โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis Vulgaris)

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis Vulgaris)

คิดว่าหลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินชื่อโรคสะเก็ดเงินกันมาบ้างไม่มากก็น้อย แม้ชื่อของโรคจะฟังคุ้น ๆ หู แต่ต้องยอมรับว่าโรคนี้มักไม่ได้รับความสนใจและให้ความสำคัญมากนัก รวมทั้งคนส่วนใหญ่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ แต่ถ้าใครที่ประสบปัญหาเป็นโรคนี้อยู่หรือมีคนใกล้ชิดที่เป็น ก็จะไม่คิดเช่นนั้นแน่นอน เพราะโรคนี้ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อผู้ป่วยและคนรอบข้างเป็นอย่างมาก

ทำความรู้จักกับโรคสะเก็ดเงิน

โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis vulgaris) เป็นโรคผิวหนังที่มีการอักเสบเรื้อรัง เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ผิวหนังเร็วขึ้นกว่าปกติ ทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบ โดยผู้ป่วยมักมีผื่นเป็นปื้นแดง มีขุยสีขาวหนากระจายตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ตามข้อเข่า ข้อศอก หลัง ก้นกบ และมักมีผื่นขุยบนหนังศีรษะร่วมด้วย

อาการและความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงินเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีอาการแสดงของโรคแตกต่างกัน ทั้งอวัยวะที่เป็น ขนาด ปริมาณและการกระจายตัวของผื่น ซึ่งอาการและความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงินจะแสดงออกได้หลายระบบดังนี้

อาการทางผิวหนัง ผื่นมักมีได้หลายรูปแบบ ที่พบบ่อยคือ ผื่นปื้นนูนแดง ขอบเขตชัดเจน มีขุยหรือสะเก็ดสีขาวเงิน ซึ่งเมื่อแกะสะเก็ดออกจะพบจุดเลือดออกเล็ก ๆ บนผื่น บางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วยได้ ผื่นเป็นได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย พบบ่อยที่ข้อศอก เข่า ก้นกบ หนังศีรษะ ลำตัว แขน ขา ผื่นมักจะเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นแบบเรื้อรัง

นอกจากนี้ยังพบผื่นลักษณะอื่นได้อีก เช่น

  • ตุ่มแดงขนาดเล็กกระจายตามตัว
  • ผื่นแดงตุ่มหนองกระจายทั่วตัว มักเป็นเฉียบพลันและมีไข้ มีอาการปวดเมื่อยตามตัวร่วมด้วย
  • ผื่นแดงมีขุยลอกทั่วตัว
  • ตุ่มหนองตามนิ้ว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า

เมื่อผื่นหายแล้วมักไม่มีแผลเป็นหลงเหลืออยู่ แต่มักจะพบว่ามีรอยดำบริเวณที่เคยเป็นผื่นมาก่อนได้

อาการของเล็บมือ เล็บเท้า พบลักษณะผิดปกติได้ตั้งแต่เป็นหลุมเล็ก ๆ ที่ผิวของเล็บ เล็บหนาขึ้นมีขุย เล็บล่อนจากพื้นเล็บ จนถึงเล็บผิดรูปขรุขระทั้งเล็บ

อาการของข้อและเส้นเอ็น พบได้ประมาณ 10 – 25 % ของคนไข้ที่เป็นสะเก็ดเงิน อาการทางข้อมักจะเป็นตามหลังอาการทางผิวหนัง พบได้ทั้งที่เป็นข้อใหญ่ และข้อเล็ก อาจเป็นข้อเดียวหรือหลายข้อก็ได้ อาการทางข้อนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าจะเหมือนกับโรคเก๊าท์อันเป็นโรคข้ออักเสบหรือไม่ ตรงนี้หมอตอบได้เลยว่าไม่เหมือนโรคเก๊าท์จะเริ่มมีอาการตามข้อใหญ่ ๆ อย่างเข่า หรือศอก แต่อาการทางข้อของโรคสะเก็ดเงินส่วนใหญ่การอักเสบจะเกิดที่ข้อนิ้วมือ หรือนิ้วเท้า คือเริ่มมีอาการที่ข้อเล็กก่อน แล้วค่อยส่งผลไปที่ข้อใหญ่ ซึ่งหากเป็นเรื้อรังจะให้เกิดการผิดรูปได้

