ต่อมลูกหมากโต โรคที่ผู้สูงวัยต้องใส่ใจ

ต่อมลูกหมากโต โรคที่ผู้สูงวัยต้องใส่ใจ

Highlights:

  • ปัจจัยเสี่ยงของต่อมลูกหมากโต คือ อายุ 45 ปีขึ้นไป  การใช้สมุนไพรหรือฮอร์โมนบางชนิด มีโรคเบาหวาน โรคหัวใจ
  • ต่อมลูกหมากโต ระยะแรกจะยังไม่มีอาการ แต่เมื่อต่อมลูกหมากมีการโตมากขึ้น อาจมีอาการต่าง ๆ เช่น ปัสสาวะบ่อย ตื่นมาปัสสาวะกลางคืน ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไหลช้า ไหลอ่อน ขาด หรือสะดุดเป็นช่วง ๆ ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะเล็ดหลังปัสสาวะเสร็จ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • ปัจจุบันยังไม่พบวิธีที่สามารถป้องกันภาวะต่อมลูกหมากโตอย่างได้ผล ดังนั้น ผู้ชายที่มีอายุอยู่ในเกณฑ์เสี่ยง ควรสังเกตตนเองและตรวจร่างกายเป็นประจำ ให้ความสนใจกับสัญญาณของภาวะต่อมลูกหมากโตเพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ

ต่อมลูกหมากโต คืออะไร

ต่อมลูกหมากโต Benign Prostate Hyperplasia (BPH) คือภาวะที่ต่อมลูกหมากซึ่งอยู่ใต้กระเพาะปัสสาวะมีขนาดใหญ่ขึ้น จนส่งผลต่อการทำงานของระบบปัสสาวะ พบได้ในผู้ชายอายุ 45 ปีขึ้นไปและพบมากขึ้นตามอายุ โดยผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป สามารถพบภาวะนี้ได้มากกว่า 80% 

ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะต่อมลูกหมากโต

  • อายุที่มากขึ้น โดยความเสี่ยงจะมากขึ้นหลังจากอายุ 45 ปีและเพิ่มมากขึ้นตามอายุ
  • ผู้ที่ใช้ฮอร์โมนและสมุนไพรบางชนิด การให้ฮอร์โมนทดแทนหรือใช้สมุนไพรชนิดที่มีฮอร์โมนเพศชายอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดต่อมลูกหมากโตได้
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน และโรคหัวใจ โดยเฉพาะกลุ่มที่ใช้ยาชนิดยาต้านเบต้า (Beta-Blockers)
  • มีการติดเชื้อและมีภาวะต่อมลูกหมากอักเสบ
  • บางงานวิจัยพบว่าอาจเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมและเชื้อชาติ

อาการต่อมลูกหมากโต

เมื่อมีภาวะต่อมลูกหมากโตในระยะแรกผู้ป่วยอาจไม่มีอาการ แต่เมื่อต่อมลูกหมากมีการโตมากขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการต่าง ๆ เช่น

  • ปัสสาวะบ่อย
  • ต้องตื่นมาปัสสาวะกลางคืน
  • ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่ง 
  • ปัสสาวะไหลช้า ไหลอ่อน
  • ปัสสาวะขาด หรือสะดุดเป็นช่วง ๆ 
  • ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะเล็ดหลังปัสสาวะเสร็จ 
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ด้วยภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะปนเลือด เป็นต้น

สาเหตุของต่อมลูกหมากโต

ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าอะไรคือสาเหตุหลักของต่อมลูกหมากโต แต่พบว่าน่าจะเกิดจากต่อมไร้ท่อที่ควบคุมเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศชายผิดปกติ

การวินิจฉัย

การซักประวัติ แพทย์อาจซักประวัติตาม International prostate symptom score (IPSS) หรือ AUA symptom score questionnaire

  1. ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ท่านรู้สึกปัสสาวะไม่สุด บ่อยเพียงใด
  2. ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ท่านต้องปัสสาวะบ่อย  เช่น ปัสสาวะซ้ำภายใน 2 ชั่วโมงหลังการปัสสาวะครั้งสุดท้าย  บ่อยเพียงใด
  3. ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ท่านมีการปัสสาวะติด ๆ ขัด ๆ บ่อยเพียงใด
  4. ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ท่านมีความลำบากในการกลั้นปัสสาวะ บ่อยเพียงใด
  5. ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ท่านมีปัสสาวะไหลเบา บ่อยเพียงใด
  6. ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ท่านต้องใช้แรงเบ่งเมื่อเริ่มปัสสาวะ บ่อยเพียงใด
  7. ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ท่านต้องตื่นกลางดึกมาปัสสาวะ บ่อยเพียงใด

