ดูแลให้ถูกวิธี สมองดี ไม่มีเสื่อม

ดูแลให้ถูกวิธี สมองดี ไม่มีเสื่อม

HIGHLIGHTS

  • ปัจจุบันประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้คนมีอายุขัยยืนยาวขึ้น เมื่ออายุมากขึ้น การสร้างสารเคมีในสมองจะลดลง เกิดภาวะทางอารมณ์ที่ถดถอย และโรคทางระบบประสาท เช่น สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง การตรวจคัดกรองหาความเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคทางสมอง จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย
  • สมองเป็นอวัยวะที่มีการทำงานซับซ้อน จึงต้องใช้การตรวจหลายวิธีเพื่อประเมินสุขภาวะสมอง โดยการตรวจในระดับสารพันธุกรรม Genetic testing เป็นการตรวจเชิงลึก เพื่อหาระดับความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ในอนาคต
  • การจัดการทางด้านอารมณ์ให้อยู่ในภาวะที่เป็นสุข จัดการกับความตึงเครียดจากการงาน สภาพเหตุการณ์รอบตัวโดยการผ่อนคลายทางอารมณ์ หากิจกรรมยามว่างที่ชอบเพื่อผ่อนคลาย การพบปะเข้าสังคมพูดคุย (social engagement) ซึ่งสามารถป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้

ในปัจจุบันเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว คนมีอายุขัยยืนยาวขึ้น ในวัยที่ก้าวผ่านตามเวลา จะมีความถดถอยของสมองตามอายุ และโรคทางระบบประสาทที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เช่น สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน โรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงภาวะทางอารมณ์ที่ถดถอยในผู้สูงอายุก็มีส่วนมาจากการสร้างสารเคมีในสมองที่ลดลงตามอายุและโรคร่วมที่ผู้ป่วยมี จึงต้องให้ความสำคัญกับมีวิธีการดูแลตัวเองและผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่เกิดจากความเสื่อมตามอายุดังกล่าว 

รวมถึงการตรวจคัดกรองหาความเสี่ยงเพื่อป้องกัน ตรวจหาโรคในระยะแรกเริ่ม เพื่อให้การรักษาไม่ให้โรคลุกลามไปในระดับที่รุนแรงจนเกิดภาวะพึ่งพิงผู้อื่นหรือพิการได้ รวมถึงโรคทางสมองของคนวัยทำงาน มีกลุ่มโรคที่พบบ่อยเช่น ความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง 

สุขภาวะสมอง (Brain health)

สุขภาวะสมอง คือ ความสามารถการแสดงออกทั้งด้านการเคลื่อนไหว (movement) ด้านการเรียนรู้ การตัดสินใจ การใช้ภาษา การจดจำ (cognition)  การแสดงออก/การตอบสนองทางอารมณ์ (emotion, behavioral, social cognition) ได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัยนั้นๆ 

การตรวจค้นหาความเสี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดโรคทางสมอง

สมองเป็นอวัยวะที่มีการทำงานซับซ้อน จึงต้องใช้การตรวจหลายวิธีเพื่อประเมินสุขภาวะสมอง ค้นหาความเจ็บป่วยโรคทางสมอง โดยเฉพาะความเจ็บป่วยในระยะแรกเริ่ม เครื่องมือหรือวิธีการต่างๆ ในการตรวจวินิจฉัยความผิดปกติ 
รวมถึงการตรวจค้นหาความเสี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการเกิดโรคทางสมอง ตัวอย่างเช่น

  • แบบทดสอบความจำต่างๆ  เช่น mini-mental state examination (MMSE) , Montreal cognitive assessment (MoCA test),  digit span, Rey-Osterrieth complex figure test, trail making A and B, Stroop task, verbal fluency test, Boston naming test, and clock drawing test นอกจากจะสามารถบอกระดับความสามารถของสมอง ความจำ ยังสามารถบอกรายละเอียดของความผิดปกติได้ เช่น ความผิดปกติเรื่องตัวเลข ทิศทาง ความจำระยะสั้น เป็นต้น
  • การประเมินสภาวะทางอารมณ์ ความวิตกกังวล ความเครียด  เช่น PH-Q9, GDS, GAD-7 ซึ่งในปัจจุบันผู้ป่วยมักจะมีภาวะทางอารมณ์เข้ามารบกวน ทำให้ส่งผลต่อความจำได้ และเป็นสาเหตุที่ต้องแยกจากโรคทางกายด้วยเสมอ
  • การตรวจภาพวินิจฉัยสมองและหลอดเลือด  เช่น  MRI brain, MRA brain, carotid Doppler ultrasound, transcranial Doppler Ultrasound, CT brain, CTA brain สามารถบอกสุขภาพของเนื้อสมอง โครงสร้างของหลอดเลือด การไหลเวียนของเลือดแบบ real time
  • การตรวจการทำงานของสมอง เช่น  PET scan, Diffusion tensor imaging โดยบอกรายละเอียดของการทำงานในเชิงลึกของบางโรค เช่น พาร์กินสัน อัลไซเมอร์
  • การตรวจไฟฟ้าสมอง  electroencephalography ใช้วินิจฉัยแยกโรคลมชัก ช่วยบอกระดับการทำงานของสมอง
  • การตรวจสารชีวภาพ biomarker ที่เป็นของขยะของเสียในสมอง ซึ่งถ้าเกิดการสะสม ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อม เช่น tau protein, beta amyloid protein 
  • การตรวจในระดับสารบ่งพันธุกรรม Genetic testing เป็นการตรวจเชิงลึก เพื่อหาระดับความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ในอนาคต 

