eSports เทรนด์ใหม่ที่พ่อแม่ควรทำความเข้าใจ

eSports เทรนด์ใหม่ที่พ่อแม่ควรทำความเข้าใจ

HIGHLIGHTS:

  • eSports เป็นกิจกรรมที่นั่งกับที่ ออกแรงแค่กล้ามเนื้อที่นิ้ว มือ และแขนเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่ถูกจัดให้เป็นกีฬาเพราะเหตุผลที่ต้องมีการพัฒนาทักษะด้านใดด้านหนึ่งจนเชี่ยวชาญ
  • ปัญหาสุขภาพที่ตามมาของนักกีฬา eSports คือ ปัญหาสายตา ปวดหลัง ข้อมือ ไหล่ ปัญหาในการนอนทั้งนอนไม่พอและนอนไม่หลับ และในระยะยาวทำให้เกิดโรคเรื้อรังเช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด เบาหวาน และ Metabolic Syndrome ได้
  • พ่อแม่ที่มีลูกอยากเป็นนักกีฬา eSports ต้องทำความเข้าใจกับข้อเสียด้านสุขภาพ พัฒนาการ สังคม ที่จะเกิดขึ้น ควรดูแลลูกอย่างถูกต้องและใกล้ชิด เพื่อให้ลูกได้ประโยชน์จากการทำกิจกรรมนี้

ในยุคดิจิตัล 4.0 เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีมีส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตของเราทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะทำอะไร เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทในการช่วยอำนวยความสะดวกแทบทั้งสิ้น เด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กตั้งแต่ Gen Z (ช่วงราวๆ ยุคเปลี่ยนผ่านสหัสวรรษ ก่อนปี ค.ศ.2000 เล็กน้อย ช่วงนั้นคงไม่มีใครไม่เคยได้ยินคำว่า Y2K) มีความคุ้นเคยกับอุปกรณ์การสื่อสารที่ทันสมัยกันตั้งแต่แรกเกิดที่ถูกถ่ายรูปแชร์บน social media เลยก็ว่าได้ และเมื่อเติบโตขึ้น ก็อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาตลอด เราจึงเห็นว่าในยุคปัจจุบันทั้งเด็กและผู้ใหญ่จึงแทบจะ “ขาด” smart phone/ tablet/ computer กันไม่ได้เลย และสิ่งหนึ่งที่เกิดมาพร้อมๆ กับอุปกรณ์การสื่อสารที่ทันสมัย คือ อุตสาหกรรมการผลิตเกมออนไลน์ที่สามารถ download มาไว้บน smart phone/ tablet/ computer อย่างง่ายดาย และตราบใดที่เข้าถึง Internet ผู้เล่นสามารถแข่งขันกับคนที่อยู่ที่ใดบนโลกผ่านอุปกรณ์เหล่านี้ได้

ความนิยมในการเล่นเกมออนไลน์แพร่หลายและขยายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว จนในที่สุดก็ถูกผลักดันให้เกิดเป็น World eSports Association ในปี 2016 มีการจัดแข่งขันระดับโลกที่เรียกกันว่า eSports (electronic sports: live computer game competition) โดยทำการแข่งขันใน arena ใหญ่ๆ มีแฟนๆ ผู้ติดตามมาคอยเชียร์ไม่ต่างจากการแข่งขันกีฬาระดับโลกอื่นๆ ที่เราคุ้นเคย ซึ่งเป็นการสร้างเม็ดเงินมหาศาลให้แก่อุตสาหกรรมนี้

eSports ดูจะมีรูปแบบที่ต่างจากกีฬาที่เราเคยรู้จักอย่างสิ้นเชิง เพราะแทนที่จะมีการฝึกฝน การขยับเคลื่อนไหวร่างกายให้มีความคล่องตัว กลับกลายเป็นกิจกรรมที่นั่งกับที่ ออกแรงแค่กล้ามเนื้อที่นิ้ว มือ และแขนเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่ถูกจัดให้เป็นกีฬาเพราะเหตุผลที่ต้องมีการพัฒนาทักษะด้านใดด้านหนึ่งจนเชี่ยวชาญ

