เราไม่อยากให้ใครป่วย ด้วยวัคซีน

เจ็บนิด ชีวิตอยู่นาน Arm yourself for the ones you love

เราไม่อยากให้ใครป่วย ด้วยวัคซีน

วัคซีน (Vaccine) คือ สารชนิดหนึ่งที่ฉีดเข้าร่างกาย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่างๆ ส่วนใหญ่สกัดมาจากเชื้อที่ตายแล้วหรือเชื้อที่ทำให้อ่อนแอลง เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย ก็จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับโรคนั้นๆได้

การสร้างภูมิคุ้มกันโรคด้วยวัคซีน เป็นการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพสูงและคุ้มค่ามากที่สุด ช่วยป้องกันโรคติดต่อร้ายแรงที่อันตรายถึงชีวิต ให้คนทุกเชื้อชาติ ทุกเพศวัยห่างไกลจากโรค

โดยทีมแพทย์สมิติเวช ได้จัดทำโปรแกรม Total Health Solution ให้เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ ดังนี้

  • แนะนำวัคซีนสำหรับผู้ปกครองของเด็กวัย 0-18 ปี
  • แนะนำวัคซีนสำหรับวัย 18 ปีขึ้นไป
  • แนะนำวัคซีนเฉพาะกลุ่ม
  • แนะนำวัคซีนก่อนเดินทาง
  • แนะนำวัคซีนสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ อุมเราะห์

แนะนำวัคซีนสำหรับผู้ปกครองของเด็กวัย 0-18 ปี

เด็กๆ ทุกคนควรได้รับวัคซีนตั้งแต่แรกเกิด เพื่อช่วยกระตุ้นภูมิต้านทานและสร้างเกราะป้องกันโรคภัยต่างๆ โดยเฉพาะปัจจุบันที่เทคโนโลยีทางการแพทย์เจริญก้าวหน้า สามารถคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคสำหรับเด็กได้ครอบคลุม ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถปรึกษากุมารแพทย์ถึงวัคซีนพื้นฐานหรือวัคซีนจำเป็นแต่ละชนิดที่ควรได้รับตามวัยของลูกน้อย 

อ่านต่อวัคซีนพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเด็ก
สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทยประกาศตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดไว้ว่าเด็กทุกคนควรได้รับวัคซีนจำเป็นขั้นพื้นฐาน เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันตามช่วงวัย ดังนี้
  • วัคซีนวัณโรค (BCG) ควรได้รับตั้งแต่แรกเกิด โดยฉีดที่บริเวณไหล่ซ้าย ซึ่งปกติโรงพยาบาลจะฉีดให้ทารกก่อนกลับบ้าน
  • วัคซีนตับอักเสบบี (HBV) ต้องได้รับทั้งหมด 3 เข็ม โดยฉีดเข็มแรกตั้งแต่แรกเกิด เข็มที่สองเมื่ออายุครบ 1 เดือน และเข็มสุดท้ายเมื่อเด็กครบ 6 เดือน
  • วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DPT) โดยฉีดชุดแรก 3 ครั้ง เมื่ออายุ 2 เดือน 4 เดือน และ 6 เดือน หลังจากนั้นควรมีการฉีดเพื่อกระตุ้นการทำงานของวัคซีนอีกครั้งในช่วงอายุ 1 ปี 6 เดือน และเมื่อมีอายุ 4-6 ปี และฉีดเฉพาะ คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน สำหรับเด็กโต
  • วัคซีนโปลิโอ โดยใช้วัคซีนโปลิโอชนิดฉีดร่วมกับวัคซีนโปลิโอรูปแบบกิน โดยเด็กๆ จะได้รับการหยอดวัคซีนโปลิโอรูปแบบกินจำนวน 5 ครั้ง เมื่ออายุ 2 , 4, 6 เดือน, 1 ปี 6 เดือน และ 4 ปี และต้องได้รับวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน 1 ครั้ง เมื่อเด็กอายุ 4 เดือน
  • วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม(MMR) / วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) ควรฉีดตามช่วงอายุคือ 1 ปี และ 2 ปี 6 เดือน
  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 18 ปี โดยปีแรก ฉีด2 เข็ม เว้นระยะห่างกัน 4 สัปดาห์
  • วัคซีนเอชพีวี (HPV) ควรฉีดตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ถึง 70-90 %
ช่วงอายุ วัคซีน % ป้องกัน
แรกเกิด วัคซีนป้องกันวัณโรค >50
วัคซีนป้องกันตับอักเสบบี ครั้งที่ 1 70-95
เดือนที่ 1 วัคซีนป้องกันตับอักเสบบี ครั้งที่ 2 90-95
เดือนที่ 2 วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ และ Hib ครั้งที่ 1 คอตีบ 97-100,ไอกรน 71-85,บาดทะยัก 100, โปลิโอ 99-100,Hib 96-97.9
วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ต้นเหตุอุจจาระร่วงรุนแรง ครั้งที่ 1 98
วัคซีนไอพีดี ครั้งที่ 1 56-81
เดือนที่ 4 วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ และ Hib ครั้งที่ 2  
วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ต้นเหตุอุจจาระร่วงรุนแรง ครั้งที่ 2  
วัคซีนไอพีดี ครั้งที่ 2  
เดือนที่ 6 วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ และ Hib ครั้งที่ 3  
วัคซีนป้องกันไวรัสโรต้า ต้นเหตุอุจจาระร่วงรุนแรง ครั้งที่ 3  
วัคซีนไอพีดี ครั้งที่ 3 86.9-87.3
วัคซีนป้องกันตับอักเสบบี ครั้งที่ 3  
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (ปีแรก 2 เข็มห่างกัน 1 เดือน จากนั้นปีละ 1 ครั้ง) 70-90
เดือนที่ 9-12 วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบ JE ครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ห่างกัน 3 เดือน – 1 ปี 95-96
เดือนที่ 12 – 15 วัคซีนป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน ครั้งที่ 1 หัด 98, คางทูม 66-95, หัดเยอรมัน >95
> เดือนที่ 12 วัคซีนป้องกันสุกใส ครั้งที่ 1  
วัคซีนไอพีดี ครั้งที่ 4  
วัคซีนป้องกันตับอักเสบเอ 2 เข็ม ฉีด ห่างกัน 6-12 เดือน 94-100
เดือนที่ 18 วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก และ Hib ครั้งที่ 4  
> 2.5 ปี วัคซีนป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน ครั้งที่ 2  
วัคซีนป้องกันสุกใส ครั้งที่ 2 >90
4 – 6 ปี วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอครั้งที่ 5 92-100
9 ปี วัคซีนป้องกันหูดบริเวณอวัยวะเพศชาย 90.41
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก 98-100
11 – 12 ปี วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก สำหรับเด็กโต 85-100

แนะนำวัคซีนสำหรับผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป

ช่วงอายุ วัคซีน % ป้องกัน
19 – 26 ปี วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เป็นประจำทุกปี 50-70
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ( ถ้าตรวจภูมิคุ้มกันและไม่พบ) 80-100
วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ทุก 10 ปี คอตีบ 95 ,ไอกรน 70,บาดทะยัก 100
วัคซีนป้องกันสุกใส ( ถ้าตรวจภูมิคุ้มกันและไม่พบ) 80-100
วัคซีนป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน 2 เข็ม หัด 93, คางทูม 78, หัดเยอรมัน 97
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ ( ถ้าตรวจภูมิคุ้มกันและไม่พบ) 85
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก แนะนำอายุ < 26ปี >90
27-64 ปี วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เป็นประจำทุกปี  
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ( ถ้าตรวจภูมิคุ้มกันและไม่พบ)  
วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ทุก 10 ปี  
วัคซีนป้องกันสุกใส ( ถ้าตรวจภูมิคุ้มกันและไม่พบ)  
วัคซีนป้องกันหัด คางทูม หัดเยอรมัน อายุ ≤ 40 ปี  
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ ( ถ้าตรวจภูมิคุ้มกันและไม่พบ)  
วัคซีนป้องกันงูสวัด 70 (ในอายุ 50-59ปี) , 64(ในอายุ 60-69ปี)
วัคซีนป้องกันปอดอักเสบรุนแรง 75 (Invasive Pneumococcal Disease) , 45 (Pneumococcal Disease)
> 65 ปี วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เป็นประจำทุกปี  
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ( ถ้าตรวจภูมิคุ้มกันและไม่พบ)  
วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ทุก 10 ปี  
วัคซีนป้องกันสุกใส ( ถ้าตรวจภูมิคุ้มกันและไม่พบ)  
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ ( ถ้าตรวจภูมิคุ้มกันและไม่พบ)  
วัคซีนป้องกันงูสวัด 64 (ในอายุ 60-69ปี)
วัคซีนป้องกันปอดอักเสบรุนแรง

วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เริ่มฉีดได้หลังอายุ 6 เดือน เป็นต้นไป

