ครบวงจรเรื่องสิว

ครบวงจรเรื่องสิว

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว จำได้ว่ามีโฆษณาชิ้นหนึ่ง มีหนุ่มวัยรุ่นออกมาตะโกนลั่นกลางถนนว่า “เรื่องสิวเป็นเรื่องธรรมชาติ” ฟังแล้วก็อดเห็นด้วยไม่ได้ ใช่ค่ะ เรื่องสิวเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่คงไม่มีใครอยากมีสิวอยู่บนใบหน้าของตัวเองหรอกนะคะ ดังนั้นก่อนที่จะสายเกินไป เรามาทำความเข้าใจกันดีกว่าค่ะว่า สิว คืออะไร อะไรเป็นต้นเหตุแห่งสิว ผลลัพธ์ของสิวคืออะไร การป้องกัน และรักษาสิวนั้นทำได้อย่างไร

สิว (Acne/pimple/zits) เป็นหนึ่งในโรคของรูขุมขน และต่อมน้ำมัน ที่จัดว่าเป็นโรคผิวหนังที่พบบ่อยที่สุดในบรรดาโรคผิวหนังทั้งหมด 80 % ของสิวพบในช่วงวัยรุ่น สิวมีทั้งสิวอักเสบ สิวหนอง สิวอุดตัน และ สิวเสี้ยน ซึ่งกลไกการเกิดสิวทั้งหลายนั้น เป็นกลไกอันเดียวกัน เนื่องจากสิวนั้นเป็นโรคของรูขุมขนและต่อมน้ำมัน จึงพบว่าบริเวณที่ก่อให้เกิดสิวได้บ่อยนั้น ก็เป็นบริเวณเดียวกันกับที่ที่มีรูขุมขนและต่อมน้ำมันมากเช่นกัน ได้แก่ บริเวณ หน้า หน้าอก และ แผ่นหลัง

ในรูขุมขนนั้นประกอบไปด้วย ขนเส้นเล็กๆ โดยมีต่อมน้ำมันที่มีรูเปิดเชื่อมต่อกับบริเวณรากขน น้ำมันจากต่อมน้ำมันก็จะระบายออกสู่รูขุมขนบนผิวหนัง เมื่อมีการกระตุ้นของต่อมน้ำมันให้มีการผลิตน้ำมันมากขึ้น เช่น ในช่วงเข้าสู่วัยรุ่น ภาวะฮอร์โมนแอนโดรเจน (ฮอร์โมนเพศชาย) ที่เพิ่มขึ้นในร่างกายทั้งในเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย จะส่งผลให้ต่อมน้ำมันเกิดการขยายตัวใหญ่ขึ้น พร้อมกับมีการหลั่งของน้ำมันมากขึ้น จึงไม่สามารถระบายน้ำมันส่วนเกินออกทางรูขุมขนได้ตามปกติ เกิดภาวะที่เรียกว่า สิวอุดตัน (comedones)

นอกจากนี้ เจ้าแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Propionibacterium acnes ซึ่งอยู่ที่ผิวหนังบริเวณนั้น ๆ ได้เกิดรวมตัวกันในรูขุมขน ก่อให้เกิดการกระตุ้นการหลั่งสารอักเสบขึ้น จึงเกิดภาวะสิวอักเสบขึ้น สิวไม่ใช่โรคร้ายแรงที่ต้องรีบรักษาแบบรีบด่วน หรือต้องรับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาล ยกเว้นในบางกรณี แต่สิวและผลลัพธ์ของมันมักส่งผลกระทบต่อจิตใจของผู้เป็นเป็นอันมาก ยิ่งไปกว่านี้ผลลัพธ์ของสิวอาจติดตัวผู้เป็นไปจนสิ้นอายุขัยก็ว่าได้ค่ะ

ปัจจุบันนี้พบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้คนคนหนึ่งเป็นสิว แต่อีกคนไม่เป็น คือ ปัจจัยด้านพันธุกรรม ซึ่งเป็นพันธุกรรมแบบเด่น แต่ไม่เจาะจงในรุ่นถัดไป หมายความว่า ถ้าพ่อ หรือแม่เป็นสิวไม่จำเป็นว่าลูกต้องเป็นเสมอไปอาจเป็นหลานก็ได้ค่ะที่มีโอกาสเป็นสิว นอกจากสาเหตุทางพันธุกรรมแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกมาก

สาเหตุของการเกิดสิวได้แก่

  • เครื่องสำอางต่าง ๆ, น้ำมันใส่ผมบางประเภทที่ไม่มีการระบุว่า ไม่กระตุ้นสิว (non-comedongenic)
  • ยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ลิเทียม ยากันชักบางชนิด และ ไอโอไดด์
  • โรคบางชนิด เช่น โรคของต่อมหมวกไต, โรคซีสต์ในรังไข่ หรือ แม้แต่ภาวะตั้งครรภ์ก็ก่อให้เกิดสิวได้เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน
  • การขัดถู หรือ การทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหน้าที่มากเกินไป เช่น การใส่สายรัดศรีษะเป็นเวลานาน, การขัดถูหน้าด้วยวิธีต่างๆ
  • การถูกแสงแดดที่แรงและนานเกินไปอาจเป็นการกระตุ้นการเกิดสิวได้ โดยเฉพาะอุณหภูมิในบ้านเรา

“ท่านผู้อ่านก็ลองสำรวจดูนะคะ หากมีพฤติกรรมดังที่กล่าวข้างต้น ก็คงต้องพยายามหลีกเลี่ยงกันค่ะ”

ผลพวงของสิวนั้นมี ดังต่อไปนี้

  • รอยแกะสิว คนไข้ส่วนใหญ่มักทนไม่ได้กับการมีสิวอยู่บนใบหน้า จึงมักสังหารสิวด้วยตนเองเสมอ ทั้งการ บีบ เค้น แกะ และเกา ทำให้บนใบหน้ามีทั้งรอยสิว และ รอยแกะสิวค่ะ
  • รอยแดงจากสิว มักพบในคนไข้ผิวขาว และ มักพบตามหลังสิวอักเสบ
  • รอยดำจากสิว มักพบในคนไข้ผิวคล้ำ มักพบตามหลังรอยแดงสิว ทั้งรอยแดงและรอยดำ หากไม่ได้รับการรักษาก็สามารถจางลงได้ ในเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี
  • แผลเป็นนูน มักพบบริเวณ จมูก คาง รอบริมฝีปาก และแนวกราม ในคนไข้บางคน อาจพบคีลอยด์ (แผลเป็นก้ามปู) โดยเฉพาะบริเวณหน้าแถวแนวกราม หน้าอก และ บริเวณหลังส่วนบน
  • หลุมสิว มักพบตามหลังการเป็นสิวอักเสบ มักเกิดที่บริเวณแก้ม, ขมับ หรือ อาจเกิดที่ส่วนอื่นของใบหน้าได้ด้วย โดยหลุมสิวแบ่งเป็น 3 ชนิดด้วยกัน
    • หลุมสิวแบบน้ำแข็งเจาะ คือ หลุมสิวขนาดเล็ก มักแคบกว่า 2 มิลลิเมตร แต่ลึก คล้ายรอยน้ำแข็งที่ถูกเจาะด้วยที่เจาะน้ำแข็ง การใช้เลเซอร์ระดับลึก มักเป็นตัวแก้ไขปัญหาหลุมสิวชนิดนี้
    • หลุมสิวแบบรูปกล่องสี่เหลี่ยม เป็นหลุมสิวรูปร่างเหมือนกล่องสี่เหลี่ยมดังชื่อ ขอบจะตัดตรง ถ้าความลึก < 5 มิลลิเมตร สามารถใช้เลเซอร์ระดับตื้นรักษาได้ แต่ถ้าลึกกว่า 5 มิลลิเมตร ต้องใช้เลเซอร์ระดับลึกในการรักษา
    • หลุมสิวแบบก้นกระทะ ขอบจะโค้งมนเนื่องจากมีพังผืดใต้ผิวหนังดึงรั้งไว้ การรักษาด้วยเลเซอร์อย่างเดียวนั้น อาจไม่เพียงพอ ต้องใช้การรักษาด้วยวิธีสลายพังผืด (subcision) หรือ อาจใช้การเติมสารเติมเต็มเฉพาะที่ (Filler)

“การรักษาผลพวงจากสิวนั้น เป็นการักษาที่ปลายเหตุ นอกจากค่าใช้จ่ายจะสูงแล้ว ยังไม่แน่ด้วยว่าผิวจะสามารถกลับสู่สภาพปกติหรือไม่ โดยเฉพาะเจ้าหลุมสิว ดังนั้น การป้องกันและรักษาสิวตั้งแต่เนิ่นๆนั้น คุ้มค่ากว่าการตามรักษาเป็นไหนๆค่ะ”

การรักษาสิว

การรักษาสิวนั้นต้องอาศัยความอดทน ทั้งของแพทย์และคนไข้ค่ะ สิวนับว่าเป็นโรคเรื้อรังโรคหนึ่ง ถ้าสาเหตุของสิวยังอยู่ สิวก็ยังมีโอกาสขึ้นใหม่เสมอ เช่น ในผู้ป่วยเด็กวัยรุ่นที่ทำการรักษาสิวจนหายแล้ว สิวก็ยังมีโอกาสขึ้นใหม่เป็นธรรมดา เนื่องจากช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอยู่มาก การรักษาสิวในปัจจุบันมีทั้งในรูปแบบทายา, ยารับประทาน รวมถึงการกดสิวและทำเลเซอร์ โดยการเลือกวิธีรักษานั้น แพทย์จะจะคำนึงถึงลักษณะผิวของผู้ป่วย ผู้ป่วย ประเภทและความรุนแรงของสิว รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ยารักษาสิวนั้นประกอบด้วย

