ปฏิเสธไม่ได้ว่าคำพูดของพ่อแม่เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลกับความคิดและพฤติกรรมของลูกมาก บางครั้งการที่เราเผลอใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมหรือพูดไปโดยที่ไม่ทันคิดให้ดีก่อน อาจสร้างแผลในใจให้กับลูกได้ หรือบางคนก็อาจจะถึงขั้นเสียความมั่นใจในตัวเองไปเลยก็มี ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรระมัดระวังตัวเองให้ดีเวลาที่จะพูดอะไรออกไป ไม่ว่าจะกับเด็กเล็กหรือเด็กโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยที่เริ่มสื่อสารได้และเข้าใจความหมายของคำต่างๆ มากขึ้น เพราะเค้าอาจจะเก็บเอาไปคิดมากจนกลายเป็นปมด้อยโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว
การพูดห้ามเด็กบ่อยๆ จะทำให้เด็กขาดความมั่นใจที่จะทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เพราะกลัวที่จะทำผิดหรือทำแล้วไม่ถูกใจผู้อื่น ทำให้เด็กไม่กล้าคิดและไม่กล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจจะทำให้เขาเสียโอกาสที่จะเรียนรู้ว่าตัวเองมีความสามารถด้านไหน ชอบหรือไม่ชอบทำอะไร และทำอะไรได้ดี แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะพูด 3 คำนี้ไม่ได้เลย คงต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย เพราะถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่อันตรายหรือไม่เหมาะสมก็สามารถพูดได้
ที่สำคัญก็คือ ควรมีการอธิบายให้เด็กเข้าใจถึงเหตุผลว่าสิ่งนี้ทำไม่ได้เพราะอะไร หรือถ้าเป็นสถานการณ์ปกติทั่วไป คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถเปลี่ยนคำพูดจากการห้ามเป็นการบอกสิ่งที่เด็กควรทำให้ชัดเจน เช่น “เดินจับมือแม่ไปด้วยกันนะคะ หนูจะได้ไม่หลง” แทนคำว่า “อย่าวิ่งไปไหนนะ” หรือ “เก็บของใส่กล่องเบาๆ นะคะ” แทนคำว่า “อย่าโยนของแรงๆ สิ” เป็นต้น
การขู่ที่มีเงื่อนไขของการไม่ได้รับความรักหรือการถูกทิ้ง จะทำให้เด็กไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นที่รักของครอบครัวหรือไม่ และทำให้เด็กเกิดความหวาดระแวง กลายเป็นคนขี้กลัว นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้กับเด็กอีกด้วยว่า การได้มาซึ่งความรักจะต้องมีเงื่อนไขเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียความนับถือในตัวเองและผู้อื่นได้
การพูดขู่เด็กโดยไม่มีเหตุผล จะทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวกับสิ่งต่างๆ รอบตัว และทำให้เด็กไม่สามารถใช้ความคิดและเหตุผลในการไตร่ตรองสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง ทำให้เกิดความเปราะบางทางด้านจิตใจ และเมื่อเด็กเผชิญปัญหา เด็กก็จะกลัวและไม่สามารถหาทางแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพูดกับลูกด้วยเหตุผลที่สมจริง หรือสอนในสิ่งที่เขาทำได้และควรทำ ที่สำคัญ ควรชื่นชมและแสดงความภาคภูมิใจ เมื่อลูกๆ สามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง
การที่คุณพ่อคุณแม่ใช้คำพูดในลักษณะนี้ เพราะอยากผลักดันให้ลูกเกิดความพยายามในการทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น หรือเพื่อให้ลูกพัฒนาตัวเองมากขึ้น แต่รู้มั้ยว่าคำพูดเหล่านี้กลับกลายเป็นการทำร้ายจิตใจและทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า ไม่มีความสามารถ ไม่เก่งหรือไม่ดีพอเท่ากับเด็กคนอื่น กลายเป็นเด็กที่ไม่กล้าแสดงออก ขาดความมั่นใจ และอาจทำให้เด็กมีนิสัยขี้อิจฉา สร้างความเกลียดชังให้กับคนที่เด็กโดนเอาไปเปรียบเทียบโดยไม่รู้ตัว ทำให้เด็กลุกขึ้นมาต่อต้าน บางคนก็อาจแสดงออกด้วยความก้าวร้าว รุนแรง และพยายามทำตัวเองให้อยู่ด้านตรงกันข้ามกับที่คุณพ่อคุณแม่ต้องการ
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจก่อนว่าลูกมีข้อดีอย่างไร หรือมีความชอบ ความถนัดด้านไหน จากนั้นก็พยายามส่งเสริม สนับสนุนในสิ่งที่เขาทำ และควรแสดงความชื่นชมเพื่อให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และพัฒนาศักยภาพของตัวเองไปในทางที่ถูกต้อง คุณพ่อคุณอาจจะเล่าว่าเด็กคนอื่นหรือญาติพี่น้องในวัยเดียวกันมีความสามารถหรือมีข้อดีอย่างไร ในขณะเดียวกันก็ต้องบอกให้ลูกมั่นใจว่าตัวเองก็มีส่วนที่ดีหรือส่วนที่สามารถพัฒนาให้ดีขึ้นได้เช่นกัน เพื่อให้เด็กมีความมั่นใจ และเชื่อว่าคนทุกคนสามารถพัฒนาได้ ไม่จำเป็นว่าเราจะต้องเก่งเหมือนใคร แต่เราสามารถเก่งในแบบของเราได้
