สอนอย่างไรให้เด็กๆ ไม่พูดโกหก

สอนอย่างไรให้เด็กๆ ไม่พูดโกหก

HIGHLIGHTS:

  • การที่เด็กชอบโกหกไม่ยอมพูดไม่ความจริง อาจเป็นเพราะกลัวพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ไม่พอใจ กลัวจะถูกดุด่า และกลัวถูกลงโทษ
  • หากลูกชอบโกหก พ่อแม่ต้องเปลี่ยนวิธีโต้ตอบ ไม่ตำหนิในทันที สร้างทัศนคติ สอนให้ลูกไม่จำเป็นต้องโกหก ชมเชยให้แรงเสริมเวลาที่ลูกพูดความจริง และพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่โกหกให้ลูกเห็น
  • พ่อแม่อาจต้องสังเกตว่าเด็กมีปัญหาทางจิตเวชอื่นๆ หรือไม่ เพราะเด็กกลุ่มนี้อาจจะพูดโกหกออกมาเพราะสาเหตุจากการป่วย ซึ่งหากสังเกตุว่าลูกมีภาวะไม่ปกติ ควรพามาพบกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเพื่อวางแผนดูแลต่อไป

ถึงเด็กจะไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก แต่หัวจิตหัวใจของเด็กไม่ได้แตกต่างจากผู้ใหญ่เท่าไหร่นัก วันนี้เราจึงมาพูดกันถึงเรื่อง “การพูดความจริง”  ผู้ใหญ่เองบางครั้งก็รู้สึกว่าการพูดความจริงก็ไม่ง่ายเอาเสียเลย เพราะเรากลัวสิ่งที่จะตามมาเมื่อผู้ฟังหรือผู้รับสารได้รับรู้เรื่องที่เราพูด เรากลัวผู้ที่ฟังหงุดหงิด กังวลว่าฟังแล้วจะไม่พอใจ ไม่สบายใจ กลัวผู้ฟังบางคนจะรับไม่ได้ กลัวการขัดแย้ง หรือแม้กลัวว่าจะถูกดุด่าว่าร้าย รวมถึงการกลัวถูกลงโทษ จึงไม่น่าสงสัยว่าทำไม เด็กๆ ชอบพูดโกหก ไม่พูดความจริงในบางเรื่องบางเหตุการณ์

ทำไมเด็กบางคนชอบพูดโกหก

ก่อนอื่นต้องพิจารณาช่วงอายุของเด็กก่อน ถ้าเด็กอยู่ในช่วง 2 – 6 ขวบ อาจยังไม่สามารถแยกแยะอะไรจริง อะไรไม่จริง รวมถึงอาจมีปัญหาทางจิตเวชอื่นๆ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล สมาธิสั้น และอย่างที่กล่าวตั้งแต่ต้นว่าเด็กๆ กลัวที่จะได้รับการตอบสนองในแง่ลบทั้งกับตัวเองและคนอื่นๆ พูดความจริงแล้วอาจทำให้ตัวเอง หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้ง 2 ฝ่าย ผิดหวัง เสียใจ ไม่พอใจ โกรธ หรือมีความรู้สึกในแง่ลบ จึงเลือกที่จะพูดแล้วทำให้คุณพ่อคุณแม่ หรือคนอื่นๆ สบายใจ ไม่โกรธ ไม่ดุด่า

พ่อแม่จะมีอิทธิพลต่อลูกอย่างไร

พ่อแม่ควรรับฟังเรื่องราวของลูก เมื่อลูกมาเล่าว่าทำอะไรผิดมา อย่าไปตำหนิติเตียนทันที ในทางกลับกันให้รับฟังก่อน ให้ชื่นชมที่ลูกกล้าและยอมพูดความจริง  ลูกจะได้เรียนรู้ว่าเขาสามารถพูดความจริงได้ ไม่ต้องปิดบัง จนพฤติกรรมดีๆ นี้ก็จะกลายเป็นธรรมชาติและนิสัยที่ดีติดตัวไป และจะดียิ่งขึ้นเมื่อคุณได้ถามวิธีแก้ปัญหาครั้งนั้น โดยอาจช่วยลูกวางแผนร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร หรือจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นอีก

