ฝีคัณฑสูตร

ฝีคัณฑสูตร

HIGHLIGHTS:

  • อาการของฝีคัณฑสูตรที่เห็นได้คือ มีเลือดซึมและมีอาการปวดบริเวณทวารหนัก ซึ่งคล้ายกับอาการของโรคริดสีดวงทวารหนัก จึงควรเข้ารับการตรวจเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรคและรักษาอย่างถูกวิธี
  • ฝีคัณฑสูตรไม่สามารถหายเองได้ และมักเป็นเรื้อรัง หากต้องการหายขาดหรือมีโอกาสเป็นซ้ำน้อยและหลีกเลี่ยงการกลั้นอุจจาระไม่ได้ ควรเข้ารับการผ่าตัดกับแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการเท่านั้น
  • การผ่าตัดรักษาฝีคัณฑสูตรสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับชนิดและอาการ มีอัตราความสำเร็จ โอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำและข้อดี ข้อด้อยที่แตกต่างกัน โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วย

โรคฝีคัณฑสูตร อาจเป็นชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นหูนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วโรคนี้สามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย และพบได้บ่อยไม่แพ้กับโรคทางระบบลำไส้และทวารหนัก ด้วยความที่ฝีคัณฑสูตรนี้เกิดในบริเวณก้นใกล้ๆ ทวารหนัก เมื่อผู้ป่วยมีอาการแสดงหรือเป็นโรคนี้อาจรู้สึกอายจึงไม่กล้าเข้าพบแพทย์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการเรื้อรังของโรค ทำให้แพทย์ให้การรักษาได้ยากและมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นได้

ฝีคัณฑสูตรคืออะไร

ฝีคัณฑสูตร (Anal Fistula) เป็นฝีที่เกิดจากการติดเชื้อเรื้อรังบริเวณรูทวารหนัก มีลักษณะเป็นรูเปิดด้านนอก และมีโพรงเชื่อมระหว่างรูเปิดด้านนอกและรูเปิดด้านใน เกิดขึ้นได้ที่รอบรูทวารหนักและแก้มก้น มีลักษณะเป็นตุ่มบวมแดง และมีหนองร่วมด้วย แบ่งได้ เป็น 2 ชนิด ได้แก่

1) ฝีคัณฑสูตรแบบ simple คือ ฝีคัณฑสูตรที่อยู่ค่อนข้างตื้น แทรกตัวผ่านกล้ามเนื้อหูรูดเพียงนิดเดียว ให้การรักษาได้ง่ายไม่ซับซ้อน

2) ฝีคัณฑสูตรแบบ complex (ซับซ้อน) คือ ฝีคัณฑสูตรที่มีลักษณะหลากหลาย เช่น มีรูเปิดอยู่ค่อนข้างลึก หรือมีโพรงของรูเปิดที่อยู่ด้านในและด้านนอกเชื่อมต่อกันเป็นเส้นโค้งหรือโค้งอ้อมรอบก้นค่อยมาเปิดด้านนอก หรือมีรูเปิดด้านในเพียงรูเดียวแต่เชื่อมต่อมาเปิดเป็นรูเปิดด้านนอกหลายรู ทำให้มีความยากและซับซ้อนในการรักษามากยิ่งขึ้น

สาเหตุการเกิดโรคฝีคัณฑสูตร

ฝีคัณฑสูตรเกิดจากการอักเสบ อุดตัน และการติดเชื้อแบคทีเรียของต่อมผลิตเมือก (Anal Gland) ที่อาจได้รับมาจากทางลำไส้ เข้ามาทางรูเปิดด้านในของทวารหนัก พออักเสบและอุดตันมากๆ ก็เกิดเป็นหนองด้านใน เมื่อหนองมีปริมาณมากขึ้นก็จะค่อยๆ เซาะไปตามชั้นกล้ามเนื้อจนกลายเป็นโพรงเชื่อมต่อกันระหว่างทวารหนักกับผิวหนังด้านนอก จนแตกออกมาทางด้านนอกและกลายเป็นฝีคัณฑสูตรในที่สุด

