ซิฟิลิส โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อันตรายของวัยรุ่น

ซิฟิลิส โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อันตรายของวัยรุ่น

HIGHLIGHTS:

  • วัยรุ่นเสี่ยงอันตรายจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ถึง 36.9% จากผู้ป่วยโรคติดต่อจากเพศสัมพันธ์ทั้งหมด เพราะขาดความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา
  • โรคซิฟิลิสหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเชื้อจะทำลายอวัยวะภายใน อาจส่งผลให้ ตาบอด หูหนวก ใบหน้าผิดรูป สมองเสื่อมหรือเสียสติ เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ถ้าเชื้อลามไปถึงหัวใจ จะทำให้หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้
  • ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทางเพศเป็นประจำทุกปี แม้จะไม่มีอาการใด ๆ ก็ตาม

เป็นเรื่องน่าตกใจที่โรคร้ายแรงอันเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์อย่างซิฟิลิสกลับมาระบาดอีกครั้ง และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือมีการระบาดอย่างรุนแรงในกลุ่มวัยรุ่น ช่วงมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย  หรือในเยาวชนที่มีอายุเพียง 15-24 ปี (อ้างอิง www.bbc.com/thai/thailand-48199586 )

การกลับมาระบาดของโรคซิฟิลิสในปัจจุบัน  พบมากที่สุดในกลุ่มวัยรุ่นช่วงมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัย  อายุระหว่าง 15-24 ปี   เนื่องจากเป็นวัยเจริญพันธุ์ มีเพศสัมพันธ์เร็ว และยังขาดความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา รวมถึงวัยรุ่นในปัจจุบันใช้ชีวิตที่อิสระมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าหรือเพศสัมพันธ์แบบคืนเดียว  (One night stand) นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มวัยรุ่นใช้ถุงยางอนามัยเพื่อป้องกันโรคจากเพศสัมพันธ์น้อยมาก บางคนอาจคิดว่าตนไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงเนื่องจากไม่ได้เปลี่ยนคู่นอนบ่อย จึงไม่ใช้ถุงยางอนามัย แต่ในความเป็นจริง การมีเพศสัมพันธ์ทุกรูปแบบโดยไม่สวมถุงยางอนามัย ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ทั้งสิ้น

นอกจากกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวแล้ว  เชื้อซิฟิลิสยังสามารถติดต่อจากแม่ที่ติดเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาสู่ทารกในครรภ์ โดยผ่านทางรกอีกด้วย ส่งผลให้ทารกเกิดมามีความผิดปกติ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ ตาบอด สมองเล็ก หรือแม้กระทั่งเสี่ยงเสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลว

โรคซิฟิลิสเกิดจากเชื้อแบคทีเรียเทรโพนีมา พัลลิดัม (Treponema pallidum)   มีระยะฟักตัวประมาณ 2 – 4 สัปดาห์จนถึง 3 เดือน ชอบบริเวณที่มีความชื้น ถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากการสัมผัสเชื้อโดยตรง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย และติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์ได้

โรคนี้เคยระบาดและเป็นโรคที่น่ากลัวในอดีต โดยเฉพาะซิฟิลิสระยะที่สาม  ผู้ป่วยอาจตาบอด ใบหน้าผิดรูป  บางรายอาจมีอาการผิดปกติทางระบบประสาทคล้ายคนเสียสติ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีจนเชื้อฝังลึกอาจเสี่ยงที่จะเสียชีวิต

อาการ

โรคซิฟิลิสแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1  เกิดตุ่มเล็กขนาด 2 – 4 มิลลิเมตร บริเวณอวัยวะเพศ  ริมฝีปาก ลิ้น  และหัวนม  โดยตุ่มขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนแตก เป็นแผล  ไม่มีอาการเจ็บ หากปล่อยทิ้งไว้เชื้อจะเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ ระยะนี้เป็นระยะที่ยังไม่แสดงอาการเนื่องจากแผลและอาการต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโตจะค่อยๆ หายไป ผู้ป่วยจึงมักนิ่งนอนใจว่าไม่ได้เป็นอะไร
  • ระยะที่ 2  หลังจากติดเชื้อระยะแรกประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ เชื้อซิฟิลิสในต่อมน้ำเหลืองเริ่มเข้าไปสู่กระแสเลือด ส่งผลให้เกิดผื่นลักษณะเป็นตุ่มนูนขึ้นตามร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ไม่มีอาการคัน  เรียกระยะนี้ว่า “ระยะออกดอก”   บางครั้งอาจพบเนื้อตายเน่า มีน้ำเหลืองไหล  ซึ่งมีเชื้อซิฟิลิสปน จึงเป็นระยะติดต่อโรคได้ง่าย แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการใดๆ  มีเพียงไข้ เจ็บคอ หรือปวดเมื่อยตามข้อเท่านั้น ซึ่งเชื้อสามารถสงบอยู่ตามอวัยวะต่างๆ  นานหลายปี เพียงแต่ตรวจพบว่ามีผลบวกของเลือดสูงมาก
  • ระยะที่ 3  เรียกว่าระยะแฝง เป็นช่วงที่ไม่มีอาการ มารดาที่ตั้งครรภ์และเป็นโรคในระยะนี้ เชื้อซิฟิลิสสามารถติดต่อไปยังทารกในครรภ์ได้
  • ระยะที่ 4  หลังจากได้รับเชื้อในระยะเวลานาน 2 – 30 ปี หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเชื้อจะทำลายอวัยวะภายใน รวมถึงอาจส่งผลให้ ตาบอด หูหนวก ใบหน้าผิดรูป สมองเสื่อมหรือเสียสติ เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต ถ้าเชื้อลามไปถึงหัวใจ จะทำให้หัวใจล้มเหลว และเสียชีวิต

การป้องกันและรักษา

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • ไม่สำส่อนทางเพศ รวมถึงหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วย
  • ควรพบแพทย์เสมอ หากเกิดแผลบริเวณอวัยวะเพศ โดยเฉพาะหลังจากมีเพศสัมพันธ์ เพื่อเข้าตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง
  • หากพบว่าเป็นโรคซิฟิลิส แม้ไม่แสดงอาการ ก็ควรไปพบแพทย์สม่ำเสมอตามนัด เนื่องจากเชื้อซิฟิลิสสามารถฝังตัวในกระแสเลือดเป็นระยะเวลานาน
  • การรักษาโรคซิฟิลิส แพทย์ทำการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลินในขนาดสูง โดยผู้ป่วยต้องไปฉีดยาตามนัดทุกครั้ง การขาดยาจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่สามารถรักษาโรคจนหายขาด 

แม้ปัจจุบันการแพทย์จะพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง แต่โรคร้ายภัยเงียบอย่างซิฟิลิสก็สามารถกลับมาระบาดอย่างรวดเร็ว หนึ่งในเหตุผลหลักคือ  ผู้ป่วยไม่ใส่ใจป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย ไม่ระมัดระวังเรื่องการเลือกคู่นอน ใจร้อนอยากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่คิดวางแผนป้องกันใดๆ รวมถึงไม่เคยเข้ารับการตรวจโรค นอกจากนี้ผู้ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการอย่างเด่นชัดจนกว่าจะเป็นระยะสุดท้าย ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวกลายเป็นพาหะของโรคไปโดยไม่ตั้งใจ

ดังนั้นผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพทางเพศเป็นประจำทุกปี แม้จะไม่มีอาการใด ๆ แสดงก็ตาม  โรคซิฟิลิสอาจจะดูรุนแรงแต่ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?