การส่องกล้องทางเดินอาหารในเด็ก

การส่องกล้องทางเดินอาหารในเด็ก

Highlights:

  • อาการที่สังเกตว่าเด็กอาจมีโรคระบบทางเดินอาหาร คือ กลืนเจ็บ กลืนติด กลืนลำบาก อาเจียนเรื้อรัง ปวดท้องเรื้อรัง อุจจาระร่วงเรื้อรัง ซีด หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ   
  • การส่องกล้องทางเดินอาหารด้วยการกลืนแคปซูล เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ไม่ต้องสอดสายเข้าทางปากหรือทวารหนัก แต่มีข้อห้ามทำในเด็กที่สงสัยว่าอาจมีลำไส้อุดตัน เนื่องจากแคปซูลอาจติดค้างอยู่ในลำไส้ได้ 

การส่องกล้องทางเดินอาหาร คืออีกหนึ่งกระบวนการวินิจฉัยและให้การรักษาโรคระบบทางเดินอาหาร โดยใช้กล้องที่มีสายยาวสอดเข้าไปทางปากหรือทวารหนัก แบ่งเป็นการส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนเพื่อตรวจดูหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ใช้เวลาตรวจประมาณ 20-30 นาที และส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่างเพื่อตรวจดูลำไส้เล็กส่วนปลาย ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ใช้เวลาตรวจประมาณ 30-60 นาที นอกจากนี้ยังมีการส่องกล้องด้วยวิธีกลืนแคปซูลทางปากสำหรับตรวจวินิจฉัยบริเวณลำไส้เล็กส่วนกลาง โดยปกติใช้เวลาตรวจประมาณ 8-12 ชั่วโมง 

ทำไมเด็กต้องส่องกล้องทางเดินอาหาร

อาการหรือข้อบ่งชี้ในเด็กที่ต้องได้รับการวินิฉัยด้วยการ ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน  

  • กลืนเจ็บ กลืนติด กลืนลำบาก  
  • กลืนสารพิษ กินกรดด่าง หรือกลืนวัตถุแปลกปลอมลงไป 
  • อาเจียนเรื้อรัง 
  • มีเลือดออกที่ทางเดินอาหารส่วนบน  
  • ปวดท้องเรื้อรัง มีอาการเตือนและสงสัยว่ามีโรคทางกาย 
  • อุจจาระร่วงเรื้อรัง หรือมีการย่อยและดูดซึมบกพร่อง โดยไม่ทราบสาเหตุ 
  • มีการเสียโปรตีนไปทางโพรงลำไส้ 
  • ซีดเรื้อรัง หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ   
  • มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร หรือติ่งเนื้อชนิด polyposis syndrome 

อาการหรือข้อบ่งชี้ในเด็กที่ต้องได้รับการวินิจฉัยด้วยการ ส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่าง 

  • เลือดออกจากทางเดินอาหารส่วนล่าง 
  • ปวดท้องเรื้อรัง ที่มีอาการเตือนและสงสัยว่ามีโรคทางกาย 
  • อุจจาระร่วงเรื้อรัง  
  • มีการเสียโปรตีนไปทางโพรงลำไส้ 
  • สงสัยว่ามีลำไส้อักเสบเรื้อรัง ที่ยังไม่ทราบสาเหตุ 
  • ซีดเรื้อรัง หรือน้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ   
  • สงสัยว่ามีติ่งเนื้อในลำไส้  มีคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือติ่งเนื้อชนิด polyposis syndrome 

การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบนและล่างในเด็ก มีประโยชน์อย่างไร

  • นำวัตถุแปลกปลอมออกจากทางเดินอาหาร 
  • ห้ามเลือดที่ออกในทางเดินอาหารโดยการส่องกล้อง โดยวิธีฉีดสารที่จุดเลือดออก จี้ความร้อนหรือจี้ไฟฟ้าเพื่อหยุดเลือด  รัดเส้นเลือดดำขอดในหลอดอาหาร  ใช้คลิปหนีบหรือพ่นสารหยุดเลือด  เป็นต้น 
  • เจาะใส่สายให้อาหารทางหน้าท้อง  
  • เย็บหูรูดหลอดอาหารผ่านการส่องกล้อง 
  • ตัดติ่งเนื้อในทางเดินอาหาร 
  • ขยายส่วนที่ตีบในทางเดินอาหาร  

ผู้ป่วยเด็กกลุ่มใด ที่ไม่สามารถรักษาด้วยการส่องกล้องได้

  1. เด็กที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจหรือระบบหัวใจและหลอดเลือดที่อาการยังไม่คงที่ (แต่ถ้าอาการคงที่แล้วหรือเคยเป็นโรคและรักษาหายแล้วสามารถส่องกล้องได้) 
  2. เด็กที่มีลำไส้ทะลุ  เยื่อบุช่องท้องอักเสบ 
  3. ไม่ได้งดอาหารในเวลาที่เหมาะสม

ผู้ป่วยเด็กตามข้อห้ามด้านบน บางกลุ่มอาการสามารถพิจารณาการส่องกล้องได้ 

  1. ผู้ป่วยเด็กที่มีเกล็ดเลือดต่ำอย่างรุนแรง  การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ  (แต่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการแก้ไขโดยให้สารประกอบของเลือดก่อนส่องกล้อง) 
  2. ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการผ่าตัดเกี่ยวกับทางเดินอาหารมาได้ไม่นาน 
  3. การติดเชื้อทางเดินหายใจที่ไม่รุนแรง 

