ออทิสติกสเปกตรัม ความผิดปกติของสมองที่ส่งผลต่อพัฒนาการ

ออทิสติกสเปกตรัม ความผิดปกติของสมองที่ส่งผลต่อพัฒนาการ

Highlights:

  • ภาวะออทิสติกสเปกตรัม ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด จึงยังไม่สามารถตรวจทราบได้ล่วงหน้า แต่มีหลักฐานสนับสนุนว่าเกิดจากการทำงานของสมองที่ผิดปกติและมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม  อาการที่สังเกตได้ว่าเด็กเข้าข่ายออทิสติกหรือออทิสติกสเปกตรัม ได้แก่ เด็กที่ไม่พูดเลย พูดช้า พูดคำแปลกๆ พูดเป็นคำหรือภาษาที่ไม่เข้าใจ ไม่สามารถสื่อสารหรือสนทนาตอบโต้ได้ พูดแต่เรื่องที่ตนเองสนใจ ไม่ชวนคุย 
  • ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาภาวะออทิสติกสเปกตรัม หรือโรคออทิซึมให้หายขาด แต่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ หากเด็กได้รับการดูแล ช่วยเหลือ รักษาอย่างรวดเร็ว และได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสมตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อได้รับการวินิจฉัย
     

Autism spectrum disorder (ASD) หรือ ออทิสติกสเปกตรัม คืออะไร

ออทิสติกสเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder) เป็นกลุ่มอาการที่มีความผิดปกติของสมองที่ส่งผลต่อพัฒนาการทำให้เด็กเกิดพัฒนาการที่ล่าช้า ในด้านการสื่อภาษา การปฏิสัมพันธ์ด้านสังคม รวมถึงเกิดพฤติกรรมและความสนใจ ที่เป็นแบบแผนซ้ำๆ หรือแบบแคบๆ มีขีดจำกัด ความบกพร่องทางการพูดและการสื่อสาร 

สัญญาณและอาการออทิสติกสเปกตรัม

พบได้ตั้งแต่เด็กที่ไม่พูดเลย พูดช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน  พูดคำแปลกๆ พูดเป็นคำหรือภาษาที่ไม่เข้าใจ (Neologism) หรือเด็กบางคนพูดได้แต่ไม่สามารถพูดโดยใช้ภาษาในการสื่อสารหรือสนทนาได้  เรียกว่าเป็นลักษณะการสื่อสารทางเดียว ดูได้จากการตอบไม่ตรงเรื่องที่สนทนา ชอบพูดแต่เรื่องที่ตนเองสนใจมากกว่า  ไม่โต้ตอบไม่สนทนา ไม่ชวนคุย  โดยความบกพร่องทางภาษานี้จะมีทั้งรูปแบบภาษาพูดและภาษาท่าทาง  

  • ปฏิสัมพันธ์ทางด้านสังคม ในเด็กกลุ่มนี้ บางรายไม่สบตา ไม่หันตามเวลาเรียกชื่อ ไม่โผให้อุ้มเวลาผู้ใหญ่เข้าหา ไม่กลัวคนแปลกหน้า ไม่ชี้นิ้ว ใช้วิธีดึงมือผู้อื่นไปทำ ชอบเล่นคนเดียวมากกว่าเล่นกับเด็กด้วยกัน  ไม่มีความสนใจร่วม ไม่ชวนเล่น ไม่เล่นสมมติ  ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกหรือมุมมองของคนอื่น ชอบอยู่ในโลกของตัวเอง
  • ด้านพฤติกรรมซ้ำซาก ที่พบได้ในภาวะออทิสติกสเปกตรัม สามารถสังเกตได้จากหลายอาการ เช่น การเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ  เขย่งเท้า สะบัดมือ พูดตามโดยไม่เข้าใจความหมาย (echolalia)  พูดวลีซ้ำ นอกจากนี้ยังทำกิจวัตรซ้ำๆ เปลี่ยนแปลงยาก เช่น กินอาหารซ้ำ การเดินทางด้วยเส้นทางเดิม มีความหมกหมุ่นยึดติดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากๆ เช่น สนใจเรื่องรถ ปลาวาฬ  เป็นต้น  