อาการของโรคฝีคัณฑสูตร

  • มีอาการบวมแดงและคันบริเวณรอบทวารหนัก
  • มีน้ำเหลือง/หนอง หรืออาจมีเลือดซึมออกมาจากทวารหนัก
  • มีอาการเจ็บ/ปวดบริเวณทวารหนัก
  • มีรูหรือเนื้อแข็งๆ บริเวณรอบทวารหนัก

โรคฝีคัณฑสูตร กับ โรคริดสีดวงทวารหนัก ต่างกันอย่างไร

ทั้ง 2 โรคนี้มีความคล้ายคลึงกันของอาการแสดง คือ มีเลือดซึมและมีอาการปวดบริเวณทวารหนัก แต่โดยรายละเอียดของโรคแล้ว 

  • โรคริดสีดวงทวารหนัก นั้นเกิดจากการที่เส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพองขยายตัวใหญ่ขึ้นทำให้เป็นก้อนนิ่มๆ ยื่นออกมาจากปากรูทวารหนัก มีอาการเจ็บได้บ้างเป็นบางครั้ง อาจไม่มีน้ำเหลืองหรือหนองซึมออกมา
  • ในขณะที่ โรคฝีคัณฑสูตร นั้นมีลักษณะเป็นก้อนแข็งๆ และก่อให้เกิดอาการเจ็บ มีน้ำเหลืองและหนอง และอาจมีเลือดซึมออกมาด้วย ซึ่งโรคริดสีดวงทวารหนักนั้นสามารถหายเองได้ด้วยการปรับพฤติกรรม รัดยาง หรือฉีดยา แต่โรคฝีคัณฑสูตรนั้นไม่สามารถหายเองได้ ต้องเข้ารับการผ่าตัดกับแพทย์ผู้เฉพาะทางเท่านั้น

ฝีคัณฑสูตร หายเองได้ไหม เมื่อไหร่ควรมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

ฝีคัณฑสูตรไม่สามารถหายเองได้ และมักเป็นเรื้อรัง หากต้องการหายขาดหรือมีโอกาสเป็นซ้ำน้อยและหลีกเลี่ยงการกลั้นอุจจาระไม่ได้ ควรเข้ารับการผ่าตัดกับแพทย์เฉพาะทางผู้ชำนาญการเท่านั้น หรือถ้ามีอาการเจ็บหรือมีหนองซึมบริเวณทวารหนักให้รีบมาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุด

การวินิจฉัยโรคฝีคัณฑสูตร

  • ซักประวัติ: แพทย์จะเริ่มวินิจฉัยโดยการสอบถามประวัติและอาการทางลำไส้ของผู้ป่วย
  • ตรวจร่างกาย: ตรวจดูผิวหนังบริเวณรอบทวารหนักโดยบริเวณผิวหนังส่วนที่อักเสบจะพบว่าเป็นสีแดง และมีหนองหรือเลือดไหลซึมออกมา
  • การตรวจเอกซเรย์พิเศษ: หากสงสัยว่าเป็นฝีคัณฑสูตรแบบซับซ้อนหรือหาจุดที่เป็นฝีคัณฑสูตรได้ยาก แพทย์จะพิจารณาการตรวจวินิจฉัยด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อให้เห็นภาพโพรงฝีระหว่างรูเปิดด้านในและรูเปิดด้านนอกได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้แพทย์สามารถให้การรักษาได้แม่นยำมากขึ้นและมีประสิทธิภาพสูงที่สุด

มีวิธีรักษาฝีคัณฑสูตรแบบไม่ต้องผ่าตัดหรือไม่

ไม่มี ฝีคัณฑสูตรต้องเข้ารับรักษาโดยการผ่าตัดเท่านั้น

วิธีรักษาด้วยการ ‘ผ่าตัดฝีคัณฑสูตร’

