ด้วยความเท่าเทียมกันในสังคมและระบบการศึกษาส่งผลให้ผู้หญิงแต่งงานช้ากว่าในอดีตมาก สวนทางกับวัยเจริญพันธุ์และเริ่มมีประจำเดือนที่เร็วขึ้น เนื่องจากโภชนาการและการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น ร่างกายแข็งแรง สุขภาพสมบูรณ์ ภาวะมีบุตรยากจึงกลายเป็นปัญหาของคู่สมรสที่มีความพร้อมเมื่ออายุมาก
ภาวะมีบุตรยาก หมายถึงหลังแต่งงาน มีเพศสัมพันธุ์ปกติสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง โดยไม่ได้คุมกำเนิด แต่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ภายใน 1 ปี ซึ่งพบในประเทศไทยประมาณ 10-12% ของคู่แต่งงาน
นอกจากโอกาสตั้งครรภ์น้อยแล้ว การตั้งครรภ์ในคุณแม่ที่อายุมากกว่า 35 ปี ยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดความผิดปกติของลูกมากขึ้น เนื่องจากคุณภาพไข่จะลดต่ำลงตั้งแต่อายุ 35 ปี และคุณภาพไข่จะลดต่ำที่สุดเมื่อผู้หญิงมีอายุ 45 ปี
สำหรับผู้ชายเมื่ออายุมากขึ้น แม้ร่างกายจะสามารถผลิตอสุจิได้ลดลง แต่ด้วยความที่ต้องการอสุจิเพียง 1 ตัวจาก หลายร้อยล้านตัวเพื่อไปผสมกับไข่ ซึ่งผู้ชายสามารถผลิตอสุจิได้ตลอดชีวิต จึงมักพบว่าอายุไม่ใช่ปัญหาการมีบุตรยากในผู้ชาย
การฝากไข่ (Egg freezing) คือการเลือกไข่คุณภาพดีเพื่อการมีบุตร โดยนำเซลล์สืบพันธุ์ของผู้หญิงที่เรียกว่าเซลล์ไข่ที่มีความสมบูรณ์ มีคุณภาพที่ดี ไปแช่แข็งในอุณภูมิต่ำกว่า -190 องศาเซลเซียส เป็นการลดความเสี่ยงความผิดปกติทางโครโมโซม ซึ่งเมื่อนำไข่ออกมาละลาย คุณภาพของไข่ยังคงเท่าเดิมเหมือนตอนเก็บ ทั้งนี้ยังสามารถเก็บไข่ครั้งละมากกว่า 1 ฟอง จึงสามารถเลือกไข่คุณภาพดีมาทำการปฏิสนธิ
ผู้หญิงที่มีสุขภาพแข็งแรงดี เตรียมร่างกายให้พร้อม ทำการตรวจร่างกาย เพื่อดูความผิดปกติของอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น รังไข่ มดลูก ตรวจโรคติดเชื้อต่างๆ เช่น เอดส์ ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี และตรวจฮอร์โมนให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
เมื่อร่างกายพร้อมแล้ว แพทย์จะทำการฉีดยากระตุ้นไข่ทุกวัน โดยเฉลี่ย 9-11 วัน จากนั้นติดตามผล ตรวจดูขนาดของถุงน้ำของรังไข่ด้วยการอัลตร้าซาวน์และเจาะเลือด จนถึงขั้นตอนเก็บไข่ในระยะเวลาก่อนไข่ตก กระบวนการดูดไข่ต้องวางยาสลบ งดอาหารและน้ำประมาณ 8 ชั่วโมง นอนโรงพยาบาลเพื่อเตรียมตัวให้น้ำเกลือและยาสลบ ขั้นตอนการเก็บไข่ใช้เวลาเพียง 20-30 นาที รอสังเกตอาการหลังจากเก็บไข่ประมาณ 2 ชั่วโมง ก็สามารถกลับบ้านได้
แพทย์จะทำการคัดเลือกไข่จากน้ำที่ดูดออกมาจากถุงน้ำรังไข่ แล้วรีบนำไปแช่แข็งด้วยกระบวนการลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว (Vitrification) ในอุณภูมิ -18 องศาเซลเซียส ภายใน 1 ชั่วโมง หลังดูดไข่ออกมา จากนั้นจึงย้ายไปแช่ในไนโตรเจนเหลวอุณหภูมิ -190 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไข่ได้นานกว่า 50 ปี โดยไข่ยังคงคุณภาพเหมือนเดิม เนื่องจากทุกอย่างหยุดนิ่ง ไม่มีกระบวนการเมตาบอลิซึมใดๆ และสามารถเก็บไข่ได้สูงที่สุดถึง 25 ฟองในครั้งเดียว
