มะเร็งลำไส้ใหญ่ ภัยใกล้ตัว

มะเร็งลำไส้ใหญ่ ภัยใกล้ตัว

HIGHLIGHTS:

  • คนที่ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อแดงในปริมาณมาก เนื้อสัตว์ที่ผ่านการปิ้งย่างจนไหม้เกรียม อาหารหมักดอง รสเค็มจัด  และอาหารมีกากใยน้อย  มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนทั่วไป
  • หากพบอาการผิดปกติ เช่น ท้องเสีย สลับกับท้องผูก หรือ ท้องผูกเรื้อรัง อาจเป็นอาการเริ่มต้นของ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
  • NBI (Narrow Band Image) เทคโนโลยีการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ให้ผลที่ละเอียดและแม่นยำ สามารถพบความผิดปกติของผิวเยื่อบุได้ในระยะเริ่มแรก

มะเร็งลำไส้ ภัยร้ายที่คร่าชีวิตคนทั่วโลกมากเป็นอันดับ 2 และพบมากเป็นอันดับ 3 *

นอกจากนี้ยังพบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ที่ไม่ได้มีการรายงานอย่างเป็นทางการมีไม่ต่ำกว่า 3,000 คน  โดยมักเกิดกับผู้สูงอายุวัย 45 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 45 ปี แต่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตามหากคนไทยยังไม่เข้ารับการตรวจคัดกรองก่อนที่จะเป็นมะเร็งลำไส้จะส่งผลให้มีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าใน 10 ปี

จากสถิติและตัวเลขดังกล่าวอาจสร้างความตกใจให้หลายคน แต่อย่างไรก็ตามมะเร็งร้ายตัวนี้สามารถตรวจคัดกรองโดยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ หากพบติ่งเนื้อ (Polyp) ที่ลำไส้ใหญ่ก่อนที่จะเป็นมะเร็งและตัดทิ้งได้มากกว่า  90 %   หรือถ้าเป็นมะเร็งในระยะต้นๆ ยังสามารถรักษาได้หายขาด

สาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่

การเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่มักเริ่มจากกลุ่มติ่งเนื้อชนิดอะดีโนมาทัส (adenomatous polyps) ซึ่งเป็นติ่งเนื้อที่ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิด    โดยพบมากในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป และมีโอกาสกลายเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้  แพทย์จึงมักแนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นประจำ หากตรวจพบติ่งเนื้อดังกล่าวจะได้ตัดทิ้งก่อนที่จะกลายเป็น มะเร็งลำไส้ใหญ่  หรือหากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกก็สามารถรักษาก่อนมะเร็งจะแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ ถือเป็นการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่ได้ผลวิธีหนึ่ง

ปัจจัยเสี่ยง มะเร็งลำไส้ใหญ่

มะเร็งหลายชนิดหาสาเหตุได้ไม่ทราบแน่ชัด มะเร็งลำไส้ใหญ่ก็เช่นกัน โดยปัจจัยเพิ่มความเสี่ยง คือ

  • มีประวัติเนื้องอก บริเวณผนังลำไส้ใหญ่ แม้ไม่ใช่เนื้อร้าย แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
  • อายุ 45 ขึ้นไป มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า  แต่ก็อาจพบได้ในวัยหนุ่มสาวและวัยรุ่นได้เช่นกัน
  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะหากในครอบครัวนั้นมีผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 60 ปี โดยงานวิจัยพบว่า HNPCC (Hereditary Nonpolyposis Colorectal Cancer) หรือ Lynch Syndrome โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมชนิดหนึ่ง ที่ส่งผลให้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และ มีแนวโน้มที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 45 ปี* รวมถึงผู้ที่มีพันธุกรรมเป็นโรค Familial adenomatous polyposis หรือ FAP ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมเช่นกัน  และส่งผลให้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก่อนอายุ 40 ปี อย่างไรก็ตามผู้ที่มีกรรมพันธุ์เป็นโรค FAP และ  HNPCC  สามารถตรวจพบได้โดยการตรวจยีน   ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ไม่ยาก เพื่อตัดความวิตกกังวลควรพบและปรึกษาแพทย์
  • มีอาการท้องผูกเรื้อรัง
  • รับประทานอาหารที่มีไขมันสูง รวมถึงเนื้อแดงปริมาณมาก เนื้อสัตว์ที่ผ่านการปิ้งย่างจนไหม้เกรียม อาหารหมักดองและรสเค็มจัด และอาหารมีกากใยน้อย
  • น้ำหนักตัวเกินและขาดการออกกำลังกาย
  • สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
  • ลำไส้อักเสบ
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานและดื้อต่ออินซูลินมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่

คุณเสี่ยง...มะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่ ?

