สมองแต่ละข้างของคนเราทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของร่างกายด้านตรงข้ามตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้า โดยมีหลอดเลือดมาเลี้ยงแยกกันทั้งสองฝั่ง ดังนั้นหากเกิดเส้นเลือดสมองตีบหรือแตกข้างใดข้างหนึ่งก็จะแสดงอาการผิดปกติของ ร่างกายในซีกฝั่งตรงข้าม และมักเป็นทั้งซีก
1. ใครมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเส้นเลือดสมอง
บุคคลทุกคนมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปี และมีปัจจัยเสี่ยงมากขึ้น หากสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อ้วน ขาดการออกกำลังกาย เป็นโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดส่วนปลาย และหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมถึงผู้มีประวัติโรคหลอดเลือดสมองในครอบครัว
ทั้งนี้ผู้มีปัจจัยเสี่ยงอาจไม่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง และผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองก็อาจมีเพียงปัจจัยเสี่ยงเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นบุคคลทั่วไปควรตรวจเช็คร่างกายประจำปี หากพบความปกติ ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการดูแลอย่างถูกต้อง จะช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
2. อาการเส้นเลือดสมองแตก
อาการที่พบมักเกิดขึ้นแบบฉับพลัน ได้แก่ แขนขาอ่อนแรงหรือชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด การมองเห็นผิดปกติ เห็นภาพซ้อน มองไม่เห็นครึ่งซีก หรือมองไม่เห็นเลย เวียนศีรษะ โคลงเคลง ทรงตัวไม่ได้ ปวดศีรษะรุนแรงต่างจากที่เคยปวดเป็นประจำ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที
3. ความดันโลหิตสูง ปัจจัยเสี่ยงเส้นเลือดในสมองแตก แต่ควบคุมได้
ผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองทั้งตีบและแตก มากกว่าคนปกติ 2-5 เท่า ทั้งนี้หากสามารถคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้จะสามารถลดความเสี่ยงลงประมาณ 30 – 40% โดยการควบคุมอาหารโดยเฉพาะอาหารมันและเค็ม การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงรับประทานยาลดความดัน และพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด
4. ผู้สูงอายุหกล้ม ทำให้เส้นเลือดสมองแตกใช่หรือไม่
อุบัติเหตุล้ม ศีรษะกระแทกพื้น หากมีความรุนแรงมาก อาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดเลือดออกในกะโหลกศีรษะและมักพบกะโหลกศีรษะแตกร่วมด้วย แต่การหกล้มไม่ใช่สาเหตุของภาวะเส้นเลือดสมองแตก หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต ในทางกลับกัน โรคเส้นเลือดสมองแตกมักเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยหกล้ม
5. โรคเส้นเลือดสมอง ทำให้เป็นอัมพาตทุกรายจริงหรือ
โรคเส้นเลือดสมอง ในบางคนอาจมีอาการเพียงชั่วคราวแล้วหายไปภายในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง เรียกว่าภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack -TIA) ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก หลายๆ รายสามารถกลับมาเป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติได้ หลังการรักษาด้วยยาและกายภาพบำบัด โดยเฉพาะ 3-6 เดือน แรกหลังเกิดอาการ ขึ้นกับความรุนแรงของพยาธิสภาพในสมอง สภาวะร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยแต่ละคน
6. การประเมินความเสี่ยงของโรคเส้นเลือดสมอง
80 % ของโรคหลอดเลือดสมอง ตีบ แตก ตัน สามารถป้องกันได้ * ลดความเสี่ยงโดยการตรวจ Stroke Screening นอกจากปัจจัยเสี่ยงอันเป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดสมองแล้ว การประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง สามารถทำได้โดยการตรวจหลอดเลือดด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Angiography) การตรวจหลอดเลือดแดงสมองด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Transcranial Doppler Ultrasound) การตรวจหลอดเลือดแดงบริเวณคอด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Carotid Duplex Ultrasounds) และตรวจหัวใจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography)
7. ถึงโรงพยาบาลเร็ว โอกาสหายสูง
การศึกษาพบว่าหากผู้ป่วยถึงโรงพยาบาล และสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือด (Recombinant tissue plasminogen activator หรือ actilyse) ภายใน 4 ชั่วโมง 30 นาที หลังเกิดอาการ ผู้ป่วยจะดีขึ้นมากกว่าผู้ไม่ได้รับยาประมาณ 30% โดยจะดีขึ้นใกล้เคียงปกติหรือเหลือความพิการเพียงเล็กน้อย
8. โรคเส้นเลือดสมอง ต้องอยู่โรงพยาบาลนานแค่ไหน
ระยะเวลาการรักษาตัวในโรงพยาบาลขึ้นกับความรุนแรงของโรค ถ้าความรุนแรงน้อย เช่น พูดไม่ชัด แขนขาอ่อนแรงเล็กน้อย ใช้เวลาอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 3-7 วัน หากมีความรุนแรงมาก เช่น ซึม ขยับแขนขาไม่ได้ นอนติดเตียง ต้องนอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 7 วัน แต่ผู้ป่วยที่มีอาการมากมักมีผลแทรกซ้อนระหว่างนอนโรงพยาบาล เช่น ติดเชื้อในปอดและทางเดินปัสสาวะ รวมถึงมีแผลกดทับ และลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดำที่ขา ซึ่งมีความจำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น
9. การฟื้นฟูผู้ป่วยก่อนกลับบ้าน
บ่อยครั้งที่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีปัญหาการช่วยเหลือตนเอง โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาอ่อนแรงครึ่งซีก ทำให้หยิบจับสิ่งของและเคลื่อนไหวลำบาก โดยทั่วไปผู้ป่วยที่มีอาการมากจะได้รับการกายภาพบำบัดตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาล ฝึกให้ช่วยเหลือตนเองเบื้องต้น ร่วมกับใช้อุปกรณ์เสริม สำหรับการเดิน เช่น อุปกรณ์เสริมเพิ่มความแข็งแรงของขา ไม้ค้ำยัน ไม้เท้าในลักษณะต่างๆ ก่อน
ผู้ป่วยจะออกจากโรงพยาบาล แพทย์และทีมนักกายภาพบำบัดจะมาประเมินความพร้อมและสอนวิธีการกายภาพบำบัด ด้วยตนเองที่บ้านให้กับผู้ดูแลและผู้ป่วย ไม่เพียงแต่เพื่อการฟื้นตัว แต่ยังจะช่วยลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นได้ที่บ้าน
10. การดูแลผู้ป่วยหลังการรักษา
นอกจากการฟื้นฟูที่มีประสิทธิภาพจากโรงพยาบาลแล้ว ผู้ดูแลผู้ป่วยที่บ้านจำเป็นต้องให้ความร่วมมือ หมั่นให้กำลังใจผู้ป่วย ควบคุมความเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดสมอง ดูแลเรื่องการรับประทานยา และอาหารที่มีประโยชน์ ที่สำคัญคือการดูแลให้ผู้ป่วยทำกายภาพเองที่บ้านอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ
*ข้อมูลอ้างอิงจาก http://www.stroke.org/understand-stroke/what-stroke/stroke-facts
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่