อัลไซเมอร์ รู้ทัน ป้องกันได้เร็ว

อัลไซเมอร์ รู้ทัน ป้องกันได้เร็ว

Highlights:

  • ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หลังจากอายุ 65 ปี ความเสี่ยงอัลไซเมอร์จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุกๆ 5 ปี หลังจากอายุ 85 ปี ความเสี่ยงจะสูงถึงเกือบหนึ่งในสาม แม้อายุจะเป็นปัจจัยเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นอัลไซเมอร์เมื่ออายุมากขึ้น  
  • ปัจจุบันพบผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในช่วงอายุน้อย หรือโรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็ว (early-onset Alzheimer’s) ในช่วงอายุ  30-65 ปี  ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของยีนและมีการส่งต่อทางพันธุกรรม
  • ผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีชีวิตอยู่ได้ 4-8 ปีหลังการวินิจฉัย แต่ก็อาจมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 20 ปี ขึ้นอยู่กับการบำบัดและการค้นพบได้เร็ว

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคสมองเสื่อมประเภทหนึ่งที่ส่งผลต่อความจำ การคิด และพฤติกรรม หากมีอาการรุนแรงจะส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน  แม้อายุจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งส่วนใหญ่มักพบในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นอัลไซเมอร์เมื่ออายุมากขึ้น นอกจากนี้ปัจจุบันยังพบผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในช่วงอายุน้อย หรือเรียกว่าโรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็ว (early-onset Alzheimer’s) ซึ่งเป็นโรคอัลไซเมอร์ที่เกิดในช่วงอายุ  30-65 ปี  บางรายอาจมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของยีนและมีการส่งต่อทางพันธุกรรม

สัญญาณเตือนโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคทางสมอง ส่งผลให้สูญเสียความทรงจำที่รบกวนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน  ทำให้ความจำ การคิด และทักษะการใช้เหตุผลลดลงอย่างช้าๆ   สามารถสังเกตสัญญาณเตือนได้ดังนี้

  1. สูญเสียความทรงจำที่รบกวนชีวิตประจำวัน เป็นสัญญาณเตือนที่พบบ่อยที่สุด โดยเฉพาะระยะเริ่มแรก เช่น  ลืมข้อมูลที่เพิ่งเรียนรู้  ลืมวันหรือเหตุการณ์สำคัญ  ถามคำถามเดิมซ้ำๆ และต้องพึ่งพาเครื่องช่วยจำมากขึ้น  
  2. ความสามารถในการวางแผนหรือแก้ไขปัญหาลดลง ไม่สามารถทำอาหารตามสูตรที่คุ้นเคย รวมถึงลืมจ่ายค่าบริการต่างๆ   
  3. ความยากลำบากในการทำงานที่คุ้นเคยให้สำเร็จ ผู้ที่ความจำเปลี่ยนแปลงจากโรคอัลไซเมอร์ มักพบว่าการทำงานประจำวันให้เสร็จสิ้นเป็นเรื่องยาก บางครั้งอาจมีปัญหาในการขับรถไปยังสถานที่ที่คุ้นเคย และอาจต้องการความช่วยเหลือในการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่เคยใช้เป็นประจำ
  4. สับสนกับเวลาหรือสถานที่ ลืมวัน เวลา และฤดูกาล อาจมีปัญหาในการทำความเข้าใจ หรือลืมว่าอยู่ที่ไหนหรือเดินทางมาได้อย่างไร
  5. ปัญหาในการทำความเข้าใจภาพและระยะทาง  มีการเปลี่ยนแปลงการมองเห็น อ่านหนังสือไม่ออก หรือมีปัญหาในการทรงตัวและกะระยะทาง 
  6. ปัญหาเกี่ยวกับการพูดหรือการเขียน ไม่สามารถสนทนาอย่างต่อเนื่อง บางคนอาจพูดซ้ำไปซ้ำมา นึกคำศัพท์ไม่ออก ลืมคำเรียกสิ่งของต่างๆ  
  7. วางสิ่งของผิดที่และไม่สามารถย้อนรอยขั้นตอนเพื่อค้นหา มักทำของหายและไม่สามารถติดตามคิดย้อนว่าวางไว้ที่ใด บางครั้งอาจร้ายแรงถึงขั้นกล่าวหาคนอื่นว่าขโมย 
  8. การตัดสินใจลดลง ไม่สามารถควบคุมการใช้จ่าย  ไม่สนใจรักษาความสะอาด  หรือดูแลตัวเอง
  9. ถอนตัวจากการทำงาน งานอดิเรก หรือกิจกรรมทางสังคม  เนื่องจากปัญหาในการสนทนาหรือทำกิจกรรมต่างๆ 
  10. อารมณ์และบุคลิกภาพปลี่ยนแปลง  เกิดความสับสน หดหู่ หวาดกลัว หรือวิตกกังวล

