ไขมันพอกตับ ไม่อ้วนก็เป็นได้

ไขมันพอกตับ ไม่อ้วนก็เป็นได้

Highlights:

  • โรคไขมันพอกตับ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่สามารถนำไปสู่ภาวะตับแข็ง หรือมะเร็งตับได้  มักตรวจพบจากค่าการทำงานของตับ หรือระดับเอนไซม์ตับที่สูงขึ้นจากการตรวจสุขภาพ หรือจากการตรวจเลือดเพื่อหาภาวะอื่นๆ
  • ไฟโบรสแกน เป็นเทคโนโลยีที่ใช้แทนการตรวจชิ้นเนื้อตับเพื่อหาปริมาณไขมันและพังผืดในตับ ซึ่งตรวจง่าย ได้ผลเร็วโดยไม่ได้รับความเจ็บปวดใดๆ 
  • หากหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักและโรคประจำตัว รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้พลังงานต่ำ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถช่วยลดไขมันในตับและการอักเสบได้ รวมถึงฟื้นฟูความเสียหายของตับในระยะเริ่มต้นได้

ตับเป็นอวัยวะสำคัญมีหน้าที่ในการดำรงชีวิตหลายอย่าง เช่น 

  • ผลิตน้ำดีซึ่งช่วยในการย่อยอาหาร
  • สร้างโปรตีนให้กับร่างกาย เก็บสะสมธาตุเหล็กและวิตามินต่างๆ เปลี่ยนสารอาหารให้เป็นพลังงาน
  • สร้างสารที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว (เกาะตัวกันเพื่อรักษาบาดแผล)
  • รวมถึงช่วยต่อต้านการติดเชื้อ โดยการสร้างภูมิคุ้มกันและกำจัดแบคทีเรียและสารพิษออกจากเลือด
  • การกำจัดสารพิษและยาต่างๆ 

ไขมันพอกตับ คืออะไร

ไขมันพอกตับ คือภาวะการสะสมไขมันในตับที่มากเกินไป คือ มากกว่า 5% ของน้ำหนักตับ จะทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งนำไปสู่การเกิดตับอักเสบ ตับแข็งและมะเร็งตับได้ในที่สุด 

ปกติร่างกายใช้ไขมันเป็นแหล่งพลังงาน ซึ่งมาจาก 2 แหล่งใหญ่ๆ คือหน้าท้องและตับ ไขมันที่ตับนับเป็นแหล่งพลังงานใหญ่ที่สุด หากเกิดการสะสมของไขมันที่ตับมากๆ จะส่งผลให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้เป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับ  ได้ในที่สุด 

จะรู้ได้ยังไงว่าเป็นไขมันพอกตับ (Fatty liver disease)

ปกติตับที่แข็งแรงจะมีไขมันเพียงเล็กน้อย หากตรวจพบไขมันในตับประมาณ 5-10% ของน้ำหนักตับ ถือว่ามีภาวะไขมันพอกตับ 
โรคไขมันพอกตับส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาร้ายแรง หรือส่งผลต่อการทำงานของตับ แต่พบว่า 7- 30% ของผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับจะมีอาการแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป เกิดการอักเสบและมีพังผืดเกิดขึ้นภายในตับ ส่งผลให้มีการดำเนินโรคที่มากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน เป็นต้น 

ไขมันพอกตับ มีกี่ระยะ

โดยภาวะไขมันพอกตับ แบ่งได้เป็น 4 ระยะ ดังนี้  

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะการสะสมไขมันในตับ ยังไม่มีอาการหรือการอักเสบเกิดขึ้นในตับ มักตรวจพบโดยบังเอิญ หรือจากการตรวจสุขภาพ
  • ระยะที่ 2 เป็นระยะที่มีการอักเสบของตับ เซลล์ตับได้รับความเสียหาย ค่าการทำงานของตับจากผลเลือดผิดปกติ หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเรื้อรังและมีพังผืดเกิดขึ้นได้
  • ระยะที่ 3 เป็นระยะที่มีพังผืดภายในเนื้อตับและเส้นเลือดในตับ ในระยะนี้ตับยังสามารถทำงานได้ปกติ หากได้รับการรักษาที่สาเหตุ ก็จะสามารถหยุดการดำเนินโรคต่อไปได้
  • ระยะที่ 4 เป็นระยะตับแข็ง เนื่องจากตับได้รับความเสียหายถาวร เกิดเป็นพังผืดทั่วทั้งตับและกลายเป็นตับแข็ง ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะตับวายและมะเร็งตับได้

โดยแบ่งการดำเนินโรคได้ ดังนี้

  1. ตับอักเสบ (บวม) ซึ่งทำลายเนื้อเยื่อของตับ เรียกระยะนี้ว่าภาวะตับอักเสบ  (steatohepatitis)
  2. การอักเสบรุนแรงต่อเนื่อง เนื้อเยื่อแผลเป็นที่ตับได้รับความเสียหายจนเกิดเป็นพังผืด (fibrosis)
  3. เซลล์ตับถูกทำลายไปมาก เนื้อเยื่อแผลเป็นมีขนาดใหญ่จนตับไม่สามารถทำงานได้ปกติ เข้าสู่ภาวะตับแข็ง (cirrhosis of the liver) ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะตับวายและมะเร็งตับ 