สมิติเวชรณรงค์ป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ หากคุณอายุ 45+ หรือมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถทำแบบประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น พร้อมรับสิทธิพิเศษปรึกษาคุณหมอทางออนไลน์ ฟรี ! คลิกที่นี่


สัญญาณเตือนว่าควรพบแพทย์

  • มะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะต้นอาจไม่แสดงอาการผิดปกติ  ส่งผลให้ผู้ป่วยละเลยการดูแลตัวเอง   ทั้งนี้หากพบอาการผิดปกติ เช่นท้องผูก สลับกับท้องเสีย หรือ ท้องผูกเรื้อรัง อุจจาระเป็นเส้นเล็กลง มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ น้ำหนักตัวลดโดยไม่ ทราบสาเหตุ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย หรือหมดแรง ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง
  • มีเลือดออกทางทวารหนักหรือมีเลือดปนในอุจจาระ
  • รู้สึกไม่สบายท้อง  เช่น  เป็นตะคริว มีแก๊สเกินจนรู้สึกอึดอัด
  • รู้สึกอ่อนเพลีย หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ

หลายครั้งที่ผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ไม่แสดงอาการใดๆ ในระยะแรก   อาการที่แสดงออกจึงอาจแตกต่างกัน ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของมะเร็งในลำไส้ใหญ่อีกด้วย ดังนั้นหากสังเกตพบว่ามีสัญญาณเตือนอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างร่วมกัน  โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง อย่าลังเลที่จะรีบนัดแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

สนใจทำนัดปรึกษาแพทย์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คลิกที่นี่

การป้องกัน

  • ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้มีความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองตั้งแต่อายุ 45 ปีตามคำแนะนำของสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา ปี 2018 และสำหรับผู้มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็ควรเข้ารับตรวจคัดกรองเร็วกว่านั้น
  •  รับประทานผัก ผลไม้ และธัญพืชหลากหลายชนิด เพื่อเพิ่มวิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ  ไม่ควรเกินวันละ 1 แก้วสำหรับผู้หญิง และ 2 แก้วสำหรับผู้ชาย
  • หยุดสูบบุหรี่  อาจปรึกษาแพทย์เพื่อให้เลิกบุหรี่ได้อย่างเด็ดขาด
  • ออกกำลังกาย อย่างน้อย 30 นาทีทุกวัน
  • อย่าปล่อยให้อ้วน หรือมีน้ำหนักมากเกินไป

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่

การตรวจประเมินเบื้องต้น เป็นวิธียับยั้งและป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี โดยแพทย์แนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองทั้งเพศชายและหญิงเมื่อมีอายุตั้งแต่  45 ปี  ดังนี้

  • การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระ (fecal occult blood test: FOBT) เป็นประจำทุกปี   โดยใช้อุจจาระเพียงเล็กน้อย ซึ่งผู้เข้าตรวจควรงดเนื้อสัตว์ และวิตามินบำรุงเลือดอย่างน้อย 3 วัน
  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (sigmoidoscopy) ทุก 5 ปี โดยใช้กล้องสอดเข้าไปทางทวารหนักผ่านเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนล่าง เพื่อตรวจหาสิ่งผิดปกติ  และตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจได้พร้อมๆ กัน
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) แพทย์สามารถเห็นภาพภายในลำไส้ใหญ่ทั้งหมดและเก็บชิ้นเนื้อที่สงสัยส่งตรวจทางพยาธิวิทยาได้
  • NBI (Narrow Band Image) เทคโนโลยีอันทันสมัยในการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ให้ผลที่ละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยแพทย์สามารถพบความผิดปกติของผิวเยื่อบุได้ในระยะเริ่มแรก   หรือมีขนาดเล็กกว่า 5 – 3 เซนติเมตร อีกทั้งยังสามารถทำการรักษาโดยการตัดติ่งเนื้อนั้นออกทันที ปัจจุบันสมิติเวชได้ร่วมมือกับ SANO Hospital จากญี่ปุ่น โดยเพิ่มความแม่นยำในการตรวจส่องกล้องได้มากขึ้นถึง 2 เท่า  และหากพบความผิดปกติแต่เนิ่น ๆ ก็จะทำให้แพทย์สามารถรักษาได้ทันท่วงที 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม คลิกที่นี่

