้ อาการที่กล่าวถึงมีความแตกต่างชัดเจนกับเพี่อนวัยเดียวกันและเป็นปัญหาที่กระทบด้านการเรียนอย่างต่อเนื่อง

ปัญหาพฤติกรรมที่พบในเด็ก LD

เด็กอาจมีพฤติกรรมไม่สนใจเรียน ทำงานช้าและไม่เสร็จ ไม่มีสมาธิในการเรียน หลีกเลี่ยงการอ่าน การเขียน หงุดหงิด และไม่มั่นใจการอ่านเขียน มักจะตอบว่าไม่รู้ ทำไม่ได้ เครียดมากเวลาทำการบ้าน อาจทำให้ผู้ใหญ่มองว่าเด็กขี้เกียจ ไม่ตั้งใจเรียน ดื้อ เกเร เด็กมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาทางอารมณ์และการปรับตัวตามมาได้มาก เช่น อารมณ์หงุดหงิด ท้อแท้ เบื่อหน่ายมีอารมณ์เศร้า ไม่มั่นใจในตัวเอง รู้สึกด้อยกว่าเพื่อนเพราะตนเองทำไม่ได้ บางรายถึงขั้นต่อต้านหรือไม่อยากไปโรงเรียน

แพทย์จะวินิจฉัยและช่วยเหลือเด็ก LDได้อย่างไร

แพทย์จะทำการซักประวัติ รวบรวม ประวัติด้านการเรียน ประวัติพัฒนาการ รายงานจากครูประจำชั้น และตรวจประเมินสภาพจิตใจและพัฒนาการเด็ก เพื่อประเมินโรคร่วม ที่อาจพบร่วมได้แก่ โรคสมาธิสั้น ความบกพร่องด้านภาษาและการสื่อสาร เป็นต้น รวมทั้งมีการทดสอบผลสัมฤทธิ์ด้านการเรียนเปรียบเทียบกับระดับสติปัญญา( IQ) โดยนักจิตวิทยา หลังจากวินิจฉัยได้ แพทย์จะให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค LD และช่วยเหลือครอบครัวทางด้านจิตใจ ร่วมทั้งให้การรักษาโรคร่วม อีกทั้งมีการ ดูแลร่วมกับครูการศึกษาพิเศษเพื่อช่วยเหลือทางด้านการเรียน สอนเสริมในทักษะที่บกพร่อง

การค้นหาและช่วยเหลือเด็กLD มีความสำคัญมาก ต้องอาศัยความเข้าใจจากผู้ปกครอง พ่อแม่ แพทย์ ครู ต้องให้ความร่วมมือกันทั้งสามฝ่าย เด็กควรได้รับการเรียนวางแผนเป็นรายบุคคล (IEP) และหาสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก LD เมื่อเด็กLD ได้รับช่วยเหลืออย่างถูกต้อง นอกจากจะทำให้เด็กมีความสุขในเรื่องการเรียนมากขึ้น แล้วยังทำให้เด็กอยากไปโรงเรียนมากขึ้น ที่สำคัญที่สุด คือเด็กมีความรู้สึกมั่นใจและรู้สึกมีคุณค่าในตนเองมากขึ้น

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?