อาการของโรคอัลไซเมอร์

สมองมีการเปลี่ยนแปลงเมื่ออายุมากขึ้น เช่นเดียวกับส่วนอื่นๆ ของร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของโรคอัลไซเมอร์มักเริ่มต้นในส่วนของสมองที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ เมื่อโรคอัลไซเมอร์ลุกลาม จะทำให้เกิดอาการรุนแรงมากขึ้น รวมถึงอาการงุนงง อารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดความสับสนมากขึ้นเกี่ยวกับเหตุการณ์ เวลา และสถานที่ ความสงสัยที่ไม่มีมูลเกี่ยวกับครอบครัว เพื่อน และคนรอบข้าง สูญเสียความทรงจำและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่รุนแรงขึ้น  โดยเฉพาะการพูด การกลืน และการเดิน

อาการโรคอัลไซเมอร์จะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ดังนี้

  • หลงลืมเหตุการณ์หรือประวัติส่วนตัว   
  • รู้สึกหงุดหงิดหรือเก็บตัว โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ท้าทายทางสังคมหรือจิตใจ
  • ไม่สามารถจำข้อมูลเกี่ยวกับตนเองได้ เช่น ที่อยู่หรือหมายเลขโทรศัพท์  
  • รู้สึกสับสนว่าอยู่ที่ไหนหรือวันไหน
  • ต้องการความช่วยเหลือในการเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับฤดูกาลหรือโอกาส
  • มีปัญหาในการควบคุมกระเพาะปัสสาวะและลำไส้
  • รูปแบบการนอนเปลี่ยนไป เช่น  นอนตอนกลางวันและนอนกระสับกระส่ายในเวลากลางคืน
  • มีแนวโน้มที่จะเร่ร่อนและหลงทางมากขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม  หลงผิด หรือพฤติกรรมทำซ้ำๆ เช่น การบีบมือ หรือการฉีกกระดาษ
  • ปัญหาที่พบบ่อย ได้แก่
  • ไม่สามารถจำชื่อคนที่เพิ่งรู้จัก 
  • มีปัญหาในการทำงาน และเข้าสังคม 
  • ลืมเนื้อหาที่เพิ่งอ่านไป
  • ของสูญหายหรือวางสิ่งของมีค่าผิดที่
  • ประสบปัญหาเพิ่มขึ้นในการวางแผนหรือการจัดระเบียบ

การพัฒนาของโรค

โดยทั่วไปโรคอัลไซเมอร์จะดำเนินไปอย่างช้าๆ ใน 3 ระยะ ดังนี้

  • ระยะเริ่มต้น (ไม่รุนแรง) ในระยะแรกของโรคอัลไซเมอร์ อาจยังทำงานได้อย่างปกติ สามารถขับรถและทำกิจกรรมทางสังคม อาจเพียงลืมคำศัพท์ที่คุ้นเคย หรือตำแหน่งของสิ่งของในชีวิตประจำวัน เนื่องจากอาการอาจไม่ชัดเจน แต่ครอบครัวและเพื่อนสนิทอาจ สังเกตเห็น กรณีนี้สามารถเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยเบื้องต้นได้
  • ระยะกลาง อาการของโรคสมองเสื่อมจะเด่นชัดมากขึ้น   อาจพูดสับสน หงุดหงิดหรือโกรธง่าย  ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ยังสามารถทำกิจกรรมประจำวันได้โดยได้รับความช่วยเหลือ สิ่งสำคัญคือต้องค้นหาว่าผู้ป่วยสามารถทำอะไรได้บ้างหรือหาวิธีทำให้งานง่ายขึ้น ผู้ป่วยระยะนี้จำเป็นต้องมีผู้ดูแลและควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย   
  • อัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย (รุนแรง) ในระยะสุดท้ายของโรคจะมีอาการสมองเสื่อมรุนแรง ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมของตน ไม่สามารถสนทนาและควบคุมการเคลื่อนไหว ทักษะด้านความทรงจำและการรับรู้แย่ลงเรื่อยๆ บุคลิกภาพอาจเปลี่ยนไปอย่างมาก ซึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

สาเหตุของโรคอัลไซเมอร์

โรคอัลไซเมอร์ เป็นโรคทางระบบสมอง ที่เกิดจากความเสื่อมตามวัย หรือมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเนื้อเยื่อสมอง  ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่าการเปลี่ยนแปลงมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งตรวจพบว่าระหว่างเซลล์สมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีการสะสมของโปรตีนเบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid)  และโปรตีนเทา (tau tangles) จนทำให้การเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมองเสียไป ส่งผลให้เซลล์สมองสูญเสียการทำงาน เมื่อถึงระยะรุนแรงเซลล์ประสาทตายและสูญเสียเนื้อเยื่อทั่วสมอง เมื่อเวลาผ่านไป สมองจะหดตัวลงอย่างมาก ส่งผลต่อการทำงานเกือบทั้งหมด

อาการเริ่มต้นของอัลไซเมอร์คือภาวะหลงลืม หากปล่อยไว้อาจมีอาการมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน กรณีที่อาการรุนแรงผู้ป่วยอาจไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีผู้ดูแลช่วยเหลือ

ปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์

นักวิจัยเชื่อว่าปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างมีบทบาทในการทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมอื่นๆ รวมถึงพันธุกรรม พฤติกรรม และนิสัย ดังนี้

  • อายุ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หลังจากอายุ 65 ปี ความเสี่ยงอัลไซเมอร์จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทุกๆ 5 ปี หลังจากอายุ 85 ปี ความเสี่ยงจะสูงถึงเกือบหนึ่งในสาม อย่างไรก็ตามอายุก็ไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงของโรคอัลไซเมอร์
  • พันธุกรรม ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหากมีสมาชิกในครอบครัวมากกว่าหนึ่งคนมีภาวะอัลไซเมอร์  นักวิทยาศาสตร์พบว่าผู้ป่วยอัลไซเมอร์เกี่ยวข้องกับยีนอะโพลิโพโปรตีนอี หรือ อะโพอี (apolipoprotein E; ApoE) ซึ่งเป็นชนิด อะโพอี 4 (ApoE4) ดังนั้น อะโพอี 4  คือยีนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์  
  • การบาดเจ็บที่ศีรษะ มีการศึกษาพบว่าผู้ที่มีอาการบาดเจ็บที่สมอง มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์
  • มลพิษทางอากาศ พบว่าการสัมผัสมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะไอเสียจากการจราจรและการเผาไหม้ มีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ที่เพิ่มมากขึ้น
  • ดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก ทำให้สมองเกิดการเปลี่ยนแปลง และมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคอัลไซเมอร์ 
  • การนอนที่ไม่มีคุณภาพ เช่น การนอนไม่หลับมีความเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของโรคอัลไซเมอร์ 
  • ไลฟ์สไตล์และสุขภาพหัวใจ การวิจัยพบว่าปัจจัยเสี่ยงเดียวกันที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน ดังนี้ ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่หรือการสัมผัสกับควันบุหรี่มือสอง รวมถึงโรคอื่นๆ เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน

การตรวจโรคอัลไซเมอร์แฝง ช่วยทำนายโรคล่วงหน้าได้อย่างไร

การเปลี่ยนแปลงในสมองที่เกี่ยวข้องกับโรคอัลไซเมอร์เริ่มต้นหลายปีก่อนที่จะมีสัญญาณของโรค  จากนั้นอาการของโรคอัลไซเมอร์จะแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป โดยการดำเนินของโรคจะแตกต่างกันไป  โดยเฉลี่ยแล้ว ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีชีวิตอยู่ได้ 4-8 ปีหลังการวินิจฉัย แต่สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานถึง 20 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยการบำบัดและการตรวจพบได้เร็ว 

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด แต่มียาและแนวทางการรักษา ที่ช่วยชะลอความเสื่อมของสมอง บรรเทาอาการ และปรับปรุงคุณภาพชีวิต  รวมถึงการตรวจเลือดเพื่อทำนายโรค ซึ่งปัจจุบันสามารถรู้ล่วงหน้า 5-10 ปี เพื่อป้องกันการเกิดภาวะสมองเสื่อมในผู้ที่ยังไม่มีอาการ ช่วยตรวจค้นหาก่อนที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมในอนาคต และชะลอการดำเนินโรคของภาวะสมองเสื่อมที่เกิดขึ้นแล้วให้ช้าลงสามารถรู้ผลภายใน 90 วัน ผลวิเคราะห์แม่นยำถึง 92%

การตรวจเพื่อทำนายโรคอัลไซเมอร์แฝง เหมาะกับบุคคล ดังนี้

  • ผู้ที่มีปัญหาหลงลืมที่รบกวนชีวิต เช่น อ่านหนังสือเข้าใจยากขึ้น ตัดสินใจผิดพลาดบ่อยขึ้น อารมณ์ หรือบุคลิกภาพเปลี่ยนไป ไม่รู้วันเวลา
  • ผู้ที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป ที่มีความกังวลหรือต้องการทราบว่าในอีก 5-10 ปี ข้างหน้าตนเองจะมีความเสี่ยงหรือไม่ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้หันมาดูแลสุขภาพและเกิดผลดีในที่สุด
  • บุคคลที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป
  • ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัว หรือ ญาติสายตรง เป็นโรคสมองเสื่อม

วิธีการตรวจเพื่อทำนายโรค

จะใช้วิธีการตรวจเลือดเพื่อหาระดับโปรตีน  “ฟอสโฟ-ทาว”  ซึ่งเป็นต้นเหตุของโรคอัลไซเมอร์ และยีน (APOE) ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคอัลไซเมอร์ รวมถึงระดับโปรตีน “นิวโรฟิลาเมนท์” (Neurofilament protein) บอกความเสียหายของสมอง เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นอัลไซเมอร์ สมองเสื่อมแฝง หรือ กำลังมีการทำลายเนื้อสมองอยู่ และ ระดับโปรตีน “จีเอฟเอพ” (Glial fibrillary acidic protein) บ่งบอกถึงการอักเสบของสมอง มักพบร่วมกับโรคอัลไซเมอร์ในระยะแฝง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?