  • ยากลุ่มอนุพันธ์ของวิตามินเอ (Retinoic acid) ในรูปแบบยาทาและยารับประทาน ช่วยลดการขับน้ำมันส่วนเกินของต่อมน้ำมัน จึงลดการอุดตันของรูขุมขน และยังช่วยลดการอักเสบของสิวด้วย การใช้ยาทากลุ่มนี้ ต้องระมัดระวัง เนื่องจากมักทำให้เกิดการระคายเคือง ลอกของใบหน้า ถึงขั้นแดงและไหม้ได้ การป้องกันด้วยการใช้ยาในปริมาณน้อย ทาบาง ๆ ขณะที่หน้าแห้งสนิท หรืออาจเริ่มจากการทายาคืนเว้นคืนก่อน ยารับประทานต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้น มักใช้ในผู้มีสิวรุนแรง เนื่องจากผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ทำให้เด็กในครรภ์พิการหากรับประทานขณะตั้งครรภ์ ไขมันในเลือดสูง ตับอักเสบ ซึมเศร้า หรือ ทำให้เกิดการหยุดการเจริญเติบโตของกระดูกทำให้เด็กหยุดสูง ส่วนผลข้างเคียงอื่นที่พบบ่อย เช่น ปาก ตา ผิว และผมแห้ง เป็นต้น
  • ยาปฏิชีวนะ หรือ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (Antibiotic) ในรูปแบบยาทา และยารับประทานช่วยลดปริมาณเชื้อแบคทีเรีย P.Acnes ที่ผิวหนัง ส่งผลให้การเกิดสิวอักเสบลดลง ยาปฏิชีวนะแบบรับประทานมักเห็นผลได้เร็วกว่า
  • กลุ่มยาฮอร์โมน ได้แก่ ยาคุมกำเนิด และ ยาขับปัสสาวะกลุ่ม spironolactone ยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ ออกฤทธิ์ต้านฮอร์โมนเพศชาย มักใช้กรณีรักษาสิวที่เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักขึ้น ปวดศีรษะ บวมน้ำ จากผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิด ผู้ที่มีประวัติ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคมะเร็งเต้านม โรคตับและโรคเลือดแข็งตัวง่าย ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิด
  • การผลัดเซลล์ผิวด้วยกรดผลไม้กรดผลไม้ ที่ถูกนำมาใช้บ่อยคือ กรดGlycolic และ กรดsalicylic โดยกรดเหล่านี้จะช่วยผลัดเซลล์ผิวหนังชั้นคลี่ไคลทิ้ง จึงลดการเกาะตัวกันแน่นของหนังกำพร้า ทำให้ลดการอุดตัน นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยลดสิวอักเสบด้วย การรักษาด้วยวิธีนี้ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อดวงตา ผิว เกิดแผลเป็นถาวรได้ จึงควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
  • การกดสิว เป็นวิธีที่ถูกใช้มาแต่โบราณ และยังใช้ได้ดีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดรอยช้ำ หรือแผลเป็นได้ หากเทคนิคหรือเครื่องมือที่ใช้ไม่เหมาะสม ดังนั้นการกดสิวจึงควรอยู่ในการดูแลของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น
  • การใช้เลเซอร์/แสง การใช้เทคโนโลยีเลเซอร์หรือแสงต่างๆเพื่อรักษาสิว เริ่มขึ้นเมื่อมีการค้นพบว่าเชื้อแบคทีเรีย P.Acnes สามารถสร้างเม็ดสี ชื่อ พอร์ไฟรินส์ (porphyrins) โดยพอร์ไฟรินส์นี้จะดูดซึมคลื่นแสงหรือเลเซอร์ที่นำมารักษาในบางช่วงคลื่น ทำให้เจ้าเชื้อแบคทีเรียตาย เมื่อปริมาณเชื้อแบคทีเรียลดลง จำนวนสิวอักเสบก็ลดลงตามไปด้วย

“เล่ามาซะยืดยาว สรุปสั้น ๆ นะคะ ห้ามแคะ แกะ เกา หรือกดสิวด้วยตนเองเด็ดขาด เพราะมักก่อให้เกิดหลุมสิวและแผลเป็น ควรนอนหลับ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ระบบฮอร์โมนทำงานได้สมดุล เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดสิวอุดตัน (Non-comedogenic) และหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันเป็นส่วนประกอบหลัก (oil-based) ไม่จำเป็นต้องล้างหน้าบ่อย ที่สำคัญถ้าไม่ไหวจะเคลียร์ ๆ ๆ ควรพบแพทย์โดยด่วนค่ะ “

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?