การรักษา มะเร็งลำไส้ใหญ่

หากผู้ป่วยเป็นมะเร็งระยะ 1 แพทย์ส่วนใหญ่จะใช้การผ่าตัดเนื้อร้ายออก  ส่วนการรักษามะเร็งระยะ 2 และ 3 ที่เสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำอีก จะพิจารณาให้ฉายรังสีและยาเคมีบำบัดร่วมด้วย   ซึ่งสามารถทำก่อนหรือหลังผ่าตัด

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งระยะ 4 นอกจากการผ่าตัดก้อนมะเร็งออก ร่วมกับการฉายรังสีรักษาแล้ว อาจมีการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมเพิ่มเติม ทั้งนี้หากผู้ป่วยที่ก้อนมะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียง แพทย์ต้องทำการรักษาไปตามอวัยวะนั้นๆ โดยพิจารณาแล้วแต่กรณี

การรักษาด้วยยา Targeted Therapy

ปัจจุบันยา Targeted Therapy มีบทบาทในการรักษามะเร็งอย่างมาก ด้วยประสิทธิภาพในการรักษาสูงเมื่อเทียบกับการให้เคมีบำบัดที่ได้ผลประมาณ 30% ในขณะที่การใช้ยา Targeted Therapy สามารถได้ผลสูงถึง 80% ยา Targeted Therapy เปรียบเสมือนสไนเปอร์ที่คอยซุ่มยิงเป้าหมายอย่างแม่นยำให้มะเร็งตายไปได้อย่างตรงจุด ผู้บริสุทธิ์จึงไม่ต้องล้มตาย เซลล์ที่ดีจึงไม่ต้องถูกทำลายไปด้วย แต่ใช่ว่าทุกคนที่เป็นมะเร็งจะสามารถรับการรักษาด้วยยา Targeted Therapy ได้ทุกคน 

การรักษามะเร็งด้วยยา Targeted Therapy ให้ได้ผลดีต้องได้รับผลการตรวจที่แม่นยำ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียด เพราะอาการของคนไข้แต่ละคนไม่เหมือนกัน การรักษาจึงต้องแตกต่างกันออกไป โดยใช้แนวทางการรักษาแบบ “Precision Medicine” หรือการแพทย์เฉพาะเจาะจง ทำให้รักษาได้ตรงจุดมากขึ้น ประสิทธิภาพในการรักษามากขึ้น ผลที่ได้จึงดีขึ้นตามไปด้วย

จะเห็นได้ว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นภัยใกล้ตัวที่แม้จะไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงมากมายนั้นเกิดขึ้นจากพฤติกรรมของผู้ป่วย ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เพิ่มการรับประทานอาหารที่มีกากใย  ดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่ละเลยการออกกำลังกาย รวมถึงฝึกนิสัยการขับถ่ายเพื่อป้องกันภาวะท้องผูก นอกจากนี้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไปรวมถึงผู้มีปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำทุกปี โดยการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (FOBT) ซึ่งสามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้  ทั้งนี้การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)   ควรตรวจทุกๆ  10 ปี เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือหากตรวจพบในระยะแรกก็สามารถรักษาให้หายขาดได้

อ่านเพิ่มเติม


วิดีโอคอลปรึกษาหมอออนไลน์ เรื่องอะไรได้บ้าง ? คลิกอ่านเพิ่มเติม

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?