โดยในเด็กที่อายุน้อยกว่า 9 ปีที่รับวัคซีนนี้เป็นปีแรก ต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 1 เดือน
หลังจากนั้นให้ฉีดเป็นประจำทุกปี ปีละครั้งไปตลอดชีวิต

แนะนำวัคซีนเฉพาะกลุ่ม

สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีภูมิต้านทานต่ำ รวมไปถึง นักท่องเที่ยว และผู้ที่จะเดินทางไปประกอบกิจกรรมทางศาสนา ซึ่งมีความเสี่ยงต่อโรคระบาดเมื่อต้องไปในที่แออัด

วัคซีนสำหรับหญิงตั้งครรภ์

คำแนะนำ วัคซีนแนะนำ อายุครรภ์ที่พิจารณาฉีด
ช่วงตั้งครรภ์ วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Tdap)  
วัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก (Td) ฉีด 1-2 เข็มในไตรมาสที่ 2 และ 3 หรือฉีด 3 เข็ม หากไม่เคยได้รับมาก่อน
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีด 1-2 เข็มในไตรมาสที่ 2 และ 3
หลังคลอด วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Tdap)  
สำหรับคนในบ้านที่มีเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Tdap)

ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน

วัคซีนสำหรับผู้เป็นโรคเบาหวาน

วัคซีนแนะนำ คำแนะนำ ประโยชน์ที่ได้รับ
วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Tdap) ฉีด 1 ครั้งแทนวัคซีนป้องกันบาดทะยักเพียงอย่างเดียว และฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี ดัวยวัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก (Td) ป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก
วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส (IPD) ให้ฉีดวัคซีนนี้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยแนะนำให้รับวัคซีน IPD ทั้งชนิด 13 และ 23 สายพันธุ์ เพียงชนิดละ 1 ครั้ง ป้องกันโรคปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีด 1 เข็มทุกปี ป้องกันไข้หวัดใหญ่
วัคซีนป้องกันงูสวัด ฉีด 1 เข็ม ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ป้องกันงูสวัด
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี หากตรวจไม่พบภูมิ ควรฉีด 3 เข็ม ห่างกันที่ 0,1,6 เดือน ป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

วัคซีนสำหรับผู้เป็นโรคหัวใจ

วัคซีนแนะนำ คำแนะนำ ประโยชน์ที่ได้รับ
วัคซีนป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Tdap) ฉีด 1 ครั้งแทนวัคซีนป้องกันบาดทะยักเพียงอย่างเดียว และฉีดกระตุ้นทุก 10 ปี ดัวยวัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก (Td) ป้องกันคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก
วัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส (IPD) ให้ฉีดวัคซีนนี้ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดยแนะนำให้รับวัคซีน IPD ทั้งชนิด 13 และ 23 สายพันธุ์ เพียงชนิดละ 1 ครั้ง ป้องกันโรคปอดบวม เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และติดเชื้อในกระแสเลือด
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีด 1 เข็มทุกปี ป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น หัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง
วัคซีนป้องกันงูสวัด ฉีด 1 เข็ม ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป ป้องกันงูสวัด

ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัว ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน

วัคซีน สำหรับนักท่องเที่ยว

ในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังต่างประเทศเรามีการวางแผนในเรื่องต่างๆ แต่มียังมีอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือการวางแผนฉีดวัคซีน โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินทางไปยังประเทศที่มีความเสี่ยงต่อโรคระบาด กลุ่มเสี่ยงที่มีภูมิต้านทานต่ำ เช่นผู้สูงวัยหรือเด็ก

การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคล่วงหน้าถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยควรปรึกษาแพทย์อย่างน้อย 4-6 สัปดาห์ก่อนการเดินทาง เพื่อให้ร่างกายมีเวลาในการสร้างภูมิคุ้มกัน วัคซีนบางชนิดอาจต้องได้รับการฉีดหลายครั้ง

วัคซีนสำหรับผู้ที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ อุมเราะห์

วัคซีนแนะนำ วิธีฉีด คำแนะนำ
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีด 1 เข็มทุกปี  
วัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก กระตุ้น 1 เข็มด้วย Td ทุก 10 ปี (เช่นอายุ 20, 30, 40 ปี)  
วัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่น ฉีด 1 เข็มก่อนเข้าประเทศอย่างน้อย 10 วัน และไม่เกิน 2 ปี พิจารณาให้ในผู้ที่จะเดินทางไป หรืออยู่อาศัยในทวีปแอฟริกาทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา (Meningitis belt) ประเทศสหรัฐอเมริกา
วัคซีนป้องกันไข้เหลือง ฉีด 1 เข็มก่อนการเดินทางอย่างน้อย 10 วัน พิจารณาให้ในผู้ที่จะเดินทางไปทวีปแอฟริกา หรืออเมริกาใต้ ในพื้นที่ที่เป็นถิ่นระบาดของไข้เหลือง