การผ่าตัดฝีคัณฑสูตรนั้นมีหลายวิธี แตกต่างกันไปตามชนิดและความซับซ้อนของฝีคัณฑสูตร แต่โดยหลักการแล้วเป้าหมายของการผ่าตัดฝีคัณฑสูตร คือ การรักษาให้หายขาดหรือมีโอกาสเป็นซ้ำน้อยที่สุด ร่วมกับการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายกับกล้ามเนื้อหูรูดหวารหนัก เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาในการกลั้นอุจจาระตามมาได้

ฝีคัณฑสูตรชนิด Simple (ไม่ซับซ้อน)

สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดแบบเปิด (Fistulotomy or Fistulectomy) ทำได้โดยการตัดโพรงฝีออกไปโดยตัดผ่านหูรูดทวารหนักเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อระบายหนองในโพรงให้ออกมาจนหมด จากนั้นจึงปล่อยให้เนื้อเยื่อซ่อมแซมตัวเอง 1 เดือน การผ่าตัดวิธีนี้มีโอกาสหายขาดได้ถึง 90 เปอร์เซนต์ และมีโอกาสเป็นซ้ำได้ประมาณ 10 เปอร์เซนต์ ทั้งนี้ วิธีนี้อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง คือ ผู้ป่วยอาจประสบปัญหาการกลั้นอุจจาระได้น้อยกว่าเดิมหากแพทย์ไม่มีความชำนาญมากพอและตัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักออกมากเกินไป ดังนั้น การผ่าตัดกับแพทย์ที่ชำนาญจึงมีความสำคัญที่สุด

ฝีคัณฑสูตรชนิด Complex (ซับซ้อน)

เป็นฝีที่อยู่ลึกหรือมีหลายโพรง ไม่สามารถตัดโพรงฝีออกไปทั้งหมดทีเดียวได้ เพราะหากตัดไปแล้วจะต้องตัดกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักออกเยอะตามไปด้วย ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการกลั้นอุจจาระตามมาได้ จึงต้องใช้วิธีอื่นในการผ่าตัด ซึ่งมีหลากหลายวิธี ดังนี้

  • LIFT (Ligation of Intersphincteric Fistula Tract) เป็นการผ่าตัดเข้าไปผูกบริเวณรูเปิดด้านในของฝีคัณฑสูตร เพื่อป้องกันไม่ให้แบคทีเรียที่อยู่ข้างในทวารหนักเข้ามาในโพรงฝีได้ การผ่าตัดวิธีนี้ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาในการกลั้นอุจจาระหลังผ่าตัดอย่างแน่นอน
  • Seton การคล้องเชือกไว้ในโพรงของฝีคัณฑสูตร แล้วให้คนไข้ค่อยๆ ดึงเชือกวันละนิด ให้เชือกค่อยๆ ตัดผ่านกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักให้ตื้นขึ้นมา ร่วมกับการปล่อยให้ร่างกายค่อยๆ สมานแผล ซ่อมแซมตัวเองกลับมา ซึ่งวิธีนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นการตัดผ่านกล้ามเนื้อหูรูดก็จริง แต่ร่างกายจะค่อยๆ ซ่อมแซมเนื้อเยื่อไปเรื่อยๆ ผู้ป่วยจึงไม่เสียความสามารถในการกลั้นอุจจาระ
  • Advancement Rectal Flap แพทย์จะใช้เนื้อเยื่อของเยื่อบุผนังด้านในทวารหนักมาปิดที่รูเปิดด้านในของโพรงฝี โดยมีหลักการคือให้ปิดทางเข้าของเชื้อแบคทีเรียจากด้านใน หากปิดจากด้านในได้ด้านนอกจะค่อยๆ หายได้เอง
  • Laser การใส่แท่งปล่อยลำแสงเลเซอร์ (laser probe) เข้าไปในโพรงฝีจากด้านนอก เพื่อปิดโพรงฝีทั้งหมด โดยให้พลังงานจากลำแสงเลเซอร์ค่อยๆ ทำลายเนื้อเยื่อโพรงฝี ให้เนื้อเยื่อหดตัวกลายเป็นแผลเป็น (scar tissue) ค่อยๆ ปิดไล่ออกมาจากรูเปิดด้านในจนถึงรูเปิดด้านนอก

