เชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีมีทั้งหมด 4 สายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์จะถูกเรียกว่าซีโรไทป์ (Serotype) ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 โดยส่วนใหญ่แล้วไข้เลือดออกเดงกีมักไม่มีอาการแสดงหรืออาจมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่ในบางรายอาจจะมีอาการรุนแรง จนถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้ และเป็นโรคที่คาดเดาได้ยากว่าใครจะอาการรุนแรงหรือไม่รุนแรง
เชื้อไวรัสไข้เลือดออกทั้ง 4 สายพันธุ์จะเกิดการแพร่ระบาดสลับหมุนเวียนกัน ทำให้ในแต่ละปีมีสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามพบว่าสายพันธุ์ที่ระบาดหลักในประเทศไทยนั้น เป็นสายพันธุ์ 1 และ 2 การแพร่ระบาดที่แตกต่างกันหลายสายพันธุ์จึงเป็นผลให้คนเราอาจไม่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดนั้นๆ เพราะการติดเชื้อไวรัสเดงกีชนิดหนึ่ง ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสเดงกีแค่ชนิดที่ติดเท่านั้น แต่ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นอาจจะป้องกันสายพันธุ์อื่น ๆ ได้ในชั่วคราว ทำให้ตลอดชีวิตของเราสามารถที่จะติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีได้มากกว่า 1 ครั้งนั่นเอง
หากการติดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกีครั้งที่ 2 เกิดจากสายพันธุ์ชนิดที่แตกต่างจากเดิม อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแสดงอาการที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากว่าการติดเชื้อซ้ำในครั้งที่ 2 จะเกิดการกระตุ้นภูมิต้านทานของการติดเชื้อในครั้งก่อนแต่เป็นภูมิต้านทานชนิดที่ไม่สามารถป้องกันโรคได้ และทำให้เชื้อไวรัสไข้เลือดออกสามารถกระจายตัวได้มากขึ้น ทำให้มีอาการรุนแรงได้มากขึ้น จึงเป็นผลให้การติดเชื้อในครั้งที่ 2 มีอาการรุนแรงมากกว่าเดิม
ยุงลาย คือพาหะนำโรคไข้เลือดออกเดงกี ซึ่งมักจะอาศัยอยู่ในสภาพอากาศอบอุ่น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือตามหมู่บ้านหากมีคนอาศัยอยู่ ยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคก็สามารถเจริญเติบโตได้ ซึ่งหมายความว่าเราทุกคนมีโอกาสติดเชื้อไข้เลือดออกเดงกีได้ตลอดเวลา
โรคไข้เลือดออกเดงกี โรคชิคุนกุนยา โรคมาลาเรีย โรคไข้ซิก้า หรือโรคอื่น ๆ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น หวัด หรือแม้กระทั่งโรคโควิด-19 อาจทำให้เราเกิดความสับสนเกี่ยวกับอาการของโรคได้
โรคไข้เลือดออกเดงกี โรคชิคุนกุนยา โรคไข้ซิก้า เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่มียุงชนิดเดียวกันเป็นพาหะ ซึ่งมักจะกัดเราในเวลากลางวัน ในขณะที่โรคมาลาเรียเองก็มียุงเป็นพาหะ แต่เกิดจากเชื้อปรสิต ซึ่งโรคเหล่านี้ทำให้เกิดอาการต่างๆ ขึ้นมากมาย รวมไปถึง อาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และปวดข้อ ซึ่งไข้หวัดและโรคโควิด-19 ก็อาจทำให้เกิดอาการเหล่านี้ในระยะเริ่มต้นของการติดเชื้อได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม อาการอื่น ๆ ของโรคโควิด-19 ก็มีความแตกต่างออกไปจากการติดเชื้อไข้เลือดออกเดงกี นั่นก็คือ อาการไอ หายใจหอบ สูญเสียการรับรู้รสหรือกลิ่น เจ็บคอ คัดจมูก น้ำมูกไหล และท้องเสีย และที่สำคัญคือยุงไม่ใช่พาหะนำโรคที่ก่อให้เกิดหวัด หรือโรคโควิด-19 หากแต่เกิดจากการสัมผัสบุคคลที่มีเชื้อไวรัส
โรค / อาการ | ไข้เลือดออกเดงกี | ชิคุนกุนยา | ไข้ซิก้า | มาลาเรีย | ไข้หวัดใหญ่ | โควิด-19 |
ระยะเวลาเริ่มแสดงอาการ | 2-14 วันหลังจาก ถูกยุงกัด |
3-7 วันหลังจาก ถูกยุงกัด |
3-14 วันหลังจาก ถูกยุงกัด |
7-30 วันหลังจาก ถูกยุงกัด |
1-4 วันหลัง สัมผัสเชื้อ |
2-14 วันหลัง สัมผัสเชื้อ |
ไข้ | ||||||
ปวดศีรษะ | ||||||
ปวดข้อ | ||||||
ปวดกล้ามเนื้อ | ||||||
ผื่นคัน | ||||||
อ่อนล้า | ||||||
คลื่นไส้และอาเจียน | ||||||
หนาวสั่น | ||||||
ข้อบวม | ||||||
เยื่อบุตาอักเสบ |
จากข้อมูลข้างต้น แม้โรคเหล่านี้จะมีอาการแสดงที่เหมือนกัน แต่ความรุนแรงก็แตกต่างกันไปในแต่ละโรค ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะวินิจฉัยโรคด้วยตัวเอง หากเรามีอาการเหล่านี้และคิดว่าอาจเป็นไข้เลือดออกเดงกี ให้รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจยืนยันว่าเป็นไข้เลือดออกเดงกีหรือเกิดจากโรคอื่น เพื่อการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่