สาเหตุของโรคไขมันพอกตับ

โรคไขมันพอกตับเกิดจาก 2 ปัจจัย คือ

  1. ไขมันพอกตับที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol  fatty liver disease) เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก (การดื่มในระดับมาตรฐานหมายถึงการดื่มไวน์วันละ 1 แก้ว สำหรับผู้หญิงและไม่เกิน 2 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชาย) ในสหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยไขมันพอกตับจากการดื่มประมาณ 5%
  2. ไขมันพอกตับที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ Non-alcohol related fatty liver disease (NAFLD) (Non-alcoholic fatty liver disease; NAFLD) เกิดขึ้นในผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะนี้ส่งผลต่อผู้ใหญ่ 1 ใน 3 คนและเด็ก 1 ใน 10 คนในสหรัฐอเมริกาพบอุบัติการณ์ในผู้ใหญ่ประมาณ 25-30% ของประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมด และในเด็กประมาณ 10%  

ปัจจัยเสี่ยงของโรคไขมันพอกตับ

ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แท้จริงของโรคไขมันพอกตับที่ไม่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ แต่พบว่าอาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง ดังนี้

  1. กลุ่มอาการอ้วนลงพุง (Metabolic syndrome) ซึ่งประกอบไปด้วยรอบเอวที่เกิน 90 ซม. ในผู้หญิง และ 100 ซม. ในผู้ชาย ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงมากกว่าหรือเท่ากับ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ระดับไขมันดี แอชดีแอลน้อยกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศชาย และน้อยกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศหญิง และน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่า 110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  2. โรคเบาหวาน โรคอ้วน และโรคไขมันสูง
  3. การรับประทานอาหารที่มีพลังงานสูงเป็นประจำ เช่น ไขมัน น้ำตาล แป้ง
  4. สตรีวัยหมดประจำเดือน
  5. ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 
  6. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาเคมีบำบัด ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยาต้านไวรัสบางชนิด

อาการของโรคไขมันพอกตับ

ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับมักไม่มีอาการทางร่างกาย หรือหากมีอาการก็อาจเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น 

  • อ่อนเพลีย 
  • คลื่นไส้เล็กน้อย 
  • รู้สึกปวดใต้ชายโครงขวา 

ดังนั้นการตรวจพบโรคไขมันพอกตับส่วนใหญ่จึงมักพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือ พบค่าการทำงานของตับผิดปกติ หรือ ตรวจพบจากการตรวจทางการแพทย์ด้วยสาเหตุอื่น ผู้ป่วยโรคไขมันพอกตับมักไม่มีอาการจนกว่าโรคจะลุกลามเป็นตับแข็ง
หรือมีอาการ ดังนี้  

  • ปวดท้องหรือรู้สึกอิ่มที่ด้านขวาบนของช่องท้อง
  • คลื่นไส้ เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลด
  • ผิวเหลืองและตาขาว (ดีซ่าน)
  • ท้องและขาบวม (บวมน้ำ)
  • รู้สึกเหนื่อยล้าหรือสับสน

การวินิจฉัยโรคไขมันพอกตับ

  1. การตรวจเลือด ในภาวะไขมันพอกตับระยะเริ่มต้น ค่าการทำงานของตับมีค่าปกติได้ แต่ในรายที่มีตับอักเสบจากไขมันพอกตับร่วมด้วย จะพบค่าการทำงานของตับผิดปกติ
  2. การตรวจอัลตร้าซาวด์ สามารถตรวจพบไขมันพอกตับได้ เมื่อมีการสะสมไขมันในตับมากกว่า 30% แต่ก็มีข้อจำกัดในรายที่มีผนังหน้าท้องหนา
  3. การตรวจชิ้นเนื้อตับ 
  4. การตรวจด้วยเครื่องไฟโบรสแกน (FibroScan) เนื่องจากโรคไขมันพอกตับมักไม่มีอาการ

แพทย์อาจตรวจพบระดับเอนไซม์ตับที่สูงขึ้น จากการตรวจเลือดเพื่อหาภาวะอื่นๆ ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติม ดังนี้ 

  • อัลตร้าซาวด์หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) เพื่อให้ได้ภาพตับ
  • การตรวจชิ้นเนื้อตับ (ตัวอย่างเนื้อเยื่อ) เพื่อระบุว่าโรคตับลุกลามไปมากน้อยเพียงใด
  • ไฟโบรสแกน (FibroScan) เป็นการตรวจหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ และตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ ซึ่งตรวจได้โดยง่าย ได้ผลเร็ว และไม่เกิดความเจ็บปวดใดๆ 

