เตือนภัยฤดูฝนกับผื่นแพ้จากแมงกะพรุน

เตือนภัยฤดูฝนกับผื่นแพ้จากแมงกะพรุน

HIGHLIGHTS:

  • ถ้าเกิดอาการแพ้พิษแมงกะพรุนรุนแรงอาจทำให้จมน้ำตายได้!!!
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำจืดล้างพิษแมงกระพรุน เพราะน้ำจืดจะช่วยกระตุ้นพิษให้พิษกระจายมากขึ้น
  • ผิวหนังที่โดนพิษแมงกระพรุน อาจจะเป็นรอยไหม้ แผลเรื้อรัง และอาจจะเป็นแผลเป็นได้

เตือนภัยฤดูฝนกับผื่นแพ้จากแมงกะพรุน

หน้าฝนมาถึงแล้วนะคะ เริ่มมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยมาพบหมอด้วยเรื่อง โดนแมงกะพรุนตอนลงเล่นน้ำทะเล โดยคนไข้ส่วนใหญ่จะมีผื่นแดงลักษณะเป็นเส้นคล้ายหนวดแมงกะพรุนกรณีโดนตัวมันเต็ม ๆ ถ้าอาการรุนแรงมากอาจเป็นตุ่มไหม้ของผิวหนัง หรือตุ่มน้ำพุพองเลยทีเดียว แต่ถ้าโดนแค่ถุงพิษของมันที่ลอยหลุดออกจากหนวดของมัน ผู้ป่วยอาจมีอาการเป็นตุ่มคันคล้ายเม็ดยุงกัดกระจายตามตัว แขน หรือขา วันนี้หมอมีเรื่องของแมงกะพรุน

แมงกะพรุน (Jellyfish)

คือ สัตว์น้ำไม่มีกระดูกสันหลัง ใสคล้ายวุ้น ด้านบนเป็นวงโค้งคล้ายร่ม ด้านล่างตอนกลางเป็นอวัยวะทำหน้าที่กินและย่อยอาหารมีหลายชนิด เช่น แมงกะพรุนจาน หรือ แมงกะพรุนหนัง ซึ่งกินได้ ส่วนแมงกะพรุนถ้วย แมงกะพรุนไฟ และแมงกะพรุนลาย เป็นแมงกะพรุนที่มีพิษ โดยเข็มพิษ (Nematocyst, อ่านว่า นีมาโตซิส) จะพบได้ทั่วๆ ตัว แต่พบมากบริเวณหนวด และรอบปากซึ่งใช้ในการฆ่าเหยื่อ

แมงกะพรุนทั่วๆไป คือ แมงกรพรุนที่เรามักเห็นเกยตื้นตามชายหาด ตัวใสๆ หรือบางทีก็เห็นอยู่ในชามเย็นตาโฟหรือหม้อสุกี้ ส่วน แมงกะพรุนไฟ จะมีลักษณะที่ แตกต่างจาก แมงกะพรุนธรรมดาๆอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสามารถสังเกตได้จากสีสันที่ค่อนข้างสด และหนวดที่เป็นสายยาว อาหารของพวกเขาคือ แพลงตอน ปลา กุ้ง และ หอย

พิษของแมงกะพรุน

มาจากเข็มพิษ ซึ่งภายในจะมีน้ำพิษที่แมงกะพรุนใช้ในการล่าเหยื่อ เมื่อเราบังเอิญไปโดนหนวดหรือเข็มพิษที่ลอยตามน้ำมา เข็มพิษจะทำให้เกิดอาการปวดแสบ ปวดร้อนทันทีแม้อยู่ในน้ำมัก เกิดอาการคัน เป็นผื่น บวมแดง ร้อน เป็นรอยไหม้ บางรายทำให้เกิดอาการจุกแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก กระสับกระส่าย นอนไม่หลับ อ่อนเพลีย เป็นไข้ แมงกะพรุนไฟบางประเภทอาจมีอันตรายทำให้เสียชีวิตได้ (Box jelly fish, พบแมงกะพรุนชนิดนี้ในออสเตรเลีย) แผลที่เกิดขึ้นจากแมงกะพรุนไฟนี้ มักจะเป็นรอยไหม้ และเป็นแผลเรื้อรัง จนเป็นแผลเป็นได้

