เชื้อโรคร้ายใกล้แค่เอื้อมหยิบมือ (ถือ)

เชื้อโรคร้ายใกล้แค่เอื้อมหยิบมือ (ถือ)

HIGHLIGHTS:

  • จากการศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญพบว่า โทรศัพท์มือถือที่สกปรกที่สุด มีเชื้อแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตอยู่เกินกว่าระดับมาตรฐานที่รับได้ถึง 10 เท่า และยังพบเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อันตรายและอาจก่อให้เกิดความรุนแรงถึงชีวิตโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • การสัมผัสโทรศัพท์มือถือไม่ได้ทำให้เกิดอาการป่วยทันที แต่ความสกปรกที่สะสมไว้จำนวนมาก จะเพิ่มจำนวนขึ้นจนกลายเป็นแหล่งกักเก็บเชื้อโรค จนนำพาโรคร้ายมาสู่ผู้ใช้ได้
  • ควรทำความสะอาดโทรศัพท์มือถือเป็นประจำ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับโทรศัพท์มือถือ ไม่ควรใช้น้ำยาเช็ดกระจก หรือน้ำยาทำความสะอาดในครัวเรือน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าแทบทุกคนบนโลกดิจิตอล 4.0 นี้จะต้องมีโทรศัพท์มือถือ เสมือนเป็นปัจจัยที่ 5 ของชีวิต และจะเห็นอุปกรณ์ชิ้นนี้ติดตามตัวไปทุกที่ เกือบทุกกิจกรรม ตั้งแต่ตื่นนอน จน เข้านอน โทรศัพท์มือถือที่ติดตามเราไปทุกแห่งหนจึงเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคตัวฉกาจและสารพัดชนิด เพราะมือของเจ้าของก็จะไปสัมผัสเชื้อโรคจากสิ่งเวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นในห้องน้ำ ห้องครัว ห้องเรียน ห้องทำงาน หรือในรถสาธารณะต่างๆ และส่งผ่านเชื้อสารพัดชนิดมาสู่มือถือ โดยเฉพาะหน้าจอโทรศัพท์ ซึ่งเป็นส่วนที่มือจะสัมผัสมากที่สุด

มีการศึกษาและการทดสอบจากผู้เชี่ยวชาญมากมายเกี่ยวกับความสกปรกของโทรศัพท์มือถือ ดังเช่น การศึกษาของ จิม ฟรานซิส ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัยแห่งสหราชอาณาจักร พบว่าตัวอย่างโทรศัพท์มือถือที่สกปรกที่สุดมีเชื้อแบคทีเรียที่ยังมีชีวิตอยู่เกินกว่าระดับมาตรฐานที่รับได้ถึง 10 เท่า และเชื้อแบคทีเรียที่พบนั้นเป็นกลุ่มที่พบในลำไส้ของคนและสัตว์ เช่น Enterobacteriaceae, Salmonella sp. โดยเชื้อดังกล่าวพบสูงกว่าระดับที่ปลอดภัยถึง 39 เท่า รวมถึง Fecal Coliform สูงกว่าระดับมาตรฐานถึง 170 เท่า

ดร. ไซมอน พาร์ก แห่งมหาวิทยาลัยเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ ได้ทำการทดลองเพาะเชื้อจากโทรศัพท์มือถือ พบว่ามีเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด และหนึ่งในนั้นคือ  Staphyloccus aureus ซึ่งเป็นเชื้อที่อันตราย อาจก่อให้เกิดความรุนแรงถึงแก่ชีวิตโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันอ่อนแอ