นอกจากนี้ยังสามารถช่วยการวินิจฉัยในรายที่มีพังผืดมากเสี่ยงต่อภาวะตับแข็งในระยะแรกๆ ได้ซึ่งเป็นอัลตร้าซาวด์พิเศษที่ใช้แทนการตรวจชิ้นเนื้อตับเพื่อหาปริมาณไขมันและเนื้อเยื่อแผลเป็นในตับ ซึ่งตรวจง่ายได้ผลเร็วโดยไม่ได้รับความเจ็บปวดใดๆ อีกทั้งยังสามารถช่วยวินิจฉัยผู้ที่เป็นตับแข็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก นอกจากนี้ยังสามารถติดตามผล และประเมินระดับความรุนแรงของตับแข็งและช่วยในการวางแผนรักษาไขมันพอกตับต่อไป

ผู้ที่ควรตรวจไฟโบรสแกน

  • ผู้ป่วยโรคตับที่มีผลเลือดค่าการทำงานตับ AST/ALT มากกว่า 1
  • ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี เรื้อรังทุกราย
  • ผู้ป่วยที่มีการดื่มแอลกอฮอล์ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
  • ผู้ที่รับประทานยา หรือสมุนไพร ต่อเนื่องเป็นเวลานาน
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งตับมากกว่าคนปกติ ถึง 4 เท่า
  • ภาวะอ้วนลงพุง โรคอ้วน
  • ผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับที่อายุมากกว่า 45 ปี
  • ผู้ป่วยไขมันพอกตับที่มีข้อห้าม หรือปฎิเสธการเจาะตับ
     

การรักษาโรคไขมันพอกตับ

ปัจจุบันไม่มียารักษาโรคไขมันพอกตับโดยเฉพาะ แต่มุ่งเน้นการปฏิบัติตัวปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่จะช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้น และ ลดไขมันพอกตับได้ ได้แก่ 

  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
  • ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หากมีน้ำหนักตัวมาก ควรลดน้ำหนักลง 7-10% โดยให้ค่อยๆ
  • ลดน้ำหนักลง เนื่องจากการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วอาจทำให้โรคไขมันพอกตับแย่ลงได้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150-200 นาทีต่อสัปดาห์ทั้งแบบแอโรบิค และแบบมีแรงต้าน
  • ควบคุมอาหาร โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่มีพลังงานสูงหรือน้ำตาลสูง เช่น อาหารประเภททอด เนื้อติดมัน ผลไม้ที่มีรสหวานและน้ำผลไม้ต่างๆ ขนมต่างๆ ให้รับประมาณที่มีกากใยสูง และพลังงานต่ำ เช่น ผักต่างๆ
  • หากเป็นเบาหวาน หรือ ไขมันในเลือดสูง ควรควบคุมโรคให้ดี ด้วยการรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือ สมุนไพรที่นอกเหนือจากแพทย์สั่ง
  • ในรายที่มีค่าการทำงานของตับผิดปกติ แพทย์อาจพิจารณาให้การรักษาด้วยยาเพื่อทำให้ผลเลือดกลับมาปกติได้ อย่างไรก็ตามยาเหล่านี้ยังไม่มีข้อมูลที่สามารถลดไขมันพอกตับได้ดี

ตับมีความสามารถในการซ่อมแซมตัวเองได้อย่างน่าทึ่งหากหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักและโรคประจำตัวซึ่งสามารถช่วยลดไขมันพอกตับ การอักเสบรวมถึงฟื้นฟูความเสียหายของตับในระยะเริ่มต้นได้โรคไขมันพอกตับไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่และส่วนใหญ่ไม่มีอาการ การดำเนินโรคค่อนข้างช้า 

การตรวจพบโรคไขมันพอกตับจึงมักพบเมื่อผู้ป่วยเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี หรือตรวจทางการแพทย์ด้วยเหตุผลอื่นๆ ซึ่งในบางรายอาจมีภาวะไขมันพอกตับมานานแล้วก็อาจตรวจพบในระยะตับแข็งไปแล้ว ดังนั้นหากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยภาวะไขมันพอกตับตั้งแต่เนิ่น ๆ และปฏิบัติตัวเพื่อลดโอกาสการเป็นไขมันพอกตับ รวมไปถึงภาวะแทรกซ้อนต่างๆ จากไขมันพอกตับด้วย 

*โปรดระบุ

ชื่อ*
ชื่อ*
นามสกุล*
นามสกุล*
หมายเลขประจำตัวผู้ป่วย
หมายเลขประจำตัวผู้ป่วย
ประเภทคำถาม*
ประเภทคำถาม*
คำถาม*
คำถาม*
อีเมล*
อีเมล*
other*
other*
คุณสามารถอัปโหลดข้อมูลต่างๆ เช่น เอกสารทางการแพทย์ หรือประวัติการรักษาล่าสุด และเอกสารอื่นๆ ได้ที่นี่ ซึ่งไฟล์จะต้องมีขนาดไม่เกิน 10 MB.
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?