โรคสะเก็ดเงินติดต่อกันได้หรือไม่

โรคสะเก็ดเงินไม่ติดต่อ เนื่องจากไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อรา ดังนั้นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย จึงไม่ต้องกังวลที่จะติดโรคนี้

โรคสะเก็ดเงินเกิดขึ้นจากสาเหตุใด

ปัจจุบันยังไม่สามารถสรุปสาเหตุของโรคสะเก็ดเงินได้ชัดเจน แต่เชื่อว่ามีหลายปัจจัยประกอบกันในการเกิดโรค คือ

  1. ปัจจัยทางพันธุกรรม เป็นปัจจัยหลัก พบว่าผู้ป่วยสะเก็ดเงิน 1 ใน 3 จะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงิน
  2. ปัจจัยทางภูมิคุ้มกัน เกิดจากการตอบสนองทางภูมิต้านทานผิดปกติ โดยมีปัจจัยกระตุ้นทำให้เกิดอาการอักเสบขึ้น
  3. ปัจจัยกระตุ้นโรค ได้แก่
  • ภาวะความเจ็บป่วยภายในร่างกาย และการติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส
  • สภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยมีอิทธิพลต่ออาการของโรค พบว่าผู้ป่วยที่เครียด หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ผื่นจะกำเริบแดงและคันมากขึ้นได้
  • การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยารักษามาลาเรีย ยาสมุนไพรบางชนิด
  • การได้รับการบาดเจ็บที่ผิวหนัง เช่น การแกะเกา ถูไถ เสียดสีบนผิวหนังที่รุนแรง ผิวไหม้แดด หรือแมลงสัตว์กัดต่อย
  • การดื่มเหล้า สูบบุหรี่

แต่ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าผู้ป่วยแต่ละรายจะมีความไวต่อปัจจัยกระตุ้นโรคแตกต่างกัน บางคนอาจจะปฏิบัติแบบนี้แล้วเกิดโรค บางคนอาจจะทำเหมือนกันแต่ไม่เกิดโรคก็ได้ ดังนั้น หมอก็ต้องขอเตือนว่าใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรหมั่นสังเกตว่ามีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้โรคเห่อ ก็ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นทั้งหมด ซึ่งจะช่วยให้อาการของโรคดีขึ้นได้

กลุ่มเสี่ยงเป็นใครบ้าง

โรคสะเก็ดเงินนี้พบในคนทุกเชื้อชาติ ทุกอายุ แต่ส่วนใหญ่มักจะเริ่มมีอาการที่ช่วงอายุประมาณ 15 – 30 ปี ผู้ชายและผู้หญิงเป็นได้พอ ๆ กัน ปัจจุบัน ทั่วโลกพบผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ประมาณ 0.1-3% ของประชากรทั้งหมด มักพบความเสี่ยงสูงขึ้นในคนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคสะเก็ดเงิน โดยถ้ามีทั้งบิดาและมารดาเป็นโรคสะเก็ดเงินจะมีความเสี่ยงของโรคประมาณ 41 % แต่ถ้ามีบิดาหรือมารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นโรคสะเก็ดเงินจะมีความเสี่ยงของโรคประมาณ 14% และถ้ามีประวัติว่ามีญาติเป็นโรคสะเก็ดเงินจะมีความเสี่ยงของโรคประมาณ 6 %

เด็กสามารถเป็นโรคสะเก็ดเงินได้ไหม

โรคสะเก็ดเงินเป็นในเด็กได้แต่พบน้อยกว่าผู้ใหญ่มาก ทั้งนี้เพราะปัจจัยกระตุ้นให้โรคปรากฏในเด็กมีไม่มากนั่นเอง