การปฎิบัติตัวก่อนและหลังการส่องกล้องทางเดินอาหารในเด็ก

การเตรียมตัวก่อนการส่องกล้องทางเดินอาหาร   

  1. งดยาละลายลิ่มเลือด เช่น aspirin, enoxaparin  
  2. งดยาลดกรด ยาปฎิชีวนะ (งดเฉพาะในกรณีที่ต้องการตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori เท่านั้น ในกรณีอื่นไม่ต้องงด)    
  3. ถ้าส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนล่างแพทย์จะแนะนำให้กินอาหารที่ไม่มีกากใย 2-3 วัน ก่อนส่องกล้องทางเดินอาหาร และให้กินยาระบายเพื่อเตรียมลำไส้ใหญ่ 1 วันก่อนการส่องกล้อง ในเด็กโตสามารถกินยาระบายเตรียมลำไส้ใหญ่มาจากที่บ้านได้ แต่สำหรับเด็กเล็กแพทย์อาจให้อยู่โรงพยาบาล 1 วันเพื่อเตรียมลำไส้ใหญ่ 

การเตรียมตัวก่อนวันที่ต้องรับการส่องกล้องทางเดินอาหาร 

  1. เด็กอายุไม่เกิน 6 เดือน งดน้ำงดอาหาร 4-6 ชั่วโมง  อายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป งด 6-8 ชั่วโมง 
  2. เด็กจะได้ยาระงับความรู้สึกให้หลับขณะทำการส่องกล้องทางเดินอาหาร และอาจมีการพ่นยาชาเฉพาะที่ภายในลำคอร่วมด้วยในกรณีส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน 
  3. ให้ยาปฎิชีวนะก่อนส่องกล้อง โดยพิจารณาให้ในกรณีที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเท่านั้น (โดยปกติการส่องกล้องเพื่อการวินิจฉัยในทางเดินอาหารมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่ำ อาจไม่ต้องให้ยาปฎิชีวนะก่อนการส่องกล้อง) 

    หลังส่องกล้อง รอสังเกตอาการอยู่ในห้องพักฟื้น 1-2 ชั่วโมง หลังจากเด็กตื่นดี สามารถเริ่มจิบน้ำได้ หากแพทย์ไม่มีข้อห้ามในการรับประทาน และเด็กไม่มีปัญหาการกลืน ก็จะสามารถเริ่มรับประทานอาหารได้ 

การดูแลตัวเองหลังการส่องกล้องทางเดินอาหาร

  1. อาจมีอาการปวดท้อง แน่นท้องเล็กน้อยหลังส่องกล้อง เนื่องจากมีการเป่าลมขณะส่องกล้อง ซึ่งอาการจะหายไปได้เอง หรืออาจกินยาขับลมได้ถ้ามีอาการมาก 
  2. อาจมีการเจ็บ ระคายคอ บ้างเล็กน้อยหลังส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน  
  3. สามารถรับประทานอาหารและออกกำลังกายได้ตามปกติ ถ้าไม่มีข้อห้ามจากแพทย์ด้วยสาเหตุการเจ็บป่วยด้วยโรคอื่น 
  4. ในกรณีที่ตัดตรวจชิ้นเนื้อทางเดินอาหารอาจมีเลือดออกเล็กน้อยเวลาถ่ายอุจจาระ  

หลังส่องกล้องทางเดินอาหาร ถ้าลูกมีอาการเหล่านี้ควรรีบกลับมาพบแพทย์

  • ถ่ายเป็นเลือดปริมาณมาก   
  • ปวดท้องรุนแรง   
  • อาเจียนมาก  
  • มีไข้ 

การส่องกล้องด้วยการกลืนแคปซูล

เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ไม่ต้องสอดสายเข้าทางปากหรือทวารหนักในการวินิจฉัยทางเดินอาหารที่กล่าวมา 

  • การส่องกล้อง เด็กบางคนอาจกลัวและไม่กล้าที่จะทำการตรวจ การกลืนกล้องแคปซูลคืออีกหนึ่งทางเลือก เพราะมีขนาดประมาณ 1.1x.2.5 cm ทำในเด็กที่สามารถกลืนแคปซูลได้ ส่วนใหญ่ใช้วิธีนี้กับเด็กอายุ 4-5 ปีขึ้นไป เพราะสามารถกลืนได้  หลังการกลืน แคปซูลจะเคลื่อนที่ไปตามทางเดินอาหารและแคปซูลจะถ่ายออกมาทางอุจจาระ 
  • เพื่อตรวจวินิจฉัยรอยโรคบริเวณลำไส้เล็กส่วนกลาง หรือซีดที่ไม่ทราบสาเหตุ  (แต่การส่องกล้องด้วยการกลืนแคบซูลมีข้อจำกัดคือไม่สามารถตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจหรือรักษาได้  ดังนั้นเมื่อพบรอยโรคแล้วจึงส่องกล้องตรวจบริเวณลำไส้เล็กภายหลังเพื่อตัดชิ้นเนื้อตรวจหรือรักษาอีกครั้ง)   
  • สำหรับการเตรียมตัว แนะนำเช่นเดียวกับการเตรียมตัวเพื่อส่องกล้องทางเดินอาหาร 

หมายเหตุ การกลืนแคบซูลห้ามทำในเด็กที่สงสัยว่าอาจมีลำไส้อุดตัน เนื่องจากแคปซูลอาจติดค้างอยู่ในลำไส้ได้ 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?