สาม (3) เชื้อโรคร้าย ภัยเงียบบนมือถือ

  • Escherichia coli (เอสเชอรีเชีย โคไล) หรือ เรียกสั้นๆว่า coli: เป็นเชื้อร้ายอันดับ 1 ที่ก่อให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษ ท้องร่วง ปกติเชื้อนี้จะพบอยู่ในลำไส้ของมนุษย์และสัตว์โดยไม่ก่อให้โรค แต่หากมีการสะสมปนเปื้อนบนอาหาร ภาชนะ หรือสิ่งของต่างๆ หรือ “มือ” เป็นปริมาณมากและเวลานาน หรือยิ่งถ้าเป็น E. coli สายพันธุ์ที่รุนแรง เช่น Enterotoxigenic E. coli (ETEC), Enterohemorrhagic E. coli (EHEC) ก็จะทำให้ผู้รับเชื้อมีอาการท้องร่วงรุนแรงได้
  • Staphylococcus aureus (สแตปฟิโลคอกคัส ออเรียส) แม้จะพบเชื้อนี้ได้ไม่บ่อยบนโทรศัพท์มือถือ แต่เป็นเชื้อที่รุนแรงและอันตรายสามารถก่อให้เกิดโรครุนแรงได้หลายอย่าง เช่น โรคติดเชื้อที่ผิวหนัง รวมถึงภาวะอาหารเป็นพิษ ท้องร่วงที่เป็นผลจากสารพิษ Enterotoxin จากเชื้อตัวนี้
  • Coliform (โคลิฟอร์ม) เป็นกลุ่มของแบคทีเรียในวงศ์ Enterobacteriaceae ที่พบได้ในระบบทางเดินอาหารของคนและสัตว์ รวมถึงในดิน อาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ตัวอย่างแบคทีเรียในกลุ่มนี้ คือ coli อาการที่เกิดจากการรับเชื้อชนิดนี้ มักจะมีผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น ไข้ ปวดท้อง ถ่ายเหลว คลื่นไส้อาเจียน

3 วิธีทำความสะอาดลดเชื้อโรคมือถือ

– เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ปัจจุบันมีน้ำยาฆ่าเชื้อโรคสำหรับโทรศัพท์มือถือวางจำหน่าย โดยควรถอดกรอบโทรศัพท์ออกก่อน จากนั้นปิดเครื่อง หยดน้ำยาทำความสะอาดลงบนผ้าหรือสำลีที่สะอาด เช็ดบริเวณหน้าจอและตัวเครื่องไปในทางเดียวกัน โดยไม่วนกลับไปมา จากนั้นใช้ผ้าหรือกระดาษทิชชูเช็ดให้แห้งอีกครั้ง

– ใช้ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (isopropyl alcohol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค  โดยผสมในอัตราส่วนแอลกอฮอล์ 40%  กับน้ำสะอาด 60% จากนั้นหยดลงบนผ้าสะอาดเช็ดเฉพาะด้านหลังตัวเครื่อง ห้ามเช็ดบนหน้าจอโดยเด็ดขาด

ใช้คอตตอนบัดหรือไม้เล็กๆ พันสำลี เพื่อทำความสะอาดตามซอกต่างๆ  เช่น ขอบปุ่มปรับระดับเสียง และปุ่มปิด-เปิดเครื่อง

ทั้งนี้การทำความสะอาดโทรศัพท์มือถือไม่ว่าจะรุ่นใดก็ตาม ห้ามใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีส่วนผสมของสารตัวทำละลาย แอมโมเนีย หรือสารกัดกร่อน รวมถึงไม่ควรใช้น้ำยาเช็ดกระจก หรือน้ำยาทำความสะอาดในครัวเรือนเด็ดขาด นอกจากนี้การทำความสะอาดโทรศัพท์มือถือควรทำประจำสม่ำเสมอ รวมถึงการล้างมือบ่อยๆ  จะช่วยลดการเกิดเชื้อโรคได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การสัมผัสโทรศัพท์มือถือไม่ได้ทำให้เกิดอาการป่วยทันที แต่ความสกปรกที่สะสมไว้จำนวนมาก จะเพิ่มจำนวนขึ้นจนกลายเป็นแหล่งกักเก็บเชื้อโรคมหาศาล จนในที่สุดก็นำพาโรคร้ายมาสู่ผู้ใช้

สำหรับผู้ใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรง เชื้อโรคบางตัวอาจส่งผลน้อย แต่หากเชื้อโรคเหล่านั้นเข้าไปในร่างกายของเด็กๆ หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ อาจทำให้เกิดโรคที่น่าเป็นอันตรายได้ ดังนั้นทุกคนควรใส่ใจในการใช้โทรศัพท์มือถือ ว่าต้องหมั่นทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค  เพราะอันตรายจากโทรศัพท์มือถือมิใช่แต่เพียงคลื่นที่เป็นอันตราย ยังมีเชื้อโรคร้ายๆ แฝงมาอีกมาก

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?