อันตรายของโรค

อันตรายของโรคสะเก็ดเงิน ที่พบคือโรคสะเก็ดเงินสามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มของโรคกลุ่มเมตาโบลิกเพิ่มขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง และ ภาวะไขมันในเลือดสูง ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดอุดตันตามมาได้อีก

การรักษาโรคสะเก็ดเงินทำได้อย่างไรบ้าง

เป้าหมายหลักของการรักษาโรคสะเก็ดเงิน คือ ควบคุมโรคให้สงบ โดยให้มีผลข้างเคียงจากการรักษาน้อยที่สุด การรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งในแง่ของความรุนแรง การดำเนินของโรค ปัจจัยกระตุ้นโรค สภาวะจิตใจของผู้ป่วย อาชีพ อายุ เพศ

การรักษาด้วยยาทา โดยให้คนไข้ทายาที่มีสารให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนัง การทายากลุ่มสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบที่ผิวหนัง นอกจากนี้ก็มียาอื่นที่ใช้ทาสลับกันเพื่อลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน เช่น ยาทากลุ่มน้ำมันดิน ยาทากลุ่มวิตามินดี ยาทาอื่น ๆ เช่น Salicylic acid

การรักษาด้วยการฉายแสง (Phototherapy) และเลเซอร์ อาจใช้เป็นการรักษาเดี่ยวหรือแบบผสมผสานก็ได้ โดยการฉายแสงที่นิยมมีหลายชนิด เช่น UVB, UBA ร่วมกับยาโซราเลน ส่วนเลเซอร์ที่ใช้คือ Excimer laser

การรักษาด้วยยารับประทานและยาฉีด วิธีการรักษานี้จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการค่อนข้างรุนแรงถึงรุนแรงมาก หรือมีผื่นขึ้นเยอะมากกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ผิวทั้งหมด แพทย์จะเลือกใช้วิธีการรักษาแบบนี้ อาจจะให้ยารับประทานอย่างเดียวหรือใช้การฉีดยาร่วมด้วย สำหรับยาที่ใช้ฉีด เป็นยากลุ่มชีวโมเลกุลที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ เพื่อรักษาอาการของ โรคสะเก็ดเงิน โดยตรง มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกัน ยาฉีดชนิดใหม่นี้ก็จะมีจุดเด่นตรงที่ว่าได้ผลดีและเห็นผลรวดเร็ว มีผลข้างเคียงจากยาค่อนข้างน้อย แต่ค่าใช้จ่ายค่อยข้างสูง และไม่สามารถใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรค ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี และวัณโรค

สุดท้ายคุณหมอฝากถึงผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินทุกคนว่าควรดูแลตัวเอง ออกกำลังกาย โดยการควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีกรดยูริกสูง ไขมันสูง ของทอด หลีกเลี่ยงจากความเครียด การอดนอน งดสูบบุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากกระตุ้นให้โรคกำเริบได้ หากรับประทานยาหรือฉีดยาที่มีฤทธิ์กดภูมิคุ้มกันอยู่ ควรใช้ยาตามตำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด และเมื่อเจ็บป่วย ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เนื่องจากยาบางชนิดมีปฏิกิริยาต่อกัน ควรให้ผื่นสะเก็ดเงินโดนแดดบ้าง โดยเฉพาะแดดอ่อน ๆ ช่วงเช้า อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 – 3 ครั้ง ไม่แกะ ไม่เกาบริเวณผื่น ทาครีมบำรุงผิวเป็นประจำ เพื่อลดอาการผิวแห้ง ใช้สบู่อ่อน ๆ เพื่อลดการระคายเคืองผิว

ส่วนผู้คนรอบข้างผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ควรศึกษาและทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้ดี โรคสะเก็ดเงิน ไม่ใช่โรคติดต่อ หากผู้ป่วยและคนรอบข้างมีความรู้และความเข้าใจ รวมถึงการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องจะสามารถควบคุมโรคได้ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?