คำแนะนำ ก่อนและหลังการฉีดวัคซีน

9 เรื่องควรรู้ก่อนฉีดวัคซีน

  1. ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไป หากมีโรคเรื้อรังที่ยังคงมีอาการกำเริบ เช่น เจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยหอบ
  2. ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไป หากมีไข้หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน (หากเป็นหวัด น้ำมูกไหล ไม่มีไข้ สามารถฉีดได้)
  3. หากท่านมีประวัติแพ้ยานีโอมัยซิน สเตรปโตมัยซินและโพลีมัยซินบี หรือแพ้ไข่ จนมีอาการหายใจลำบาก หน้าหรือตัวบวม ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ Lเพราะวัคซีนบางชนิดมีส่วนประกอบของสารเหล่านี้
  4. หญิงตั้งครรภ์ หรือมีแผนตั้งครรภ์ใน 1 เดือน ไม่ควรได้รับวัคซีนเชื้อเป็น (หัด หัดเยอรมัน คางทูม และอีสุกอีใส) ยกเว้นมีความเสี่ยงในการติดเชื้อนั้นสูง ซึ่งจะมีผลต่อทารกในครรภ์และตัวหญิงตั้งครรภ์เอง
  5. สตรีหลังได้รับวัคซีนเชื้อเป็น (หัด หัดเยอรมัน คางทูม และอีสุกอีใส) ควรคุมกำเนิดหลังได้รับวัคซีน 1 เดือน
  6. การได้รับวัคซีนครั้งต่อไป ก่อนกำหนด จะมีผลทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
  7. หลังฉีดวัคซีนควรพักสังเกตอาการ 15 นาที เพื่อดูปฏิกิริยาที่อาจเกิดขึ้น หากแพ้วัคซีน
  8. หลังได้รับวัคซีน อาจมีอาการปวดเฉพาะที่ บวม แดง จ้ำเลือด ท่านไม่ต้องกังวล เพราะจะหายได้เองใน 1-3 วัน หากมีไข้ต่ำๆหรือปวดกล้ามเนื้อ สามารถทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตตามอลได้
  9. เก็บสมุดบันทึกการเข้ารับวัคซีนไว้ตลอดไป เพื่อประโยชน์ในการประเมินภูมิคุ้มกันต่อโรคได้ในอนาคตต่อไป

อาการข้างเคียง และการดูแลหลังจากได้รับวัคซีน

  • วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบันส่วนใหญ่มีความปลอดภัยสูง แต่ยังคงพบอาการข้างเคียงได้บ้างซึ่งส่วนใหญ่ไม่รุนแรงและยอมรับได้ และจะหายไปในระยะเวลา 2 – 3 วัน
  • อาการข้างเคียงของวัคซีนมีความแตกต่างกันไปตามประเภทของวัคซีน
  • วัคซีนเชื้อตาย มักทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้เร็วหลังได้รับวัคซีน โดยเฉพาะเรื่องไข้
  • วัคซีนเชื้อเป็น มักมีอาการข้างเคียงคล้ายกับอาการของโรคนั้น ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนัก และอาการมักเกิดขึ้นหลังได้รับวัคซีนไปแล้วหลายวัน อาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีนมี 2 ประเภทใหญ่ๆคือ
    • อาการเฉพาะที่ เช่นอาการปวด บวมแดง เจ็บ คันบริเวณที่ฉีด
    • อาการทั่วไป เช่น อาการไข้ อ่อนเพลีย ผื่น เป็นต้น
  • การดูแลอาการข้างเคียงทำได้โดย ประคบน้ำอุ่นบริเวณที่บวม ซึ่งจะช่วยให้ทุเลาลง หรืออาจทานยาแก้ปวดลดไข้ร่วมด้วย
  • ควรปรึกษาแพทย์ในกรณีที่อาการรุนแรง หรือไม่ดีขึ้นภายใน 2 – 3วัน

Total Health Solution เราคัดสรรการดูแลที่ใช่ที่สุดสำหรับคุณ เพราะเราไม่อยากให้ใครป่วย (คลิกอ่านเพิ่มเติม)

บทความสุขภาพ

แพทย์ที่แนะนำ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ

คะแนนบทความ
สมัคร

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?