ผิวแห้ง คัน ในผู้สูงวัย ป้องกันได้

ผิวแห้ง คัน ในผู้สูงวัย ป้องกันได้

HIGHLIGHTS:

  • การอาบน้ำบ่อยๆ อาบน้ำอุ่นและใช้สบู่ทั่วไปที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ทำให้สูญเสียไขมันที่เป็นเกราะป้องกันผิวชั้นนอก เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดผิวแห้งในผู้สูงอายุ
  • ผู้สูงอายุที่ผิวแห้ง คัน ควรเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่มีค่าความเป็นด่างน้อย ค่า pH ประมาณ 5 และควรมีสารเพิ่มความชุ่มชื้นผิว ไม่มีสารลดแรงตึงผิว (surfactant)
  • หากมีการอักเสบของผิวหนัง หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียจากการเกา มีแผลและมีหนอง ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

 

ภาวะผิวแห้ง (Dry skin หรือ Xerosis)  เกิดขึ้นจากภาวะที่มีน้ำมันเคลือบผิวลดลง เกิดการสูญเสียน้ำในผิวหนัง ทำให้ผิวขาดความชุ่มชื้น รวมทั้งต่อมไขมันผลิตน้ำมันลดลง ผิวหนังจะมีลักษณะแห้งเป็นขุยไม่เรียบเนียน ร่วมกับมีอาการคันได้   ในภาวะปกติร่างกายจะมีเกราะป้องกันผิวหนัง (skin barrier) เพื่อให้ผิวหนังมีความชุ่มชื้น ซึ่งจะขึ้นอยู่กับ

  1. ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (stratum corneum) ประกอบด้วยเซลล์ผิวหนัง เซลล์เม็ดสี โปรตีน (amino acid) น้ำ และไขมัน ซึ่งไขมันมีหน้าที่สำคัญคือกักเก็บความชุ่มชื้นที่ผิวหนัง และป้องกันน้ำระเหยออกจากผิวหนัง ที่สำคัญคือเซรามายด์ (Ceremide) เป็นส่วนประกอบหลักร่วมกับกรดไขมัน (fatty acid) และโคเลสเตอรอล (cholesterol)
  2. ชั้นหนังแท้ (Dermis) ประกอบด้วยคอลลาเจน (collagen) อีลาสติน (elastin) และสาร Hyaluronic acid มีคุณสมบัติดูดซับน้ำไว้ในชั้นหนังแท้ ทำให้ผิวหนังเต่งตึงมีความยืดหยุ่นดี นอกจากนี้ในชั้นหนังแท้ยังมีต่อมเหงื่อทำหน้าที่สร้างและขับสารน้ำออกจากร่างกายเพื่อปรับอุณหภูมิ และต่อมไขมันทำหน้าที่ขับไขมันออกมาปกป้องผิว ไม่ให้ผิวแห้ง

 

ถ้ามีปัจจัยมารบกวนทำให้เกราะป้องกันผิวหนัง (skin barrier) เสียสมดุล จะส่งผลให้เกิดภาวะผิวแห้งผิวลอกได้

  • ปัจจัยภายใน (intrinsic factor) เช่น ผู้สูงอายุ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน โรคไต ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ ขาดสารอาหาร ขาดน้ำ หรือได้รับยาบางอย่างในการรักษาโรคเช่น ยาขับปัสสาวะ กรดวิตามินเอ
  • ปัจจัยภายนอก (extrinsic factor) เช่น ความชื้นในอากาศต่ำ ฤดูหนาว อยู่ในห้องแอร์ อาบน้ำบ่อยๆ หรือสัมผัสสารที่มีความเป็นกรดด่าง เช่นสบู่ที่มีความเป็นด่าง หรือน้ำยาทำความสะอาดที่มีแอลกอฮอล์ รวมถึงการใส่เสื้อผ้าที่มีความหยาบกระด้างกับผิวหนัง

 

