ภาวะมีบุตรยาก รักษาด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์

ภาวะมีบุตรยาก รักษาด้วยนวัตกรรมทางการแพทย์

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะมีบุตรยาก หมายถึง คู่สมรสที่มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอโดยไม่คุมกำเนิด แต่ไม่สามารถมีบุตรได้ภายในเวลา 1 ปี หรือระยะเวลา 6 เดือนในกรณีที่ฝ่ายหญิงมีอายุเกิน 35 ปี 
  • การรักษาภาวะมีบุตรยากขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบ โดยพยายามให้เกิดการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ  อย่างไรก็ตาม มีหลายสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้  จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง หรือการทำเด็กหลอดแก้ว ช่วยให้คู่สมรสมีบุตร
  • การตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์  สามารถคัดกรองและวินิจฉัยความผิดปกติของยีนด้อยได้กว่า 400 ยีน  ช่วยให้เด็กที่จะเกิดมามีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคลดลง กรณีตรวจพบความเสี่ยงโรคทางพันธุกรรม แล้วคู่สมรสยังต้องการมีบุตร แพทย์จะทำการคัดกรองตัวอ่อนที่ไม่มียีนผิดปกติ จากนั้นจึงนำเอาตัวอ่อนที่แข็งแรงใส่กลับเข้าไปยังมดลูก ช่วยให้คู่สมรสที่มีบุตรยาก มีโอกาสตั้งครรภ์ ที่ไม่ใช่ยีนผิดปกติ

ด้วยปีมะโรงหรือมังกรในความเชื่อของชาวจีนว่าเป็นปีมงคลที่สุด และเชื่อว่าเด็กที่เกิดในปีมังกรทองจะประสบความสำเร็จ ทั้งชื่อเสียงและเงินทอง คุณพ่อคุณแม่หลายคู่จึงวางแผนตั้งครรภ์เพื่อคลอดลูกให้ทันปีมังกรทอง  

แต่การวางแผนมีบุตรอาจไม่ง่ายสำหรับทุกคน เพราะนอกจากการวางแผนการตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม และการตรวจสุขภาพเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร อาจเจอปัญหาที่ซ่อนอยู่อย่างไม่คาดคิด นั่นคือภาวะมีบุตรยาก   

ภาวะมีบุตรยาก

ภาวะมีบุตรยาก หมายถึง คู่สมรสที่มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอโดยไม่คุมกำเนิด แต่ไม่สามารถมีบุตรได้ภายในเวลา 1 ปี หรือระยะเวลา 6 เดือน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงมีอายุเกิน 35 ปี 

สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก

ภาวะมีบุตรยากอาจเกิดจากความผิดปกติของผู้ชายหรือผู้หญิง หรือทั้งสองฝ่ายร่วมกัน 

สาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะมีบุตรยากในผู้หญิง

  • ฮอร์โมนผิดปกติ ส่งผลต่อการตกไข่
  • ท่อนำไข่ผิดปกติ อาจเกิดจากการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือจากการผ่าตัดอุ้งเชิงกราน   
  • ความผิดปกติของมดลูก และปากมดลูก ส่งผลให้อสุจิไม่สามารถเข้าไปผสมกับไข่ได้
  • ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัย
  • ปัญหาสุขภาพ โรคประจำตัว
  • ความเครียด ความวิตกกังวล  

สาเหตุที่พบได้บ่อยของภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย

  • จำนวนอสุจิน้อย และปัญหาอื่นๆ เกี่ยวกับตัวอสุจิ เช่น ความสามารถในการเคลื่อนที่ต่ำ ท่อนำน้ำเชื้ออุดตัน
  • มีปัญหาการหลั่งน้ำอสุจิ หรือหย่อนสมรรถภาพทางเพศ  
  • โรคทางพันธุกรรม ซึ่งส่งผลต่อการผลิตอสุจิ
  • หลอดเลือดดำภายในถุงอัณฑะโป่งพองทำให้มีผลต่อคุณภาพของน้ำอสุจิ
  • ภาวะฮอร์โมนผิดปกติ
  • โรคประจำตัว 
  • ทำงานหนัก ความเครียด

การรักษาภาวะมีบุตรยาก

การรักษาภาวะมีบุตรยากขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ตรวจพบและรักษาไปตามขั้นตอน โดยพยายามให้เกิดการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ  เช่น ให้ยากระตุ้นการทำงานของลูกอัณฑะ หาความผิดปกติของฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของรังไข่และพิจารณาผ่าตัดเนื้องอกที่มดลูก

อย่างไรก็ตาม มีหลายสาเหตุที่แก้ไขไม่ได้  จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์  ช่วยให้คู่สมรสมีบุตร ได้แก่  

  • การฉีดอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูกโดยตรง (intrauterine insemination: IUI)  เป็นวิธีการรักษาสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหามากนัก โดยการนำน้ำเชื้ออสุจิที่คัดแล้วฉีดเข้าไปผสมกับไข่ในร่างกายของฝ่ายหญิงที่ได้รับการกระตุ้นให้ไข่ตก ซึ่งวิธีนี้ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 2 สัปดาห์
  • การปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือเด็กหลอดแก้ว (in vitro fertilization: IVF) เป็นการรักษาภาวะมีบุตรยากที่รักษาจากสาเหตุไม่ได้ผลหรือหาสาเหตุไม่ได้ ใช้เวลาในการรักษาประมาณ 3 สัปดาห์

ซึ่งอัตราการตั้งครรภ์จากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ พบได้ประมาณ 30% อย่างไรก็ตามอัตราการตั้งครรภ์ขึ้นกับอายุของฝ่ายหญิง  รวมถึงโอกาสการตั้งครรภ์จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนรอบของการรักษา 

ตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์

การตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ เป็นการป้องกันโรคร้ายถ่ายทอดสู่ลูก โดยการตรวจพื้นฐานของผู้ชายและผู้หญิงไม่แตกต่างกัน แต่อาจมีการตรวจเพิ่มเติมในรายละเอียด ดังนี้

การตรวจเพิ่มเติมในผู้หญิง

  • ตรวจมะเร็งปากมดลูก (HPV+Thin Prep) 
  • ตรวจอัลตร้าซาวด์ช่องท้องส่วนล่าง เพื่อประเมินมดลูกและรังไข่ (TVS - Transvaginal Ultrasound)
  • ตรวจวัดระดับฮอร์โมน ความสมบูรณ์ของรังไข่ AMH - Anti-Mullerian Hormone
  • ตรวจท่อนำไข่ 

การตรวจเพิ่มเติมในผู้ชาย

  • ตรวจความสมบูรณ์ของเชื้ออสุจิ (Semen Analysis)
  • ตรวจฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone)
  • ตรวจค่า PSA วิเคราะห์มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate cancer)
  • ตรวจฮอร์โมนภายในต่อมหมวกไต (DHEA-S)

(อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :  https://www.samitivejhospitals.com/th/package/detail/pre-marital-screening-svh)

ตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์

นอกจากการตรวจสุขภาพพื้นฐานก่อนตั้งครรภ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อ คัดกรองพาหะยีนด้อยที่พบในกลุ่มโรคบางชนิดที่เกิดจากความผิดปกติจากพ่อหรือแม่ที่ส่งผลไปยังลูก ซึ่งมีโอกาสที่จะมีลูกเป็นโรคทางพันธุกรรมแบบลักษณะด้อยชนิดรุนแรงได้ถึงร้อยละ 25%       

การตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์  สามารถคัดกรองและวินิจฉัยความผิดปกติของยีนด้อยได้กว่า 400 ยีน  ซึ่งช่วยให้เด็กที่จะเกิดมามีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคลดลง กรณีตรวจพบความเสี่ยงโรคทางพันธุกรรม แล้วคู่สมรสยังต้องการมีบุตร แพทย์จะทำการคัดกรองตัวอ่อนที่ไม่มียีนผิดปกติ จากนั้นจึงนำเอาตัวอ่อนที่แข็งแรงใส่กลับเข้าไปยังมดลูก ช่วยให้คู่สมรสที่มีบุตรยาก มีโอกาสตั้งครรภ์ ที่ไม่ใช่ยีนผิดปกติจากการคัดกรองคัดเลือกตัวอ่อนดังกล่าวแล้ว 

ในกรณีที่มีความผิดปกติของการฝังตัวอ่อน   ยังมีเทคโนโลยีการตรวจหาสาเหตุ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ต่อไป (อ่านข้อมูลเพิ่มเติม : https://www.samitivejhospitals.com/th/page/preconception-screening)   

ตรวจยีนก่อนการตั้งครรภ์เหมาะกับใคร

  • ผู้ที่เป็นโรคทางพันธุกรรม หรือมีครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคทางพันธุกรรม
  • ผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก  ต้องการป้องกันโรคพันธุกรรมที่มีการถ่ายทอดจากพ่อแม่ไปยังลูก 

ฝากครรภ์แบบเฉพาะบุคคล

คุณแม่ควรรีบไปฝากครรภ์ทันที่ทราบว่าตั้งครรภ์ โดยเข้ารับการตรวจครรภ์ครั้งแรกไม่ควรเกินอายุครรภ์ 12 สัปดาห์  และตรวจทุก ๆ 1-2 เดือน จนกว่าจะคลอดหรือตามแพทย์พิจารณ

ปัจจุบันการแพทย์ได้พัฒนาความรู้และเทคโนโลยี โดยคำนึงถึงความแตกต่างในยีน สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตของแต่ละคน  มาสู่การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine)  เพื่อเป็นการดูแลสุขภาพ ป้องกัน และรักษาโรคแบบเฉพาะบุคคล เช่นเดียวกับการวางแผนครอบครัวและการฝากครรภ์แบบเฉพาะบุคคล (Personalized Obstetrics) ที่มุ่งเน้นดูแลครรภ์เฉพาะบุคคล ตั้งแต่เริ่มวางแผนการตั้งครรภ์ การป้องกันภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ จนถึงการคลอดบุตรที่แข็งแรงสมบูรณ์

การฝากครรภ์แบบเฉพาะบุคคล เพื่อป้องกันวินิจฉัยให้การแก้ไขตั้งแต่เริ่มรักษา เช่น ภาวะคลอดก่อนกำหนด  และภาวะครรภ์เป็นพิษ  ทั้งนี้การฝากครรภ์แบบเฉพาะบุคคลยังสามารถช่วยให้คุณแม่ตั้งครรภ์ที่อายุมากกว่า 35 ปี   ใช้วิธีเจาะเลือดแม่ แทนการเจาะน้ำคร่ำ เพื่อลดปัญหาพันธุกรรมของลูกในครรภ์

คุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการมีลูก ควรดูแลสุขภาพตัวเองให้พร้อมเพื่อการตั้งครรภ์ กรณีมีปัญหาประจำเดือนไม่ปกติ เครียด หรือมีความวิตกกังวล อาจเข้ารับการตรวจภาวะมีบุตรยาก รวมถึงตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ และตรวจยีนก่อนตั้งครรภ์ เพื่อวางแผนมีลูกที่สมบูรณ์แข็งแรง

(อ่านข้อมูลเพิ่มเติม :  https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/precision-obstetrics)

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?