ด้วยเหตุที่มีเม็ดเงินสะพัดอย่างมากมายในวงการ eSports  (เป็นหมื่นล้านบาทต่อปี) และนักกีฬาที่มีความสามารถ จะได้รับเงินเดือนและเงินรางวัลเป็นจำนวนมหาศาล eSports จึงเป็นที่น่าดึงดูดสำหรับเด็กรุ่นใหม่ยิ่งนัก และเป็นความฝันของเด็กและวัยรุ่นหลายคนที่หลงใหลในการเล่นเกมออนไลน์ ว่าการเล่นเกมสามารถทำเป็นอาชีพและสร้างเงินก้อนโตได้ จึงเป็นข้ออ้างที่ดีที่จะขอให้พ่อแม่สนับสนุนการเล่นเกม

แต่เหรียญมี 2 ด้านฉันใด ทุกสิ่งอย่างในโลกก็มีทั้งด้านสว่างและด้านมืดฉันนั้น eSports ก็เช่นกัน ผลลัพธ์คือรายได้มหาศาลที่เกิดจากมีอาชีพเป็นนักกีฬา esports นั้น ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ และไม่ได้เกิดกับทุกคนที่ชอบเล่น eSports แต่ต้องเกิดจากการฝึกฝนอย่างหนักไม่ต่ำกว่าวันและ 8 ชั่วโมงทุกวัน เพื่อให้ร่างกายเกิดความชำนาญต่อการเล่นเกม รวมไปถึงต้องคอยติดตามการ update เกมต่างๆ เพื่อให้ตนเองมีความทันสมัยและควบคุมเกมได้อย่างดีที่สุดตลอดเวลา ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา จะมีคนที่สามารถไปถึงจุดสูงสุดได้มีเพียงแค่ 1 ในล้านคนเท่านั้น

ดังนั้น หากพ่อแม่เริ่มคิดอยากให้ลูกเป็นนักกีฬา eSports ต้องทำความเข้าใจกับข้อเสียที่เกิดขึ้นได้จากการทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างหนักนั้น ไม่ว่าจะเป็น

1.ผลด้านสุขภาพ

ด้วยเหตุที่ต้องนั่งกับที่ จ้องหน้าจอ และเล่นเกมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 8 ชม./วัน ปัญหาสุขภาพที่ตามมาย่อมเลี่ยงไม่พ้น ปัญหาสายตา ปวดหลัง/ ข้อมือ/ ไหล่ (เช่นที่พบใน Office Syndrome) ความเครียดที่เกิดจากการจดจ่อกับกิจกรรมนั้นๆ เป็นเวลานาน ปัญหาในการนอนทั้งนอนไม่พอและนอนไม่หลับ และด้วยลักษณะกิจกรรมแบบนั่งนานๆ ไม่ค่อยขยับเขยื้อนร่างกาย (Sedentary lifestyle) ในระยะยาวก็ทำให้เกิดโรคเรื้อรังเช่น  โรคหัวใจ  โรคหลอดเลือด เบาหวาน และ Metabolic Syndrome ได้เช่นกัน

2. ผลด้านพัฒนาการ

จากข้อมูลที่ผ่านมา นักกีฬา eSports ที่มี performance ดี มักอยู่ในช่วงอายุ 19-25 ปี ซึ่งกว่าจะมาเป็นนักกีฬาได้ ต้องผ่านการฝึกฝนอย่างหนักมาก่อนหน้านี้ หมายความว่าต้องเริ่มเล่นเกมอย่างหนักมาตั้งแต่อายุน้อยกว่า 18 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ควรพัฒนาทักษะพื้นฐานต่างๆ ในการดำรงชีวิต เช่น การพัฒนาสติปัญญาซึ่งเกิดจากประสบการณ์ที่หลากหลายที่เด็กแต่ละคนได้เจอ ความรับผิดชอบต่อกิจวัตรส่วนตัว และงานส่วนรวม การศึกษาเล่าเรียนความรู้พื้นฐานเพื่อการดำรงชีวิต ทักษะทางสังคม และทักษะการเอาตัวรอด แม้ยังไม่มีงานวิจัยที่ชัดเจนออกมาให้เห็นถึงผลกระทบของ eSports ในด้านนี้ ก็ไม่ยากที่จะคาดการณ์ว่าเด็กน้อยกว่า 18 ปี ที่ทุ่มเทฝึกฝนเล่นเกมอย่างหนักมากกว่า 8 ชม./วัน เพื่อเป็นนักกีฬา eSports จะขาดทักษะด้านใดไปบ้าง