การผ่าตัดทั้ง 4 วิธีที่กล่าวมาข้างต้น ยังไม่มีวิธีไหนได้ผล 100 เปอร์เซ็นต์ แต่จะได้ผลประมาณ 60-70 เปอร์เซ็นต์ คือ ยังมีโอกาสเป็นซ้ำได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การผ่าตัดเหล่านี้ก็ยังมีข้อดี คือ ถึงแม้จะไม่สำเร็จในครั้งแรก ก็ยังสามารถทำซ้ำอีก 2-3 ครั้งได้ เพราะไม่ได้ผ่าตัดเอากล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักออกไป

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัด

  • การตรวจร่างกายทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจคลื่นหัวใจ ถ่ายภาพเอกซเรย์ หรือการตรวจพิเศษต่างๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ กรณีผลของการตรวจร่างกายผิดปกติ จะมีการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นเพิ่มเติมด้วย
  • หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว มียาที่รับประทานเป็นประจำ โดยเฉพาะยาที่มีผลกับการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาละลายลิ่มเลือดจำพวก Aspirin, Warfarin มีความจำเป็นต้องงดยาก่อนการผ่าตัดเป็นเวลา 5-7 วัน
  • ก่อนผ่าตัด หากมีหนองหรือเลือดไหลออกมาเยอะ สามารถแปะผ้าก๊อซแบบแผ่นพับ หรือใส่แผ่นอนามัยรองไว้ได้
  • หากมีอาการปวดมาก สามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ และดื่มน้ำมากๆ 
  • งดกิจกรรมที่มีการกระแทกบริเวณรอบทวารหนัก เพื่อหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการปวด

ระยะเวลาพักฟื้นและวิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัด

การผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแบบ simple (ไม่ซับซ้อน) ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพียง 1 วันเท่านั้น ส่วนการผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแบบ complex (ซับซ้อน) ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพียง 1-2 วันเท่านั้น โดยมีวิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัด ดังนี้

  • ผู้ป่วยต้องทำความสะอาดแผลเองที่บ้านด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ และชำระล้างด้วยน้ำประปาที่สะอาดเป็นประจำ เช้า - เย็น และหลังจากถ่ายอุจจาระ แล้วซับให้แห้งเบาๆ ด้วยผ้าที่สะอาด จนกว่าแผลจะฟื้นตัวดี ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์
  • ผู้ป่วยอาจใส่ผ้าก๊อซแบบแผ่นพับ แผ่นอนามัย หรือผ้าอนามัย เพื่อรองรับหนองหรือเลือดและป้องกันไม่ให้เปรอะเปื้อนเสื้อผ้า
  • รับประทานอาหารได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารอ่อน
  • หลังผ่าตัด แพทย์อาจให้ยาที่ทำให้อุจจาระนิ่มเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยขับถ่ายได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • แพทย์อาจสั่งยาตามอาการของผู้ป่วยด้วย เช่น ยาแก้ปวด ยาปฏิชีวนะ
  • หลังจากผู้ป่วยกลับไปพักฟื้นที่บ้านต่ออีก 2-3 วัน จึงจะสามารถขับรถได้
  • ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายประมาณ 1-2 สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ความเสี่ยง ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดฝีคัณฑสูตร และโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ

สิ่งที่แพทย์ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเลยก็คือ การเกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ ซึ่งเกิดจากการตัดเลาะหูรูดทวารหนักออกมากเกินไป ดังนั้น แพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมกับผู้ป่วย โดยประเมินว่าฝีคัณฑสูตรนั้นเป็นแบบไหน แบบซับซ้อนหรือไม่ซับซ้อน อยู่ลึกหรืออยู่ตื้น เป็นต้น

นอกจากนั้นแล้ว ความชำนาญของแพทย์ก็เป็นส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้ ซึ่งมากน้อยแตกต่างกันไปตามชนิดของฝีคัณฑสูตร