อาการที่พบร่วมอีกอย่างหนึ่งคือ มีการตอบสนองประสาทสัมผัสมากหรือน้อยผิดปกติ เช่น ตอบสนองผิดปกติต่อเสียง แสง ผิวสัมผัสบางอย่าง เด็กอาจเอามือปิดหู ไม่ชอบเสียงเครื่องจักร เครื่องตัดหญ้า บางรายหลับตาหรือบางรายจะให้ความสนใจต่อการเคลื่อนไหวบางอย่างมากผิดปกติ เช่น ชอบนั่งมองพัดลมหมุน

เนื่องจากกลุ่มอาการออทิสติกสเปกตรัม มีอาการแสดงที่หลากหลาย มีตั้งแต่อาการน้อยจนถึงมาก ความแตกต่างกันทั้งด้าน IQ  ตั้งแต่ระดับสูงถึงต่ำ  ลักษณะเหมือนกับเฉดสีของของรุ้งกินน้ำ จึงมีแนวคิดการวินิจฉัยแบบ spectrum

ความแตกต่างของออทิสติกสเปกตรัม กับออทิสติกแท้และเทียม

ออทิสติกแท้ คือกลุ่มที่เป็นโรค มีปัญหาด้านพัฒนาการตามที่อธิบายข้างต้น เป็นกลุ่มของความผิดปกติของสมองส่งผลต่อพัฒนาการ กลุ่มนี้ได้รับการวินิจฉัยเข้าเกณฑ์ได้กับออทิสติกสเปกตรัม สำหรับออทิสติกเทียม ปัจจุบันจะพบเด็กที่มีอาการคล้ายออทิสติกแต่ไม่ได้เป็นโรคจริง  เด็กกลุ่มนี้อาจมีสาเหตุจากการขาดการดูแลอย่างเหมาะสม ขาดการกระตุ้นพัฒนาการ ขาดการเรียนรู้ การเล่นที่เหมาะสม หรือยุคปัจจบันที่เด็กจะใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากเกินไป แยกตัวไม่มีเพื่อนเล่น เพราะภาวะโรคระบาด จนทำให้ดูไม่ค่อยสนใจคนอื่น ทักษะทางสังคมไม่ค่อยดี  เด็กกลุ่มนี้เมื่อได้รับการส่งเสริมพัฒนาการอย่างเหมาะสม อาการที่สงสัยดูคล้ายภาวะออทิสติกจะหายไป

วิธีสังเกตอาการออทิสติกสเปกตรัม

ส่วนใหญ่จะเริ่มสังเกตว่าเด็กมีอาการผิดปกติหรือไม่ ได้จากการแสดงออกของเด็กอายุก่อน 3 ขวบ 

โดยเริ่มจากการสังเกตในขวบปีแรก เด็กไม่ค่อยมองหน้าสบตา ไม่ส่งเสียงอ้อแอ้ ไม่มี social smile ไม่หันหาเสียง ไม่จ้องหน้าคนเลี้ยงดู  พออายุ 1 ขวบปี ให้สังเกตพัฒนาการด้านภาษา โดยสังเกตจากที่ปกติเด็กจะเริ่มพูดคำพูดที่มีความหมายได้ ตัวอย่างที่น่าสงสัยหรือเข้าข่ายเช่น เด็กอายุ 1 ขวบ 6 เดือน แต่ยังพูดคำเดี่ยวๆ ไม่ได้  ยังไม่เล่นสมมติ 

เมื่อเด็กเข้าสู่ช่วง 2-3 ขวบ เด็กออทิสติกจะพบประวัติว่าพูดช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน  อาจดูได้จากประวัติว่าเด็กพูดได้เป็นคำๆแล้วหยุดไป พูดคำที่มีความหมายไม่ได้ ส่วนด้านสังคมเด็กมักจะไม่สนใจเล่นกับคนอื่น  ชอบเล่นกับตัวเองมากกว่า ไม่สนใจเวลาชี้ชวนให้ดู  ยังเล่นของเล่นไม่ถูก ชอบเอาของมาเรียงๆ  ไม่ค่อยกังวลเมื่อแยกจากแม่  ไม่กลัวคนแปลกหน้า สบตาน้อยหรือไม่สบตา  เวลาเรียกชื่อไม่ตอบสนอง  บางรายมีการเคลื่อนไหวซ้ำ เช่น เล่นมือ หมุนตัว ชอบมองของหมุนๆ ไวกับเสียง แสง สัมผัส (จึงทำให้มีการเขย่งเท้า)

