ปัญหานอนไม่หลับเป็นอาการที่พบได้บ่อยในวัยผู้ใหญ่ โดยเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ นิสัยการนอน โรคประจำตัว เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ อาการขาอยู่ไม่สุข ความผิดปกติของพฤติกรรมขณะนอนหลับ และโรคทางจิตเวช เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล รวมถึงพฤติกรรมและการใช้ชีวิตสมัยใหม่ เช่น ทำงานดึก ดูซีรีย์ ท่องโลกโซเชียล และสังสรรค์ ส่งผลให้มีเวลานอนที่ลดลงและคุณภาพการนอนหลับแย่ลง
การนอนหลับระยะเวลาสั้นๆ และการตื่นแต่เช้าเป็นเรื่องที่พบได้บ่อย เนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับอายุ ในประเทศญี่ปุ่นมีการทำแบบสอบถามการนอนหลับแก่ผู้ใหญ่จำนวน 5,407 คน ที่มีอายุ 45-99 ปี ผลการศึกษาพบว่าทั้งชายและหญิง อายุที่มากขึ้นสัมพันธ์กับระยะเวลาการนอนหลับที่สั้นลง ประสิทธิภาพการนอนหลับที่ลดลง และความตื่นตัวช่วงกลางคืนที่เพิ่มขึ้นในผู้ชาย ในขณะที่ผู้หญิงมักมีปัญหากับการตื่นกลางดึกและตื่นเช้าเกินไป .
ปัญหาการนอนไม่หลับในผู้สูงอายุหากไม่ได้รับการแก้ไขจะส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงการทำงานทางกายภาพที่แย่ลง เช่น แรงยึดจับของมือที่ลดลง และเดินช้าลง ทำให้เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและกระดูกหักมากขึ้น ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต โดยจากการสำรวจปัจจัยเสี่ยงของการหกล้มในสตรีที่อาศัยอยู่ในชุมชนอายุ 70 ปีขึ้นไป จำนวน 2,978 คน พบว่าระยะเวลาการนอนหลับตอนกลางคืนที่น้อยกว่า 5 ชั่วโมง มีความเสี่ยงของการหกล้มเพิ่มขึ้นถึง 95%
การดูแลสุขภาพการนอนหลับของผู้สูงอายุ มีความสำคัญต่อสุขภาพโดยรวม และต้องอาศัยความร่วมมือของผู้สูงอายุ และครอบครัวอย่างมาก เพราะการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ไม่ว่าจะด้วยการใช้ยา หรือการปรับพฤติกรรม จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่