และแพทย์จะนำคะแนนที่ได้มารวบรวมและแบ่งเป็น ความรุนแรงต่ำ ปานกลาง และสูง นอกจากนี้ แพทย์อาจซักประวัติอาการที่เกี่ยวข้อง และเพื่อแยกโรคอื่น ๆ ที่อาจมีอาการคล้ายกันด้วย

  • การตรวจร่างกาย โดยแพทย์อาจใช้นิ้วตรวจทางทวารหนักเพื่อทำการตรวจขนาด รูปร่าง ลักษณะ รวมถึงการอักเสบของต่อมลูกหมาก
  • การตรวจปัสสาวะ เพื่อหาเม็ดเลือดขาวหรือเม็ดเลือดแดงในกระเพาะปัสสาวะ
  • การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate-Specific Antigen: PSA)
  • การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (Cystoscopy)
  • การตัดชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก (Prostate Biopsy) เพื่อแยกภาวะต่อมลูกหมากโตจากมะเร็งต่อมลูกหมากและสาเหตุอื่น ๆ
  • นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจเพื่อหาความรุนแรงหรือการตรวจติดตามการรักษา เช่น
    • การตรวจการไหลของปัสสาวะ (Urinary Flow Test)
    • การตรวจปริมาณปัสสาวะที่คงค้าง (Post-Void Residual Urine Test: PVR) จะตรวจปริมาณปัสสาวะที่คงค้างอยู่ใกระเพาะปัสสาวะหลังปัสสาวะเสร็จ โดยอาจใช้การอัลตร้าซาวด์ หรือการใส่สายสวนปัสสาวะเข้าไปวัดปริมาณปัสสาวะโดยตรง
    • การตรวจวินิจฉัยอื่นๆ เช่น การตรวจอัลตร้าซาวด์ การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์  การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า อาจทำได้เพื่อประเมินขนาดของต่อมลูกหมาก  อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าจะตรวจพบว่าต่อมลูกหมากมีขนาดโต แต่หากยังไม่มีอาการใดๆ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษา 

การป้องกันต่อมลูกหมากโต ทำได้อย่างไร

ปัจจุบันยังไม่พบวิธีที่สามารถป้องกันภาวะต่อมลูกหมากโตอย่างได้ผล ดังนั้นผู้ชายที่มีอายุอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงควรสังเกตตนเองและตรวจร่างกายเป็นประจำ ให้ความสนใจกับสัญญาณของภาวะต่อมลูกหมากโต เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่น ๆ

การรักษาต่อมลูกหมากโต

  • การรักษาโดยการปรับพฤติกรรม เป็นการรักษาในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก ตามข้อบ่งชี้คือ มีอาการน้อย หรือปานกลาง แต่ยังไม่รบกวนชีวิตประจำวัน  โดยแนะนำให้ลดปริมาณการดื่มน้ำ ลดเครื่องดื่มที่มีชา กาแฟ ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณจำกัด ปัสสาวะให้เป็นเวลา (Time voiding) 
  • การรักษาโดยการใช้ยา เช่น ยากลุ่ม alpha-blockers, 5-alpha reductase inhibitor หรือสมุนไพรกลุ่ม serenoa repens หรือ pygeum africanum ซึ่งจากงานวิจัยยังไม่พบประโยชน์ที่ชัดเจน
  • การผ่าตัด จะทำเมื่อผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ โดยมีทั้งการผ่าตัดแบบเปิด ซึ่งจะทำในกรณีเช่น ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่มาก มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น และการผ่าตัดส่องกล้อง ซึ่งเป็นที่นิยมมากกว่า  โดยจะส่องกล้องเข้าไปตามท่อปัสสาวะ CTUR   แล้วทำการขูดคว้านต่อมลูกหมากส่วนที่ปิดกั้นทางเดินปัสสาวะออกไป การผ่าตัดอื่นๆ เช่น  TUI-P  Laser ,TUMT ,TUNA Vaporization
  • การใส่อุปกรณ์อื่นๆ ช่วยถ่างต่อมลูกหมาก ไม่ให้ไปกดเบียดท่อปัสสาวะ เช่น Urolift  ,Stent เป็นต้น ซึ่งมักทำกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหลายโรค ไม่สามารถผ่าตัดได้

References

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?