3. ผลด้านสังคม

แม้ว่านักกีฬา eSports จะได้รับการยอมรับอย่างสูงจากคนในวงการ แต่ด้วยลักษณะการฝึกฝน ทำให้มีโอกาสเจอผู้คนตัวเป็นๆ น้อยลง ใช้เวลาร่วมกับคนจริงๆ ในสังคมน้อยลง ซึ่งอาจกระทบต่อทักษะการปรับตัวในการอยู่ร่วมกันในสังคมกับผู้อื่น

4. ความก้าวร้าวรุนแรง

พบว่าเกมที่เล่นเป็น eSports แบ่งเป็นหลายระดับขั้นอายุ และมีไม่น้อยที่เป็นเกมการต่อสู้ที่รุนแรง ซึ่งการเล่นจนคุ้นชิน สามารถทำให้เกิดความรู้สึกเพิกเฉยต่อความรุนแรงได้ และมีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมรุนแรงโดยไม่รู้ตัว

5. ผลด้านการเงิน

จริงอยู่ว่าหากประสบความสำเร็จ สามารถเป็นนักกีฬา eSports ที่มีชื่อเสียงได้ จะมีรายได้มหาศาล แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น ต้องมีการลงทุนกับอุปกรณ์และอุปกรณ์สนับสนุนในการเล่นอย่างน้อยหลักหมื่นถึงแสนบาท และมีเพียง 1 ในล้านคนเท่านั้น ที่ลงทุนฝึกฝนแล้วประสบความสำเร็จในอาชีพ และหากเป็นนักกีฬา eSports ที่ประสบความสำเร็จได้จริง ต้องคำนึงว่าช่วงอายุที่สามารถทำเงินได้จากการเล่น eSports อาจไม่นาน หากปลดระวางแล้ว จะหาอาชีพใดรองรับ

6. เสียเวลา

ซึ่งหากผลของการฝึกฝนไม่ประสบความสำเร็จ นอกจากผลเสียข้างต้นที่เด็กจะได้รับแล้ว ยังเป็นการเสียเวลาและโอกาสในชีวิตไปอย่างมากมายโดยเราไม่สามารถเรียกกลับคืนได้

เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบด้านมืดข้างต้นแล้ว ดูจะไม่คุ้มค่านักที่จะให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ฝึกฝนอย่างหนักเพื่อเป็นนักกีฬา eSports อย่างไรก็ตาม ในยุคนี้คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เด็กๆ จะสัมผัสกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์, Internet, Social media และเกมออนไลน์ และปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งเหล่านี้ก็มีข้อดีมากมายต่อชีวิตประจำวัน แต่พ่อแม่ควรศึกษาถึงผลดีผลเสียของการใช้สื่อต่างๆ รวมถึงคำแนะนำการใช้สื่อ เช่นคำแนะนำของ   เพื่อให้ได้ประโยชน์ในการใช้สิ่งเหล่านี้อย่างสูงสุดโดยไม่เกิดโทษ หลักการง่ายๆ คือพ่อแม่ควรมีสติในการใช้สื่อเหล่านี้กับเด็กๆ ใช้ในวัยที่เหมาะสม จำกัดเวลาในการใช้ เลือกเนื้อหาที่เหมาะสมกับวัย และไม่ลืมที่จะส่งเสริมทักษะพื้นฐานต่างๆ ที่มีความจำเป็นในระยะยาวต่อเด็กๆ

ส่วนกรณีที่เด็กมีความชอบอย่างจริงจังที่จะพัฒนาตนเป็นนักกีฬา eSports เด็กควรมีความเข้าใจในข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นกับตน และโตพอที่จะพิจารณาผลดีและผลเสียที่เกิดขึ้น เพื่อตัดสินใจด้วยตนเอง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?