ซึ่งการตรวจคัดกรองในแต่ละประเภท จะให้ผลการตรวจที่เจาะลึกเฉพาะเรื่อง ในผู้ป่วยที่มีอาการผิดปกติ หรือสงสัยโรคทางสมอง สามารถปรึกษาอายุรแพทย์ระบบประสาทเพื่อให้การตรวจร่างกาย และเลือกการตรวจวินิจฉัยที่เหมาะสม และครอบคลุมกับโรคของผู้ป่วย ซึ่งการค้นหาความเสี่ยง และลดความเสี่ยงดังกล่าวสามารถชะลอและป้องกันการเกิดโรค รวมถึงการวินิจฉัยโรคในระยแรกเริ่ม สามารถรักษาให้ผู้ป่วยกลับมามีความสามารถตามเดิม ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ลดการพึ่งพิงผู้อื่น

ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมสุขภาวะสมองที่ดี ป้องกันสมองเสื่อม

  • อาหารที่ดี เน้นอาหารที่มีเส้นใยสูง ลดแป้ง/น้ำตาล ลดเกลือ รับประทานโปรตีนและดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอ >150 นาที/สัปดาห์ แบ่ง 3-5 วัน/สัปดาห์ ความหนักปานกลาง (moderate intensity aerobic exercise)
  • การพักผ่อนที่ดี โดยเป็นการนอนที่มีคุณภาพ หลับลึกและมีชั่วโมงการนอนที่เพียงพอ เพื่อให้สมองได้ซ่อมแซมและกำจัดของเสียออกจากสมอง 
  • งดสูบบุหรี่ 
  • จำกัดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์ โดยปริมาณแอลกอฮอล์ที่ไม่อันตรายต่อสมอง คือ ผู้ชายไม่เกิน  8 ยูนิต/สัปดาห์ ผู้หญิงไม่เกิน  6 ยูนิตต่อสัปดาห์ (แอลกอฮอล์ 1 ยูนิต  =  10 มิลลิลิตร หรือ 8 กรัมของ pure alcohol) 
  • การจัดการทางด้านอารมณ์ ให้อยู่ในภาวะที่เป็นสุข จัดการกับความตึงเครียดจากการงาน สภาพเหตุการณ์รอบตัวโดยการผ่อนคลายทางอารมณ์ หากิจกรรมยามว่างที่ชอบเพื่อผ่อนคลาย การพบปะเข้าสังคมพูดคุย (social engagement) ซึ่งสามารถป้องกันภาวะสมองเสื่อมอีกด้วย
  • อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ปลอดภัย ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ
  • รักษาระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด ระดับความดันโลหิตให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  • รักษาโรคร่วมหากมีโรคประจำตัว

7 คำแนะนำในการปฏิบัติตัว เพื่อส่งเสริมสุขภาพสมอง ป้องกันสมองเสื่อมก่อนวัย

  • งดสูบบุหรื่ (non-smoking)
  • ออกกำลังกาย (physical activity)
  • ทานอาหารที่มีประโยชน์ (healthy diet)
  • ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม (appropriate body mass index)
  • ควบคุมระดับความดันโลหิต (blood pressure)
  • ควบคุมระดับไขมัน (total cholesterol)
  • ควบคุมระดับน้ำตาล (blood glucose)

เราสามารถดูแลส่งเสริมสุขภาพสมองของเราให้มีสุขภาพดี ก่อนที่จะมีอาการป่วย เนื่องจากการที่มีสุขภาพสมองที่ดีเป็นปัจจัยตั้งต้นและส่งผลต่อเนื่องกับสุขภาพทางด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งสมองสุขภาพดี สามารถลดสุขภาพค่าใช้จ่ายทางด้านอื่นๆ ได้ด้วย

References

คะแนนบทความ