การใช้คำพูดเชิงบังคับ เคี่ยวเข็ญ ส่งผลคล้ายกับการพูดเปรียบเทียบ นั่นคือ ทำให้เด็กรู้สึกไม่มีคุณค่า ไม่กล้าแสดงออก ทำให้เด็กรู้สึกเครียด และกดดันตัวเองจนทำให้กลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ไม่ไว้ใจผู้อื่น หรือมุ่งสู่ความสำเร็จเพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจคนรอบข้าง และยังทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ราบรื่น เพราะเด็กอาจแสดงความก้าวร้าว รุนแรง ต่อต้านผู้ปกครอง และพยายามทำตัวเองให้อยู่ด้านตรงข้ามกับคุณพ่อคุณแม่
แนะนำว่าลองเปลี่ยนจากการบังคับมาเป็นให้กำลังใจลูกแทนจะดีกว่า เพราะการให้กำลังใจเป็นการแสดงออกถึงความรักและความห่วงใย เด็กเองก็จะรับรู้ได้ถึงความหวังดีที่พ่อแม่มีให้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีความมุ่งมั่นและมั่นใจที่จะทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น และยังเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีขึ้นด้วย
การพูดโดยใช้อารมณ์เวลาที่โมโหหรือขาดสติ อาจทำให้เด็กจดจำและนำไปลอกเลียนแบบได้ เพราะเด็กจะซึมซับและคิดว่าการพูดไม่ดีเป็นสิ่งที่ทำได้ ดังนั้น เวลาที่คุณพ่อคุณแม่โมโห หรืออารมณ์ไม่ดี (ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้) ให้ลองหลับตา หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ พยายามทำจิตใจให้สงบและตั้งสติก่อนแล้วค่อยพูดกับลูก พยายามพูดคุยหรืออธิบายด้วยเหตุผลหากเป็นเรื่องที่ต้องการให้เด็กเข้าใจ แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็เอาตัวเองออกไปจากสถานการณ์ตรงนั้นก่อน ค่อยๆ ใช้เวลาปรับอารมณ์ เมื่อคิดว่าตัวเองพร้อมก็ค่อยกลับมาพูดกับลูก
การสั่งห้ามไม่ให้เด็กร้องไห้ โดยเฉพาะเมื่อผู้ปกครองกำลังมีอารมณ์ด้วยแล้ว จะทำให้เด็กรู้สึกกลัวมากขึ้น และไม่สามารถหยุดร้อง หรือจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ เพราะรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่เข้าใจในสิ่งที่เขากำลังเป็นทุกข์อยู่
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะทำคือ ปล่อยให้เด็กร้องไห้เพื่อระบายความอัดอั้นตันใจก่อน และค่อยๆ บอกลูกให้เข้าใจว่า เวลาที่เราเสียใจ เราสามารถแสดงออกได้ ซึ่งการร้องไห้ก็ถือเป็นการแสดงออกรูปแบบหนึ่ง ถ้าลูกหยุดร้องและสงบแล้ว เราค่อยมาคุยกันว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อให้เด็กรู้ว่าคุณพ่อคุณแม่เป็นห่วง และกำลังช่วยให้เขาเข้าใจและหาวิธีจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง
บางครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่ได้คิดว่าคำบางคำเป็นการล้อเลียนเด็ก เพราะคิดว่าพูดกันเล่นๆ สนุกๆ และมองว่าเด็กยังเล็ก คงไม่เข้าใจอะไรมาก แต่เมื่อเด็กโตขึ้น มีสังคมที่กว้างขึ้น คำพูดเหล่านั้นจะทำให้เด็กรู้สึกอาย ไม่มั่นใจในตัวเอง เพราะหวาดกลัวที่จะโดนล้อเลียนจากครอบครัวและผู้อื่น ทำให้เด็กไม่ชอบในสิ่งที่ตัวเองเป็น จนอาจกลายเป็นปมในใจของเด็กได้
คุณพ่อคุณแม่จึงควรพยายามพูดให้เด็กเห็นข้อดีของตัวเอง ภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมีหรือเป็น ชี้ให้เห็นว่าแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปลักษณ์ภายนอกเสมอไป
การพูดเช่นนี้เป็นการสร้างนิสัยเอาแต่ใจและไม่ยอมคนให้กับเด็ก เป็นการตามใจลูกในทางที่ผิด (หรือที่เรียกว่าพ่อแม่รังแกฉัน) เพราะทำให้เด็กไม่รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี และเมื่อโตขึ้น เด็กก็จะรับไม่ได้เมื่อถูกต่อว่าหรือตำหนิ
ดังนั้น ถ้าพบว่าลูกทำผิดจริง อันดับแรกเลยคุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้เด็กรู้จักขอโทษและยอมรับผิด (ห้ามออกรับแทนลูกเด็ดขาด) และชี้ให้เห็นว่าอะไรถูกหรือผิด อะไรควรทำหรือไม่ควรทำ เพราะอะไร และถ้าทำผิดแล้ว จะมีผลอย่างไรตามมา เพื่อให้เด็กเข้าใจและปรับปรุงตัวเอง
นอกจากจะสอนด้วยคำพูดแล้ว คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกๆ ด้วย เพราะบางอย่างก็ได้ผลมากกว่าการใช้คำพูดเพียงอย่างเดียว เช่น ถ้าเราไม่อยากให้เขาเล่นโทรศัพท์ ตัวเราเองก็ต้องพยายามอยู่ให้ห่างจากโทรศัพท์ หรือถ้าไม่อยากให้ลูกพูดจาหยาบคาย ตัวเราเองและคนใกล้ชิดก็ต้องไม่พูดเช่นกัน ที่สำคัญ ตั้งสติทุกครั้งก่อนที่จะพูดอะไรกับลูก เพราะทุกคำพูดของพ่อแม่มีผลกับจิตใจของลูก
ขอขอบคุณ คุณชลธิดา ศรภักดี นักจิตวิทยาพัฒนาการ โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ศรีนครินทร์ ในการร่วมเขียนบทความครั้งนี้
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่