ในผู้สูงอายุ ผิวหนังทุกชั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ   ในชั้นหนังกำพร้าความสามารถในการสร้างเซลล์ใหม่ทดแทนเซลล์เก่าจะลดลง ซึ่งปกติวงจรการผลัดเซลล์ผิวของชั้นหนังกำพร้าจะใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ แต่ในผู้สูงอายุวงจรนี้จะใช้เวลานานขึ้นถึง 2 เท่า และความสามารถในการกักเก็บน้ำไว้ที่ผิวหนังก็ลดลง ผิวหนังชั้นหนังกำพร้าจะบางลงมากถึง 50% โดยเฉพาะบริเวณที่ถูกแสงแดดสม่ำเสมอ เช่น ใบหน้า คอ หลังมือ และแขนด้านนอก ส่วนในชั้นหนังแท้เส้นใยคอลลาเจนและอีลาสตินก็จะบางลง เส้นใยที่ประสานกันจะขาดความยืดหยุ่น ทำให้ผิวหนังเกิดรอยเหี่ยวย่น ต่อมเหงื่อและต่อมไขมันทำงานลดลง  ทำให้ผิวหนังในผู้สูงอายุมีลักษณะแห้งเป็นขุย มีสะเก็ดและหยาบง่ายขึ้น

ภาวะผิวแห้งในผู้สูงอายุ (Xerosis) จึงพบได้บ่อย โดยจะมีลักษณะเป็นสะเก็ดแห้งเป็นขุย หรือเป็นแผ่น มีร่องแตกคล้ายเกล็ดปลา ซึ่งสามารถพบได้ทั้งตัว แต่จะชัดเจนบริเวณแขนขา โดยพบทั้งในเพศชายและเพศหญิงพอๆกัน ซึ่งแสดงว่าฮอร์โมนไม่ได้เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดผิวแห้ง แต่เกิดจากอายุที่มากขึ้น ทำให้มีการสร้าไขมันที่ผิวหนังลดลงโดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแล้ว  นอกจากนี้การอาบน้ำบ่อยๆ อาบน้ำอุ่นและใช้สบู่ทั่วไปที่มีฤทธิ์เป็นด่าง ทำให้สูญเสียไขมันที่เป็นเกราะป้องกันผิวชั้นนอก ก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดผิวแห้งในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในฤดูหนาว เนื่องจากมีความชื้นในอากาศต่ำทำให้ผิวสูญเสียน้ำได้มากขึ้น ผิวจึงแห้งและคันมากขึ้นได้

การรักษาภาวะผิวแห้ง ควรใช้โลชั่นทาเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิวหนัง ลดอาการคัน และเพิ่มเกราะป้องกันผิวหนัง (skin barrier) และลดการสูญเสียน้ำในผิวหนัง ในกรณีที่มีการอักเสบของผิวหนัง หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วยจากการเกา (มีแผลและมีหนอง) แนะนำควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

การดูแลตนเองเพื่อป้องกันภาวะผิวแห้ง และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดผิวแห้ง โดย

  1. เลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่เหมาะสม มีค่าความเป็นด่างน้อย คือควรมีค่า pH ประมาณ 5 และควรมีสารเพิ่มความชุ่มชื้นผิว ไม่มีสารลดแรงตึงผิว (surfactant)
  2. ทาโลชั่น ครีม หรือน้ำมัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นของผิวหนัง (moisturizer) หลังอาบน้ำทันที เช้า-เย็น หรือทาบ่อยๆ ในกรณีที่ผิวแห้งมาก และควรเลือก moisturizer ที่ไม่มีน้ำหอม เพื่อลดโอกาสในการแพ้สารเหล่านั้น
  3. งดการอาบน้ำอุ่นจัด หรืออาบน้ำเป็นเวลานาน
  4. หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์ และน้ำหอม
  5. หลีกเลี่ยงการเกาหรือเสียดสีบริเวณที่มีอาการคัน เนื่องจากจะกระตุ้นให้มีอาการอักเสบติดเชื้อที่ผิวหนังได้
  6. สวมใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบายผิว
  7. ดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิวหนัง
  8. หลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดจัดเป็นเวลานาน และควรป้องกันแสงแดดโดยทาครีมกันแดด สวมหมวก กางร่ม และใส่เสื้อแขนยาว

 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?