โรคเบาหวานเป็นโรคที่อยู่คู่กับคนเรามานาน และมีแนวโน้มที่จะมีอุบัติการณ์สูงขึ้น ทั้งในแง่ของผู้ป่วยที่เป็นโรค และในแง่ของภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรค สำหรับภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคเบาหวาน มักจะเกิดจากการที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง จนทำให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกายผิดปกติ
ในรายงานการสำรวจทางระบาดวิทยาช่วงต้นปี 2023 ประมาณการจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน อยู่ที่ 537 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนดังกล่าวจะพบผู้ที่มีแผลเท้าเบาหวานร่วมด้วยถึง 19 - 34% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละปี รวมทั้งที่น่าสนใจ คือ อายุเฉลี่ยที่ผู้ป่วยตรวจพบเบาหวานมีแนวโน้มลดลงอีกด้วย หนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยเบาหวาน คือภาวะแผลเท้าเบาหวาน
หลายๆ คนอาจจะเข้าว่า แผลเบาหวานสามารถเกิดขึ้นได้เองที่บริเวณเท้า ในผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลได้ไม่ดี แต่แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น แผลในผู้ป่วยเบาหวานเกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับคนอื่นๆ ทั่วไป โดยมักจะเกิดจากอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ เช่น ของมีคม หรือ การกระทบกระแทก
แผลเบาหวาน สามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่บริเวณที่พบบ่อยและมีความสำคัญ คือ บริเวณเท้า เนื่องจากเป็นบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และบางครั้งผู้ป่วยเบาหวานมักมีรูปเท้าผิดปกติ รวมทั้งเมื่อมีแผลเกิดขึ้นแล้ว แผลมีโอกาสหายช้ากว่าบริเวณอื่นๆ
ในผู้ป่วยเบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี จะทำให้เกิดความผิดปกติต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบประสาท หรือระบบภูมิคุ้มกัน สิ่งที่มักจะพบในผู้ป่วยเบาหวานที่มีแผลที่เท้า คือ อาการเท้าชา ซึ่งเกิดจากการความผิดปกติของระบบประสาทส่วนปลาย ทำให้เมื่อมีอุบัติเหตุที่บริเวณเท้าผู้ป่วยจึงไม่รู้สึกเจ็บ กว่าจะทราบว่ามีแผลเกิดขึ้นเวลาก็ล่วงเลยมาแล้ว
นอกจากนี้ความผิดปกติของระบบประสาทยังอาจทำให้เกิดการผิดรูปของเท้า ซึ่งส่งผลต่อการลงน้ำหนักและการเดินที่ผิดปกติ ทำให้เกิดแผลจากแรงกดทับที่จุดใดจุดหนึ่งมากเกินไป
นอกจากนี้บาดแผลยังถูกซ้ำเติมด้วยการติดเชื้อ และภาวะหลอดเลือดส่วนปลายตีบตัน แผลเบาหวานติดเชื้อ ทำให้ออกซิเจนและสารอาหารต่างๆ ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่เพียงพอ เกิดการลุกลามของการที่เนื้อเยื่อขาดเลือดและการติดเชื้อ ทำให้นอกจากแผลจะหายยากแล้ว แผลยังลุกลามมีขนาดใหญ่มากขึ้นอีกด้วย
ดังที่ได้กล่าวไปก่อนหน้าว่าผู้ป่วยเบาหวานมักจะมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้การต่อสู้กับการติดเชื้อได้น้อยกว่าคนปกติ ดังนั้นหากเกิดบาดแผลติดเชื้อโดยเฉพาะบาดแผลที่ได้รับการวินิจฉัยล่าช้า อาจจะทำให้การติดเชื้อลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดและอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
แม้ว่าจะสามารถรักษาการติดเชื้อได้ทันท่วงที ในหลายกรณีผู้ป่วยก็อาจจะต้องเผชิญกับการสูญเสียอวัยวะ ถ้าโชคดีมารับการรักษาเร็ว อาจสูญเสียเพียงแค่นิ้วหรือบางส่วนของเท้า แต่หากมารับการรักษาช้าอาจจะหมายถึงการต้องสูญเสียขา จนต้องใช้อวัยวะเทียมเลยทีเดียว
แม้ว่าโรคเบาหวาน และแผลเบาหวานที่เท้าจะดูน่ากลัว แต่ในปัจจุบันความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์เกี่ยวกับการดูแลรักษาโรคเบาหวานค่อนข้างก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ทำให้การรักษาแผลเบาหวานในปัจจุบันมีอัตราการตัดขาเหนือข้อเท้า (Major amputation) ลดลงเรื่อยๆ แต่วิธีที่ดีที่สุดในการดูแลรักษาก็ยังคงเป็นการป้องกันและการเข้ารับการรักษาตั้งแต่อาการยังไม่รุนแรง
เริ่มตั้งแต่เข้ารับการตรวจประเมินเรื่องเบาหวานและระดับน้ำตาลอย่างสม่ำเสมอเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม นอกจากนี้ผู้ป่วยยังจะได้รับการประเมินภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น ภาวะจอประสาทตาเสื่อมจากเบาหวาน ภาวะไตเสื่อมจากเบาหวาน ภาวะปลายประสาทเสื่อมและเท้าชา รวมทั้งได้รับการตรวจประเมินเท้า หากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นแล้วผู้ป่วยจะได้รับการดูแลและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด
หากท่านเป็นผู้ป่วยเบาหวาน และพบว่ามีแผลที่เท้า หรือบริเวณใดของร่างกาย ไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรเข้าพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เนื่องจากบาดแผลของท่านจัดว่าเป็นบาดแผลที่มีความเสี่ยงสูง มีโอกาสที่แผลจะลุกลามหรือทวีความรุนแรงได้อย่างรวดเร็ว
ถ้าแผลมีเนื้อตายหรือการติดเชื้อ แพทย์อาจจำเป็นต้องตัดแต่งเนื้อตายและระบายการติดเชื้อ รวมถึงอาจจำเป็นต้องได้รับยาฆ่าเชื้อ ปัจจุบันเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับรักษาแผลเบาหวานมีมากขึ้น ทั้งอุปกรณ์ทำแผลขั้นสูง และการรักษาด้วยออกซิเจนเเรงดันบรรยากาศสูง (Hyperbaric Oxygen Therapy) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะช่วยลดระยะเวลาการรักษาแผล และช่วยลดความเสี่ยงที่จะต้องสูญเสียอวัยวะโดยไม่จำเป็นลงได้
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่