สำหรับเด็กในวัยอนุบาล วัยเรียน  จะสามารถสังเกตได้จากการเล่น ซึ่งสังเกตได้ตั้งแต่เด็กไม่สนใจไม่เข้าหาเพื่อน เล่นหรือเริ่มต้นที่จะเล่นไม่เป็น  ทั้งที่มีความอยากเล่นกับเพื่อน ด้านการสื่อสารเด็กบางรายพูดได้มากขึ้นแต่ดูยังช้ากว่าวัยเดียวกัน พูดเรียบเรียงสลับไม่เป็นไปตามลำดับ และบางรายใช้สรรพนามผิด พูดสื่อสารทางเดียว ตอบไม่ตรงคำถาม สนทนาแต่เรื่องที่ตนเองสนใจ

การรักษาภาวะออทิสติกสเปกตรัม

การรักษาเป็นการรักษาแบบองค์รวม โดยช่วงเวลาของการรักษาที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ ช่วง 3 ขวบปีแรก โดยการรักษาในช่วงนี้มีเป้าหมายคือ ทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านการสื่อสารสังคมดีขึ้น ลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์  พยายามพัฒนาศักยภาพเด็กให้ได้มากที่สุด  พร้อมไปกับการรักษาโรคร่วมที่เป็นอยู่ เช่น สมาธิสั้น สติปัญญาบกพร่อง หรืออารมณ์ก้าวร้าวรุนแรงซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการสื่อสารที่มีปัญหา  

การรักษาภาวะออทิสติกสเปกตรัม ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เป็นการให้ยาตามอาการและเพื่อลดปัญหาพฤติกรรม อาการไม่พึงประสงค์ การตอบสนองต่อยาในเด็กแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน 

การบำบัดรักษาเด็กกลุ่มออทิสติกสเปกตรัม

  • การฝึกพูด ฝึกเพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้การสื่อสารได้อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาคำศัพท์ เปล่งเสียง การสร้างประโยค ฝึกการสื่อสารทางสังคม 
  • กิจกรรมบำบัด Occupational therapy เป็นการฝึกโดยนักกิจกรรมบำบัด เพื่อให้เด็กได้ฝึกและเรียนรู้กิจกรรมต่างๆ
  • พฤติกรรมบำบัด Behavior Therapy  เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างจิตแพทย์เด็ก แพทย์พัฒนาการ และนักกิจกรรมบำบัด นักจิตวิทยาพัฒนาการ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุการเกิดปัญหาพฤติกรรม ร่วมกันเน้นการสร้างและเสริมพฤติกรรมที่ดี ลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์
  • Group Training and parent training   เป็นการฝึกร่วมกันระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการ เน้นเรื่องทักษะสังคม พัฒนาด้านการช่วยเหลือตัวเอง มีกิจกรรมผ่านการเล่น สร้างสัมพันธภาพ โดยอาจใช้ศิลปะและดนตรีบำบัดเข้ามาร่วมด้วย  โดยในส่วนของผู้ปกครองจะเน้นทักษะการแก้ปัญหา ช่วยส่งเสริมการกระตุ้นพัฒนาการลูก รวมถึงดูแลจิตใจพ่อแม่ เสริมพลังพ่อแม่ และครอบครัวบำบัด
  • การช่วยเหลือทางด้านการศึกษา สร้างแบบเรียนร่วมหรือ special class  กล่าวคือควรมีการจัดการศึกษาที่เหมาะสมกับความสามารถของเด็กแต่ละคน
  • การส่งเสริมพัฒนาการเดี่ยว Individual training  

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาออทิสติกสเปกตรัม หรือโรคออทิซึมให้หายขาดได้ แต่สามารถทำให้ดีขึ้นได้ หากเด็กได้รับการดูแล ช่วยเหลือ รักษาอย่างรวดเร็ว และได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสมตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อได้รับการวินิจฉัย 

ดังนั้นถ้าสงสัยว่าลูกมีความผิดปกติต้องรีบพามาพบกุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และเด็กได้รับการบำบัดรักษาครบถ้วน เหมาะสม โดยทีมสหวิชาชีพ เพื่อเป้าหมายสำคัญในการรักษา อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญ คือการสร้างให้เกิดพัฒนาการและพฤติกรรมที่ใกล้เคียงเด็กปกติให้มากที่สุด โดยพ่อแม่จะเป็นผู้ร่วมบำบัดที่สำคัญ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?