ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ภาวะสำคัญที่คุณแม่ท้องต้องใส่ใจ

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ภาวะสำคัญที่คุณแม่ท้องต้องใส่ใจ
  • ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ เป็น 1 ใน 3 สาเหตุหลักของการเสียชีวิตของหญิงตั้งครรภ์ และ 10-15% ของสตรีตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตเกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสเกิดซ้ำได้ และมีโอกาสเกิดเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากตั้งครรภ์ในครั้งถัดไปควรรีบไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ
  • การรักษาภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรคและอายุครรภ์ หากโรคมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น อาจต้องยุติการตั้งครรภ์เพื่อความปลอดภัยของมารดาและทารกในครรภ์

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ คืออะไร

คือ ภาวะที่มีความดันโลหิตมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งภาวะนี้จะแบ่งออกเป็น 4 ลักษณะคือ

  1. ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ การมีความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอทเพียงอย่างเดียว เกิดหลังอายุครรภ์ 20 สัปดาห์จนถึง 12 สัปดาห์หลังคลอด
  2. ครรภ์เป็นพิษ และ ภาวะชัก การมีความดันโลหิตสูง 140/90 มิลลิเมตรปรอท ร่วมกับ ตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 300 มิลลิกรัมใน 24 ชั่วโมง โดยไม่มีประวัติความดันโลหิตสูงเรื้อรังมาก่อน ร่วมกับ ตรวจพบไข่ขาวหรืออัลบูมินในปัสสาวะ ซึ่งความดันโลหิตที่สูงนี้จะกลับเป็นปกติหลังคลอด
  3. ความดันโลหิตสูงเรื้อรัง มีความดันโลหิตสูงเกิดก่อนตั้งครรภ์หรือก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์
  4. ความดันโลหิตสูงทับซ้อนความดันโลหิตสูงเรื้อรัง

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร

สาเหตุของความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการพัฒนาของรกที่ผิดปกติ

แนวทางการดูแลรักษาภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

  1. การรักษาภาวะนี้ขึ้นกับระดับความรุนแรงของโรคและอายุครรภ์ เมื่อมีความดันโลหิตสูง แพทย์อาจจะรับตัวไว้ในโรงพยาบาล เพื่อประเมินความรุนแรงของโรค เฝ้าระวังอาการของแม่ตั้งครรภ์และสุขภาพของทารกอย่างใกล้ชิด ในรายที่มีอาการครรภ์เป็นพิษรุนแรงต้องให้ยาป้องกันการชักและยาลดความดันโลหิต หากการตั้งครรภ์ครบกำหนดหรือภาวะของโรคมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น แนวทางการรักษา คือ ยุติการตั้งครรภ์ ในรายที่ตั้งครรภ์ใกล้ครบกำหนด และปากมดลูกพร้อมชักนำการคลอดทางช่องคลอด หากปากมดลูกไม่พร้อม หรือมีข้อบ่งชี้อื่น เช่น รกเกาะต่ำ หรือ ทารกตัวโต ก็พิจารณาเป็นการผ่าตัดคลอด
  2. แต่รายที่อายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด ถ้าภาวะของโรคยังสามารถควบคุมได้ อาจพิจารณาดำเนินการตั้งครรภ์ต่อและพิจารณายุติการตั้งครรภ์ทันทีหากแพทย์เห็นว่าการดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์

วิธีการปฏิบัติตนของคุณแม่ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่เครียด
  • นับจำนวนการดิ้นของทารกทุกวัน
  • สังเกตอาการที่บ่งชี้ว่ามีสภาวะของโรคที่รุนแรงขึ้น
  • ตรวจติดตามอาการตามแพทย์นัด

อย่างไรก็ตามหากมีอาการผิดปกติข้อใดข้อหนึ่งหรือทารกดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้งต่อวัน ให้รีบมาพบแพทย์ทันที

การตรวจติดตามภาวะความดันโลหิตสูงหลังคลอด

ความดันโลหิตที่เพิ่มสูงขึ้นจากภาวะนี้ในบางรายอาจไม่ได้ลดลงตามปกติทันทีหลังคลอด จึงจำเป็นต้องมาตรวจติดตามวัดความดันโลหิตหลังคลอด โดยทั่วไปความดันโลหิตสูงจากภาวะนี้ควรกลับสู่ปกติอย่างช้าไม่เกิน 12 สัปดาห์หลังคลอด หากความดันโลหิตยังคงสูงอยู่นานกว่านี้ อาจเกิดจากมีความดันโลหิตสูงเรื้อรังมาก่อน ซึ่งควรได้รับการดูแลจากอายุรแพทย์ต่อไป

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม

ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ มีโอกาสเกิดซ้ำได้ และมีโอกาสเกิดเพิ่มขึ้น ดังนั้นหากตั้งครรภ์ในครั้งถัดไปควรรีบไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะภาวะนี้มีอันตรายและสามารถทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษได้ 

การฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งสำคัญ หากมีโรคประจำตัวหรือประวัติการเจ็บป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ สังเกตอาการผิดปกติขณะตั้งครรภ์ และพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ในแต่ละครั้งจะมีการชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต ตรวจโปรตีนและน้ำตาลในปัสสาวะ หากตรวจพบความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ได้เร็ว แพทย์จะทำให้การรักษาและป้องกันภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ รวมถึงภาวะครรภ์เป็นพิษได้


 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?