นอกจากบาดแผลจากเข็มที่แทงเข้าร่างกายเพื่อเก็บไข่ที่มีขนาดเล็กมาก ผู้เก็บไข่อาจมีเลือดออกในรังไข่ ส่งผลให้ปวดท้องประมาณ 1-2 วัน โดยไม่มีอาการรุนแรงใดๆ
หลังเก็บไข่จึงควรพักผ่อน งดการใช้แรง อย่าเดินมาก โดยประจำเดือนจะกลับมาปกติอีกครั้งหลังเก็บไข่ 14 วัน
ทั้งนี้หากเก็บไข่ได้จำนวนมากจากการกระตุ้นไข่ อาจส่งผลให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนขึ้นสูงมากกว่าปกติ ทำให้มีอาการคัดเต้านม บวมน้ำ ขาบวม น้ำหนักขึ้น อาจรุนแรงถึงขั้นน้ำท่วมปอด ไตวาย หัวใจวาย แต่พบได้น้อยมาก หากมีอาการผิดปกติดังกล่าว ควรรีบพบแพทย์ทันที
อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงต่าง ๆ จะปรากฏก่อนช่วงมีประจำเดือน เมื่อประจำเดือนกลับมาปกติ อาการต่างๆ ก็จะหายไป เนื่องจากฮอร์โมนลดลงเป็นปกติ
การนำไข่ที่แช่แข็งมาเข้าสู่กระบวนการทำเด็กหลอดแก้ว (Intra cytoplasmic sperm injection –ICSI) ตามกฎหมายไทยกำหนดว่าต้องเป็นคู่สมรสที่แต่งงานจดทะเบียนสมรสเท่านั้น โดยเมื่อละลายไข่ในอุณหภูมิปกติแล้วนำไปปฏิสนธิกับอสุจิของคู่สมรส ภายใน 2 ชั่วโมง หลังจากนั้น 5 วัน จึงย้ายตัวอ่อนเข้าโพรงมดลูก โดยปกติแล้วขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 30 นาที
การฝากสเปิร์ม (Sperm freezing) คือ การนำสเปิร์มจากน้ำอสุจิของผู้ชายไปแช่แข็ง ใช้กระบวนการเดียวกับการแช่แข็งไข่ เพียงแต่มีขั้นตอนที่ง่ายกว่า โดยการหลั่งอสุจิตามธรรมชาติ แล้วนำไปคัดเลือกสเปิร์มใส่หลอดซึ่งสามารถเก็บได้ครั้งละมากกว่าล้านตัว แล้วนำไปแช่แข็งในกระบวนการลดอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงนำไปเก็บในอุณภูมิต่ำถึง –190 องศาเซลเซียส
ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พบแพทย์เพื่อตรวจโรคติดเชื้อ เช่น เอดส์ ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบบี เมื่อมีความพร้อม แพทย์จะให้หลั่งอสุจิออกมาตามธรรมชาติด้วยวิธีสำเร็จความใคร่ด้วยตัวเอง เพื่อเก็บน้ำอสุจิที่มีสเปิร์มไว้ในหลอด แล้วนำเข้าสู่กระบวนการแช่แข็ง
เมื่อต้องการมีบุตร แพทย์จะนำสเปิร์มมาละลายในอุณภูมิห้อง เลือกสเปิร์มตัวที่มีความแข็งแรงและคุณภาพดีนำไปผสมกับไข่ของคู่สมรสเพื่อเข้าสู่กระบวนการเด็กหลอดแก้วต่อไป ซึ่งสามารถทำได้กับคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสแล้วเท่านั้น
การแช่แข็งสเปิร์มสามารถคงคุณภาพได้เท่ากับวันที่นำออกมาจากร่างกาย และสามารถเก็บไว้ได้นานกว่า 50 ปีจนกว่าผู้เก็บสเปิร์มจะต้องการนำมาใช้เพื่อมีบุตร
การฝากไข่และสเปิร์ม จะมีข้อจำกัดในผู้หญิงหรือผู้ชายที่มีปัญหาโครโมโซมผิดปกติ ผู้ที่เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมต่างๆ เช่น ดาวน์ซินโดรม หรือผู้ที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธุ์
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่