ช่วงเทศกาลต่างๆ เป็นช่วงเวลาที่หลายคนรอคอย เพราะนอกจากจะได้ไปท่องเที่ยว แล้ว บางคนก็ถือโอกาสนี้เดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปใช้เวลากับคนในครอบครัว แต่ในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดแพร่กระจาย เราก็อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น โดยเฉพาะบ้านที่มีทั้งเด็กและผู้สูงอายุ แล้วจะต้องเตรียมความพร้อมอย่างไรเพื่อให้ทุกคนในบ้านท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย
ช่วงปีใหม่เป็นช่วงที่ตรงกับฤดูหนาว ซึ่งนอกจากอากาศจะเย็นลงแล้ว ยังส่งผลให้โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจแพร่ระบาดมากขึ้น โดยเฉพาะโรค RSV (Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจที่ทำให้หลอดลมอักเสบและปอดอักเสบ โดยโรคนี้เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นกับเด็กและมีอาการรุนแรง ที่สำคัญ RSV เป็นโรคที่ไม่มียารักษาให้หายขาด ทำได้เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น ซึ่งจากสถิติพบว่า เด็กที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนกว่า 1 ใน 3 ราย เมื่อติดเชื้อ RSV จะต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล และ 5-10% ต้องนอนรักษาตัวในไอซียู
ดังนั้น ในกรณีที่ลูกหลานมีอาการเจ็บป่วยทั่วไปในระหว่างที่เดินทางท่องเที่ยว เช่น ตัวร้อน มีไข้ มีน้ำมูก ผู้ปกครองสามารถดูแลเบื้องต้นได้ โดยการใช้น้ำเกลือล้างจมูกและให้เด็กดื่มน้ำสะอาดเยอะๆ หรือถ้ามีไข้ก็ให้รับประทานยาพาราเซตามอล และเช็ดตัวอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดไข้ รวมถึงการดื่มน้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งก็สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอและละลายเสมหะได้ แต่ถ้ารักษาตามอาการแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
และเนื่องจากเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องเสริมภูมิคุ้มกันให้กับเด็กในด้านต่างๆ และควรให้เด็กๆ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมถึงให้เด็กสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่นอกบ้านและล้างมือบ่อยๆ เพื่อความปลอดภัย
นอกจากโรคภัยไข้เจ็บแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรระมัดระวังในการพาลูกไปเที่ยวในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาวก็คือ การเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะอุบัติเหตุบนท้องถนน ดังนั้น เด็กๆ จึงควรนั่งอยู่ในคาร์ซีทมากกว่านั่งอยู่บนตักของพ่อแม่ เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน คาร์ซีทจะสามารถช่วยลดแรงกระแทกและลดความรุนแรงจากผลกระทบที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นกับเด็กได้
ซึ่งวิธีนั่งคาร์ซีทที่ถูกต้องสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ ที่สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (AAP) แนะนำก็คือ ต้องหันคาร์ซีทไปด้านหลัง โดยให้เด็กหันหลังเข้าหน้ารถ และหันหน้าเข้าหลังรถ เมื่อเกิดอุบัติเหตุหรือมีการเบรกอย่างรุนแรง เด็กจะโน้มตัวไปด้านหลัง ซึ่งคาร์ซีทจะช่วยลดอาการบาดเจ็บช่วงกระดูกสันหลังคอได้ เพราะมีซัพพอร์ทที่คอ ตำแหน่งที่ควรติดตั้งคาร์ซีทคือ บริเวณเบาะหลัง เพราะถ้าหากวางคาร์ซีทไว้ที่เบาะหน้า เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ถุงลมนิรภัยที่อยู่เบาะหน้าอาจก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กได้ เมื่อโตขึ้นจนถึงอายุ 4-7 ปี จึงเปลี่ยนมาเป็นบูสเตอร์ซีท เพื่อรองรับสรีระของเด็กที่ขยายใหญ่ขึ้น และเมื่อเด็กมีน้ำหนักมากกว่า 35 กิโลกรัม จึงค่อยเปลี่ยนมาคาดเข็มนัดนิรภัยเหมือนผู้ใหญ่
ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจสุขภาพเบื้องต้นก่อนออกเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางที่ใช้เวลานาน ระยะทางไกล และต้องมีการออกแรง เช่น ต้องมีการเดินมากกว่าปกติ หรือไปในที่ๆ มีสภาพอากาศไม่เหมือนกับบ้านเรา เพื่อเช็กว่าร่างกายมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน สำหรับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้วควรขอคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพระหว่างการท่องเที่ยว เช่น
การโดยสารรถยนต์หรือเครื่องบินเป็นเวลานานๆ สำหรับผู้สูงอายุ อาจเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในเส้นเลือดดำบริเวณขา เกิดเป็นโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำระดับลึก (DVT : Deep Venous Thrombosis) โดยผู้สูงอายุที่เป็นโรคนี้จะมีอาการขาบวม เนื่องจากลิ่มเลือดไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือด และมีโอกาสที่ลิ่มเลือดจะหลุดลอยผ่านห้องหัวใจไปอุดตันที่หลอดเลือดในปอด ซึ่งอาจทำให้ปอดและหัวใจล้มเหลวได้
แต่เราสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนี้ได้ด้วยการปรึกษาแพทย์ก่อนออกเดินทาง โดยแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาแอสไพรินขนาดต่ำในวันเดินทาง และสวมถุงน่องรัดขาแบบยืดหยุ่น นอกจากนี้ การใส่เสื้อผ้าที่สบายๆ ไม่คับจนเกินไป งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการนั่งไขว่ห้างนานๆ รวมถึงการพยายามเคลื่อนไหวง่ายๆในขณะที่อยู่บนยานพาหนะ เช่น เขย่งปลายเท้าขึ้นลงซ้ำๆ หรือนั่งเหยียดขาและกระดกข้อเท้าขึ้นลง ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันได้
ผู้สูงอายุที่มีภาวะข้อเสื่อม น้ำหนักน้อยหรือมากเกินเกณฑ์ปกติ มวลกล้ามเนื้อน้อยและไม่แข็งแรง ป่วยเป็นโรคทางระบบประสาท เช่น หลอดเลือดสมองตีบหรือแตก สมองเสื่อม พาร์คินสัน ภาวะอารมณ์แปรปรวนหรือซึมเศร้า ปลายประสาทชาจากเบาหวาน หรือกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาท จะมีความเสี่ยงต่อการหกล้มมากกว่าผู้สูงอายุในวัยเดียวกัน นอกจากนี้ การใช้ยาบางประเภท เช่น ยานอนหลับ ยาคลายกล้ามเนื้อ ก็อาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และทำให้ผู้ใช้หกล้มได้ง่าย ดังนั้น ทางที่ดี เราจึงควรเตรียมพร้อมให้กับผู้สูงอายุก่อนการเดินทาง ดังนี้
ผู้สูงอายุมักมีภูมิต้านทานในร่างกายต่ำกว่าวัยอื่นๆ ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดต่อสำหรับผู้สูงอายุจึงมีความจำเป็น ซึ่งวัคซีนที่ผู้สูงอายุจำเป็นต้องฉีด ได้แก่ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งทำให้เกิดโรคปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือติดเชื้อในกระแสเลือด รวมถึงอาจต้องฉีดวัคซีนพิเศษเพิ่มเติมหากเดินทางไปยังบางประเทศ ข้อมูลวัคซีนสำหรับการเดินทางไปประเทศต่างๆสามารถค้นหาเพิ่มเติมได้ที่เว็ปไซด์ Travelers’ Health ของ CDC
นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีโรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดและส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุมากกว่าวัยอื่นๆ ซึ่งข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (CDC) พบว่า ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในวัย 60 และ 70 ปี มักมีอาการรุนแรงมากกว่าผู้ที่ติดโควิดในวัย 50 ปี ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่า 85 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิดมากที่สุด และอัตราเสี่ยงก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อบุคคลนั้นมีโรคประจำตัว ดังนั้น ก่อนการเดินทาง ผู้สูงอายุจึงควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ครบตามกำหนด เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายและลดโอกาสที่นำเชื้อมาเผยแพร่ให้กับคนในครอบครัว
การเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพที่รัดกุมและครอบคลุมก่อนการเดินทาง แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ซึ่งถ้าเราทำได้ ทริปท่องเที่ยวต่างๆ นั้นก็จะเป็นทริปที่เต็มไปด้วยสุขสนุกสนานและปลอดภัยสำหรับทุกคนในครอบครัวแน่นอน
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่