ปัญหาหนึ่งของสูงอายุคือการสูญเสียการได้ยิน ซึ่งเกิดจากประสาทหูชั้นในค่อยๆ เสื่อมไปตามอายุที่เพิ่มขึ้น แม้อาการหูตึงในผู้สูงวัยจะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากเท่ากับโรคร้ายแรงอื่นๆ แต่ก็กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก และอาจเกิดปัญหาการสื่อสารระหว่างผู้ดูแลและผู้สูงอายุ ส่งผลให้ผู้สูงอายุเข้าใจผิดเรื่องการรับประทานยาหรือการดูแลตัวเองจนส่งผลเสียต่อโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ หรือผู้สูงอายุอาจปลีกตัวออกจากสังคมเนื่องจากขาดความมั่นใจ จนเกิดภาวะเครียดและซึมเศร้าในที่สุด
เกิดจากเส้นประสาทหูและเซลล์ขนในหูชั้นในเสื่อมลงตามอายุ โดยเซลล์ขนส่วนฐานของคอเคลีย (cochlea) จะเริ่มเสื่อมก่อน ส่งผลให้เมื่ออายุมากขึ้นจะไม่ได้ยินช่วงเสียงแหลมความถี่สูง จากนั้นความเสื่อมจะค่อยๆ ลามไปถึงช่วงความถี่กลางซึ่งเป็นระดับของเสียงพูด จึงทำให้ผู้สูงอายุเริ่มฟังไม่ชัดเจน โดยเริ่มแสดงอาการเมื่ออายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้โรคเรื้อรังและการรับประทานยาบางชนิดอาจเป็นปัจจัยให้ประสาทหูเสื่อมเร็วขึ้น เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เป็นต้น ในบางกรณีหากปล่อยทิ้งไว้ภาวะหูตึงอาจเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นหูตึงขั้นรุนแรง
หูตึง คือภาวะที่ความสามารถในการได้ยินลดลง ซึ่งมีระดับความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยิน ดังนี้
เสียงที่ได้ยิน | ระดับความรุนแรง |
ได้ยินเสียงพูดคุยในระดับ 0-25 เดซิเบล | ปกติ |
ไม่สามารถได้ยินเสียงกระซิบ มีระดับการได้ยินที่ 26- 40 เดซิเบล | หูตึงน้อย |
ไม่ได้ยินเสียงพูดในระดับปกติ ระดับเสียงเพิ่มเป็น 41-55 เดซิเบล | หูตึงปานกลาง |
ไม่ได้ยินแม้คนที่พยายามพูดเสียงดัง ต้องใช้เสียงดังระดับ 56-70 เดซิเบล | หูตึงมาก |
เมื่อตะโกนก็ยังไม่ได้ยิน ด้วยระดับเสียง 71-90 เดซิเบล | หูตึงขั้นรุนแรง |
หากต้องใช้เสียงดังมากกว่า 91 เดซิเบลขึ้นไป | หูหนวก |
เนื่องจากปัจจุบันไม่มียารักษาภาวะเสื่อมตามวัยของระบบประสาทหู ดังนั้นในกรณีที่อาการหูตึงในผู้สูงวัยมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์อาจพิจารณาให้ใส่เครื่องช่วยฟัง (hearing aids) ซึ่งช่วยทำหน้าที่เสมือนเครื่องขยายเสียงให้ดังขึ้น โดยใส่ไว้ในช่องหู สามารถถอดเก็บได้ ในกรณีหูตึงขั้นรุนแรงหรือหูหนวก แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาโดยการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม (Cochlear implant) ในกระดูกก้นหอยที่อยู่ในบริเวณหูชั้นใน
หากเพิ่งเริ่มมีอาการหูตึงจากประสาทหูเสื่อมตามวัย ผู้สูงอายุควรระวังและดูแลไม่ให้ประสาทหูเสื่อมมากขึ้น ด้วยการพบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อตรวจเช็คระดับการได้ยิน นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงเสียงดัง และพยายามควบคุมโรคเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยง รวมถึงไม่ควรซื้อยาหยอดหูมาใช้เองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอและทำจิตใจให้แจ่มใส
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่