คุณผู้อ่านทุกท่านเคยมีอาการหรือพบคนที่มีอาการแบบนี้บ้างไหม? ใจสั่น หน้ามืด เจ็บหน้าอก อ่อนเพลียแล้วก็เป็นลมหมดสติ ถ้าคุณมีอาการเหล่านี้หรือพบเห็นคนที่มีอาการเหล่านี้ก็ตาม ให้คุณพึ่งระวังไว้เลยว่า คุณหรือคนที่คุณพบเจอกำลังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะก็เป็นได้ โรคนี้มีที่มาอย่างไรและสามารถป้องกันได้หรือไม่ วันนี้เราจะมาหาคำตอบกัน ซึ่งวันนี้เราได้รับเกียรติจากแพทย์หญิงอรพิน ชวาลย์กุล อายุรแพทย์โรคหัวใจและผู้เชี่ยวชาญด้านทางเดินไฟฟ้าหัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท เป็นผู้กรุณามาให้ความรู้แก่เรา จะมีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจบ้างมาติดตามกันเลย
โดยปกติหัวใจเราจะเต้นประมาณ 60 – 100 ครั้ง / นาที แต่ถ้าหัวใจเต้นผิดไปจากนี้คือไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ โดยอาจเต้นเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป หรือบางครั้งอาจเต้นแล้วเว้นจังหวะ ลักษณะแบบนี้ถือว่าผิดปกติ เราจึงเรียกว่ามีอาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ นั่นเอง
ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะมีอาการวิงเวียนหน้ามืด ใจสั่น หายใจขัด เจ็บแน่นบริเวณหน้าอกและเป็นลมหมดสติ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะมักไม่ทราบว่าตนเองมีปัญหา ซึ่งจะมาพบว่าตนเองเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่ก็เพราะมาตรวจสุขภาพประจำปีหรือมาด้วยโรคอื่นก่อน
สาเหตุที่ทำให้หัวใจเต้นผิดปกติมีความแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคนี้ มีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ปัจจัยภายนอกก็ได้แก่ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต การดื่มเหล้าสูบบุหรี่ สภาพแวดล้อม สภาพอากาศที่ร้อนจัด ความเครียด การทำงานหนักแล้วพักผ่อนไม่เพียงพอ ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิด โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้ทั้งหมด ส่วนปัจจัยภายในก็ได้แก่ เรื่องของอายุ เมื่ออายุมากขึ้นร่างกายก็เสื่อมลง โรคประจำตัวที่เป็นอย่างเช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ ความดันโลหิตสูง การสูญเสียเกลือแร่มากเกินไป ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เหล่านี้เป็นต้น ทั้งหมดนี้ก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เป็นโรคนี้ได้
เมื่อผู้ป่วยมาพบหมอก็จะเริ่มจากการซักประวัติ จากนั้นหมอก็จะเริ่มทำการตรวจร่างกาย ซึ่งในบางกรณีถ้าผู้ป่วยมีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่ในขณะนั้น หมอก็จะสามารถรู้ได้เลยทันที แต่ในบางรายอาจไม่มีอาการขณะที่หมอตรวจ หมอก็จะมีการส่งตรวจเพิ่มเติมด้วยการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ซึ่งในบางรายตรวจถึงขนาดนี้ก็ยังไม่พบโรคที่ชัดเจน เราก็จะทำการตรวจที่ละเอียดขึ้นไปอีกโดยใช้การติดเครื่องบันทึกคลื่นหัวใจไว้ที่ตัวผู้ป่วยเป็นเวลา 24 ชั่วโมง(Holter monitor) เพื่อดูความผิดปกติของกราฟหัวใจอย่างละเอียดมากขึ้น เครื่องนี้คนไข้สามารถใส่แล้วนำกลับบ้านได้ event / loop recorder หรืออาจจะใช้วิธีการตรวจแบบใหม่ที่เรียกว่า EP Study (Electrophysiology Study) ซึ่งเป็นการวินิจฉัยหาความผิดปกติของระบบไฟฟ้าหัวใจ ซึ่งการวินิจฉัยวิธีนี้จะช่วยหาตำแหน่งของการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่แม่นยำมากขึ้น ทำให้หมอสามารถกำหนดแนวทางการรักษาได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมด้วย
การรักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุ อาการ และความรุนแรงของโรคเป็นอย่างไร โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดอาจไม่ต้องทำการรักษา แต่ในชนิดที่ต้องทำการรักษาก็จะมีทางเลือกในการรักษาหลายวิธี ซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น การใช้ยา การใช้ไฟฟ้ากระตุกเพื่อปรับการเต้นของหัวใจ การใช้สายสวนเพื่อจี้วงจรนำไฟฟ้าที่ผิดปกติ การฝังเครื่องกระตุ้นกระตุกหัวใจ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งวิธีหลังสุดนี่คือการฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจแบบถาวรก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจเป็นการฝังเครื่องมือเล็กๆ ไว้ใต้ผิวหนังบริเวณใต้กระดูกไหปลาร้า เพื่อตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจ และสอดสายนำไฟฟ้าไปยังหัวใจเพื่อควบคุมและกระตุ้นให้หัวใจเต้นตามอัตราที่กำหนด ซึ่งวิธีนี้จัดเป็นรูปแบบหนึ่งของการผ่าตัดแบบ MIS (Minimal Invasive surgery) เหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่ต้องห่วงเรื่องแผลและความเจ็บปวด เพราะเจ็บน้อยและสามารถฟื้นตัวได้เร็ว
สุดท้ายนี้เราก็ต้องขอขอบพระคุณในความกรุณาของ แพทย์หญิงอรพิน ชวาลย์กุล อีกครั้งที่ได้กรุณาสละเวลามาให้ความรู้กับเรา คุณหมอยังฝากสิ่งดีทิ้งท้ายว่า “สิ่งที่ดีที่สุดไม่ใช่การรักษาโรค แต่ควรเป็นการป้องกันการเกิดโรค แม้แต่โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทางที่ดีเราควรดูแลตนเองไม่ให้เสี่ยงต่อโรคจะดีกว่า หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด การสูบบุหรี่ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อความมั่นใจว่าเราห่างไกลโรค ตรงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าการรักษาโรคแน่นอน”
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่