ฤดูฝนเป็นฤดูที่แมงกะพรุนชุกชุม จึงควรหลีกเลี่ยงการลงเล่นน้ำในช่วงนี้ค่ะ เมื่อถูกพิษแมงกะพรุนแล้วให้ขึ้นจากน้ำทันที เพราะถ้าเกิดอาการรุนแรงจะทำให้จมน้ำตายได้ แม้จะพบแมงกะพรุนตายตามชายหาดก็ไม่ควรนำมาเล่น เพราะอาจยังมีพิษอยู่และทำให้เกิดอันตรายได้ เมื่อถูกแมงกะพรุนแล้วสายหนวดของมันติดอยู่ ต้องรีบแกะออกโดยเร็ว โดยใช้ผ้าหนาๆ เศษไม้ ทรายแห้งๆ หรือแป้งผงถูเบาๆ ให้หลุดออก อย่าถูแรง และอย่าจับด้วยมือเปล่า เพราะถุงพิษบางอันยังไม่คายพิษ ถ้าถูแรงจะทำให้พิษถูกปล่อยออกมาเพิ่มขึ้น จากนั้น ให้ล้างบริเวณนั้นเบาๆด้วยน้ำทะเล น้ำมันแอลกอฮอล์ แอมโมเนีย หรือโลชันที่หาได้ใกล้ตัว หลีกเลี่ยงการใช้น้ำจืด เพราะน้ำจืดจะช่วยกระตุ้นพิษให้พิษกระจายมากขึ้น การรีดพิษของแมงกะพรุนด้วยของมีคมบางๆเท่าที่หาได้ เช่น บัตรเครดิต หรือทรายขาวๆสะอาดถูเบาๆ จะเป็นการช่วยลดพิษที่ติดอยู่บนผิวหนังได้ค่ะ

ส่วนชาวบ้านมักใช้ผักบุ้งทะเล หรือ ผักบุ้งทะเลขยี้กับน้ำส้มสายชูความเข้มข้น 5% แล้วประคบบริเวณที่โดนพิษ ห่อด้วยผ้าขาวบางทิ้งไว้ ประมาณ 30-60 นาที เพื่อทำให้สภาพพิษซึ่งส่วนใหญ่เป็นโปรตีนเสื่อมสภาพลง ถ้าผู้ที่โดนพิษแมงกะพรุนมีอาการแพ้พิษ มีไข้ หรืออาเจียน หรือเกิดอาการอื่นๆเช่น เป็นผื่นรุนแรง ปวดแสบปวดร้อนมาก แนะนำให้นำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน เพราะบางรายอาจถึงขั้นหมดสติได้ ส่วนผิวหนังที่โดนอาจจะเป็นรอยไหม้ แผลเรื้อรัง และอาจจะเป็นแผลเป็นได้ค่ะ

เมื่อเราทราบถึงพิษร้ายของเจ้าแมงกะพรุนกันแล้ว หมอก็ขอเตือนภัยสำหรับคนที่ชอบเที่ยวทะเลนะคะ ตั้งแต่ฤดูฝนจนถึงต้นฤดูหนาว เนื่องจากฤดูฝนซึ่งเป็นช่วงขยายพันธุ์ของแมงกะพรุน เขาจะลอยตัวมากับคลื่นเข้ามากระทบฝั่ง ดังนั้นแมงกะพรุนจึงมีมากตามชายฝั่งทะเล ซึ่งธรรมชาติก็สร้างสรรค์ผักบุ้งทะเลให้เกิดขึ้นในบริเวณใกล้ๆริมหาดทรายที่มีแมงกะพรุนมากเช่นกัน ขอให้สังเกตและระวังอันตรายจากการลงเล่นน้ำทะเลหลังฝนตกใหม่ๆ โดยส่วนมากแล้วบริเวณชายหาดจะมีป้ายเตือนระวังอันตรายจากภัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ คลื่นทะเลแรง หรือสัตว์ทะเลมีพิษ หากบังเอิญเกิดโดนพิษของเจ้าแมงกะพรุนขึ้นมา ก็อย่าลืมปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนที่จะเกิดอาการรุนแรงยากจะเยียวยากันค่ะ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?