วิธีป้องกัน ไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

การปฏิบัติตัวและการดูแลแผลหลังผ่าตัด เป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีโอกาสเป็นซ้ำได้น้อยที่สุด โดยสามารถทำได้ดังนี้

  • การผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแบบ simple (ไม่ซับซ้อน) นั้น แพทย์แนะนำวิธีดูแลแผลหลังผ่าตัดเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำ โดยให้คนไข้ใช้นิ้วลูบเบาๆ บริเวณแผลเป็นประจำทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังเชื่อมติดกันแล้วกลายเป็นโพรงขึ้นมาใหม่ คำแนะนำนี้สำคัญ เนื่องจากหากคนไข้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โอกาสที่จะเกิดการเป็นซ้ำจะต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
  • การผ่าตัดฝีคัณฑสูตรแบบ complex (ซับซ้อน) ไม่ว่าวิธีใดๆ จะมีโอกาสเป็นซ้ำอยู่ที่ 20-30 เปอร์เซ็นต์อยู่ดี แต่ก็มีข้อดี คือ ถึงแม้ผู้ป่วยจะยังมีโอกาสเป็นซ้ำ ผู้ป่วยก็ยังสามารถรักษาด้วยวิธีเดิมซ้ำอีกได้ 2-3 ครั้ง เนื่องจากไม่ได้สูญเสียกล้ามเนื้อหูรูดหวารหนักไป จึงไม่ต้องกังวลปัญหาที่จะตามมาเรื่องการกลั้นอุจจาระไม่ได้

เจาะฝีที่ก้น ป้องกันได้ก่อนกลายเป็นฝีคัณฑสูตร

ในอดีตเมื่อเกิดฝีที่ก้น อาจทำการรักษาโดยการเจาะรูเพื่อระบายหนองในฝีออก แต่ไม่ได้ตรวจร่างกายเพิ่มเติม ซึ่งหากเจาะฝีแล้ว หลงเหลือรูด้านนอกและด้านในอยู่ สุดท้ายอาจจะหายกลายเป็นฝีคัณฑสูตร

แต่ในปัจจุบัน แพทย์ที่ชำนาญจะทำการตรวจร่างกายดูเพิ่มเติม หากพบว่าเป็นฝีอักเสบที่ยังไม่มีรูเปิดด้านนอก แพทย์จะทำการตรวจดูด้านในตอนผ่าเปิดซ้ำอีกครั้งว่ามีรูเปิดด้านในหรือไม่ ถ้ามีก็จะตัดออกในคราวเดียว เพื่อป้องกันไม่ให้หลงเหลือโพรงและมีอาการเรื้อรังจนกลายเป็นฝีคัณฑสูตรในท้ายที่สุด


Video Call ปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางด้านโรคทางเดินอาหาร

วิดีโอคอลปรึกษาหมอออนไลน์ เรื่องอะไรได้บ้าง ?

รู้จักกับคุณหมอภัคพงศ์ วัฒนโอฬาร

นายแพทย์ภัคพงศ์ วัฒนโอฬาร มีความชำนาญด้านการผ่าตัดส่องกล้อง โดยใน 10 ปีที่ผ่านมา คุณหมอผ่าตัดส่องกล้อง Laparoscopic surgery (MIS) มามากกว่า 1,500 ราย ในจำนวนนี้เป็นการผ่าตัดไส้เลื่อน มากกว่า 500 ราย คุณหมอภัคพงศ์ วัฒนโอฬาร จบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และยังได้รับประกาศนียบัตรแพทย์เฉพาะทางอนุสาขาผ่าตัดส่องกล้องศัลยศาสตร์ทั่วไป คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล


Get Professional Help Today

SEND AN INQUIRY OR SCHEDULE AN APPOINTMENT

*โปรดระบุ

ชื่อ*
ชื่อ*
นามสกุล*
นามสกุล*
คำถาม*
คำถาม*
อีเมล*
อีเมล*
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?