พฤติกรรมเสี่ยงติด COVID-19 ระลอก 2

พฤติกรรมเสี่ยงติด COVID-19 ระลอก 2

HIGHLIGHTS:

  • เมื่อต้องไปศูนย์การค้า ให้จดรายการที่ต้องซื้อล่วงหน้า หลีกเลี่ยงการลองเสื้อผ้า แว่น หรือเครื่องสำอาง งดพบปะสังสรรค์ตามศูนย์การค้า  ชำระเงินแบบไร้สัมผัส
  • องค์การอนามัยโลกแนะนำให้รับประทานอาหารที่สดและไม่ผ่านการแปรรูป เพื่อรับวิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร โปรตีนและสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายต้องการในช่วงการระบาดของ COVID-19

ถึงแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในประเทศไทยขณะนี้ เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และมีหลายมาตรการที่เริ่มผ่อนผัน   เพื่อให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนเดิม  แต่เราก็ยังคงต้องเข้มงวดกับการปฏิบัติตัว เพื่อไม่ให้ติดเชื้อ   โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรค COVID-19 ได้ง่าย  ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว  เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง  ภูมิคุ้มกันผิดปกติ หรือกินยากดภูมิต้านทานโรคอยู่ ผู้ที่มีภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกาย ≥ 35 กก./ตรม.) และผู้ที่ทำอาชีพที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว  ต้องติดต่อคนจำนวนมาก หรือผู้ที่ไปในสถานที่แออัด

พฤติกรรมเสี่ยงติดและแพร่เชื้อของโรค COVID-19

มีดังต่อไปนี้

  1. ชอบขยี้ตา แคะจมูก สัมผัสใบหน้า
  2. กลับถึงบ้านแล้วไม่อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
  3. ไม่ล้างมือ หลังสัมผัสสิ่งของต่างๆ
  4. ไม่พกหน้ากากอนามัย และ เจลล้างมือ
  5. อยู่ใกล้กัน ไม่เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1-2 เมตร
  6. สัมผัสใกล้ชิดกับคนรักและคนในครอบครัว
  7. ป่วยแล้วไม่กักตัวเองอยู่บ้าน
  8. ใช้ของส่วนตัวร่วมกัน ทานอาหารจานเดียวกัน
  9. ทานอาหารปรุงไม่สุก หรือทิ้งไว้นานแล้ว
  10. ปาร์ตี้สังสรรค์กับเพื่อน

แนวทางการดูแลตนเอง เพื่อไม่ให้ติดโรค COVID-19

ถึงแม้สถานการณ์จะดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เราทุกคนก็ควรลดการทำพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เพราะอาจจะทำให้โรคกลับมาระบาดรุนแรงอีกระลอกหนึ่งได้  และควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

1. ล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยน้ำและสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก

2. สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกจากบ้าน

3. หลีกเลี่ยงการไปในที่สาธารณะโดยไม่จำเป็น หากเลี่ยงไม่ได้ เมื่อไปในสถานที่ต่างๆ ควรปฏิบัติดังนี้

  • ร้านอาหาร
    • เลือกร้านที่จัดโต๊ะแบบรักษาระยะห่าง และมีพื้นที่ระบายอากาศ ผู้ขายใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา
    • จองคิวล่วงหน้า หลีกเลี่ยงช่วงเวลาที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก
    • เลือกทานอาหารที่ร้อนหรือปรุงสุกใหม่ๆ
    • แยกสำรับอาหาร ไม่ใช้ภาชนะ ช้อนส้อมร่วมกับผู้อื่น
  • ร้านทำผม ร้านทำเล็บ หรือร้านเสริมสวย
    • เลือกร้านที่มีการทำความสะอาดที่นั่ง รวมถึงอุปกรณ์ทุกครั้งหลังใช้งานอย่างได้มาตรฐาน
    • เลือกร้านที่พนักงานใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือ สวมถุงมือก่อนสัมผัสลูกค้า
    • จองคิวล่วงหน้า
    • ผู้รับบริการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่รับบริการ และจำกัดการพูดคุยกับพนักงาน
  • ศูนย์การค้า
    • จดรายการที่ต้องซื้อล่วงหน้า
    • งดพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงตามศูนย์การค้า
    • หลีกเลี่ยงการลองเสื้อผ้า แว่น หรือเครื่องสำอาง
    • ชำระเงินแบบไร้สัมผัส
  • ขนส่งสาธารณะ
    • รักษาระยะห่างจากผู้อื่นอย่างน้อย 1 เมตร
    • หลีกเลี่ยงการโดยสารลิฟต์โดยไม่จำเป็น
    • ไม่ควรเดินทางหากรู้สึกไม่สบาย หรือมีอาการป่วย
  • สวนสาธารณะ
    • ควรเว้นระยะห่างกับผู้อื่นไม่น้อยกว่า 2 เมตร
    • ขณะเดินหรือวิ่ง ให้มีระยะเยื้องกัน
    • ล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์หลังเสร็จกิจกรรม
    • ไม่รวมกลุ่มพูดคุยกับผู้อื่น หรือสัมผัสสิ่งของ

4. เพิ่มภูมิต้านทานให้กับตัวเอง หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

5. ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์

6. เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ องค์การอนามัยโลกได้คำแนะนำด้านโภชนาการสำหรับผู้ใหญ่ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ไว้ว่า ควรรับประทานอาหารที่สดและไม่ผ่านการแปรรูป   เพื่อรับวิตามิน เกลือแร่ ใยอาหาร โปรตีนและสารต้านอนุมูลอิสระที่ร่างกายต้องการ ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงน้ำตาล ไขมัน และเกลือเพื่อลดความเสี่ยงของการมีน้ำหนักเกิน โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และมะเร็งบางชนิด สุขภาพจะดีขึ้นด้วยระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงขึ้นและลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยเรื้อรังและโรคติดเชื้อ

7. สังเกตอาการตนเอง หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก หรือเหนื่อยหอบ  ควรปรึกษาแพทย์

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?