จะทำอย่างไรให้เด็กๆ กล้าที่จะพูดความจริง

พ่อแม่ ปูย่า คุณครูที่โรงเรียนคงสอนเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว ดังนั้นการบ่มเพาะสอนให้เด็กรู้จักคุณธรรมศีลธรรม การสอนหรือยกตัวอย่างสิ่งที่ดีและไม่ดี มีบาปบุญคุณโทษ ความซื่อสัตย์ เป็นสิ่งที่ดี แต่จะให้ดีขึ้นและเด็กจดจำไว้ประพฤติปฏิบัติให้คุ้นเคยด้วย คือควรให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้จากสิ่งที่ทำ และเมื่อเขาโตขึ้น พฤติกรมมและนิสัยที่ดีจะติดตัวเขาไป รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร แต่อย่าลืมว่าพ่อแม่ผู้ปกครองมีผลกับเด็ก เราจึงมีส่วนให้เกิดนิสัยที่ซื่อสัตย์ต่อความจริงด้วย ในขณะเดียวกันผู้ปกครองควรสื่อสารให้เด็กรับรู้ว่าการโกหกเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ แต่ไม่ต้องตำหนิหรือลงโทษรุนแรงจนลูกรู้สึกกลัวที่จะพูดความจริง

วิธีปราบ ลูกชอบโกหก

  1. พ่อแม่ต้องเปลี่ยนวิธีการพูด ทำให้ลูกไว้ใจ เช่น เมื่อลูกทำจานระบายสีหกเลอะเทอะ พ่อแม่อาจพูดกับลูกว่า “แม่เห็นลูกทำสีหก ลูกไปหาผ้ามาเช็ดพื้นหน่อย พื้นจะได้ไม่เลอะ เดี๋ยวลูกลื่นสีหกล้มนะ” ดีกว่าที่จะต่อว่า “ลูกทำอะไรน่ะ” เพื่อไม่ให้ลูกปฏิเสธ
  2. อย่าตำหนิ ด่า ต่อว่ารุนแรง หรือลงโทษอย่างรุนแรงเมื่อลูกทำผิด ให้คุยกันด้วยเหตุผลอย่างที่กล่าวตั้งแต่ต้น เพราะจะได้ไม่ทำให้เด็กปิดบังความผิด เพราะบางครั้งเด็กอาจจะกลัวที่จะถูกลงโทษ สร้างพฤติกรรมโกหกให้ตัวเอง จะทำให้เด็กกลายเป็นคนชอบโกหกมากขึ้น
  3. ห้ามใจอ่อน อย่าโอ๋หรือเข้าข้างลูกเมื่อลูกผิดหรือลูกโกหก แต่ให้ยกตัวอย่างให้ลูกฟังว่าคนทำดีได้อะไร ให้ลูกมองเห็นผลลัพธ์ของทั้งความดีและไม่ดี คนทำไม่ดีจะไม่มีคนรักและไม่มีใครอยากยุ่งด้วย
  4. ฝึกความรับผิดชอบ ง่ายที่สุด คือ การตรวจเช็คการบ้าน หรืองานของโรงเรียน อาจถามคุณครูว่าลูกมีงานอะไรบ้าง พอกลับถึงบ้านก็ให้ลูกทำให้เสร็จก่อน จากนั้นค่อยให้รางวัลโดยอนุญาตให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่ต้องการ เมื่อลูกได้ทำอย่างที่ต้องการก็จะรู้สึกสบายใจ ถือว่าปลูกฝังความรับผิดชอบไปในตัว และลูกก็ไม่จำเป็นต้องโกหกพ่อแม่ หรือห่วงหน้าพะวงหลัง จะได้ทำกิจกรรมอย่างที่ต้องการแบบสบายใจ ไม่ต้องกังวล
  5. ให้รางวัล พูดชมเชย ให้แรงเสริมเวลาที่ลูกพูดตรงกับความจริง ชมเชยในคุณสมบัติของความซื่อสัตย์ เช่น แม่ชอบที่ลูกพูดความจริง ชอบที่ลูกเป็นคนซื่อสัตย์ ให้ลูกรู้ว่าความซื่อสัตย์เป็นเรื่องสำคัญมาก ลูกจะได้รับการยกย่อง และมีแต่สิ่งดีๆ เข้ามา และอาจขยายผลลัพธ์ของการโกหกให้ลูกฟังอีกว่าการโกหกจะทำลายความเชื่อมั่น ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่ใครจะมาเข้าใจเราอีก จะทำให้ลูกอยากเป็นคนชื่อสัตย์และพูดความจรัง
  6. ข้อนี้ถือว่าสำคัญที่สุด คือ พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่โกหกใครให้ลูกเห็น เพราะอาจจะทำลูกเลียนแบบจนเป็นนิสัย

ท้ายนี้ พ่อแม่อาจต้องสังเกตว่าลูกมีอาการป่วยทางจิตร่วมด้วยหรือไม่ ซึมเศร้าหรือไม่ มีความบกพร่องของสติปัญญาหรือเปล่า หรือมีปัญหาเรื่องภาษา  เนื่องจากเด็กกลุ่มนี้อาจจะพูดโกหกออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ ที่พูดออกมาเพราะสาเหตุจากการป่วย ซึ่งหากสังเกตว่าลูกโกหกบ่อย หรือมีภาวะไม่ปกติที่กล่าวมา ควรพามาพบกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรมเพื่อวางแผนดูแลต่อไป

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?