ลูกกินนมแบบไหนเรียก Over breastfeeding

ลูกกินนมแบบไหนเรียก Over breastfeeding

HIGHLIGHTS:

  • การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะมีสารอาหารครบถ้วน ช่วยให้ร่างกายของทารกแข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดี และช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน โดยองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือน กินนมแม่เพียงอย่างเดียว
  • การที่ทารกกินนมแม่มากเกินไป จนระบบย่อยอาหารไม่สามารถย่อยนมที่กินเข้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ลูกรู้สึกไม่สบายท้องจนต้องแหวะหรือสำลักนมออกมา เรียกว่า ภาวะ Over breastfeeding สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งเด็กที่กินนมจากเต้าและกินนมจากขวด 
  • ภาวะ Over breastfeeding สามารถสังเกตได้จากนํ้าหนักตัวของลูกที่ขึ้นเร็วมากกว่าปกติ (ซึ่งโดยปกตินํ้าหนักตัวเด็กจะขึ้นประมาณ 20-60 กรัมต่อวัน)

นมแม่ เป็นอาหารที่ดี มีคุณค่าอาหารครบ มีประโยชน์สำหรับเด็กแรกเกิดทุกคน ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีการเจริญเติบโตที่ดี และช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน เด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือนสามารถให้นมแม่ได้อย่างเดียว 100% โดยไม่ต้องเสริมอาหารอื่น ๆ หลังจาก 6 เดือน จนถึงอายุ 2-3 ปีขึ้นไป ก็ยังสามารถให้นมแม่ร่วมกับอาหาร 5 หมู่ได้ การที่แม่ให้นมลูกต้องมีความเหมาะสม ในปริมาณที่พอเพียง ถ้ากินนมในปริมาณเยอะไปอาจเกิดภาวะ Over breastfeeding ได้

ทารกควรกินนมแม่ปริมาณเท่าไหร่ใน 1 วัน

  • วันแรกที่เกิดควรให้ลูกเข้าเต้าเลย โดยปริมาณนํ้านมที่ให้ คือ 1 ช้อนชาหรือ 5 cc โดยให้ 8-10 ครั้ง/วัน
  • สำหรับในวันที่ 2 สามารถให้ในจำนวนเช่นเดียวกับวันแรก
  • วันที่ 3 จนถึงอายุ 1 เดือน ให้ในจำนวน 1-1.5 ออนซ์ โดยให้ 8-10 ครั้ง/วัน
  • อายุ 1 เดือน ให้ปริมาณ 2-4 ออนซ์ แต่ให้ลดจำนวนครั้งลงเหลือ 7-8 ครั้ง/วัน
  • เมื่อเข้าช่วงอายุ 2-6 เดือน ให้เพิ่มปริมาณเป็น 4-6 ออนซ์ 5-6 ครั้ง/วัน
  • ช่วงลูกอายุ 6-12 เดือน ให้ 6-8 ออนซ์ วันละ 4-5 ครั้ง
  • อายุ 1 ขวบขึ้นไป ให้ 6-8 ออนซ์ วันละ 3-4 ครั้ง หลังรับประทานอาหาร

อาการที่บ่งบอกถึงภาวะ Over breastfeeding

  • ลูกอาจมีอาการอาเจียน แหวะนม นมไหลออกปากหรือจมูก หรือสำลักนม
  • แน่นท้อง ท้องป่องมาก ลูกร้องงอแงหลังกินนม
  • มีปัญหาไม่ยอมดูดนม ดูไม่สบายตัว ทั้งๆ ที่เริ่มดูดนมได้ดี
  • มีนํ้าหนักตัวขึ้นเร็วมากกว่าปกติ (โดยปกตินํ้าหนักลูกจะขึ้นประมาณ 20-60 กรัมต่อวัน)
  • ไม่มีอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการแหวะนม อาเจียน ปวดท้อง หรือร้องงอแง

ผลเสียจากภาวะ Over breastfeeding

การที่เด็กมีภาวะ Over breastfeeding ซึ่งทำให้มีอาเจียน แหวะนม แน่นท้อง ไม่สบายตัว ร้องไห้งอแงมากหลังกินนม ทำให้พ่อแม่กังวลว่าอาการที่แสดงออกเป็นเป็นโรคหรือภาวะการเจ็บป่วยหรือไม่

ทำอย่างไรไม่ให้เกิดภาวะ Over breastfeeding

เมื่อลูกกินนมเข้าไปมากพอแล้ว แต่ยังร้องไห้อีก อาจจะลองสังเกตว่าร้องจากสาเหตุอื่นหรือไม่ บางครั้งเด็กอาจไม่ได้ร้องเพราะหิวเพียงอย่างเดียว อาจจะลองเอาลูกออกจากเต้า อุ้มให้ลูกได้เคลื่อนไหวไปมา เบี่ยงเบนความสนใจ ถ้าลูกยังร้องมากอาจใช้จุกหลอกช่วย เพื่อให้ลูกยังรู้สึกว่ายังดูดนมอยู่

ลูกจะสามารถปรับตัวในช่วง 3 – 4 เดือนแรกและทานนมแม่ได้อย่างเหมาะสม แต่หากลูกร้องที่จะดูดเต้าเนื่องจากติดเต้าทั้ง ๆที่ได้นมเพียงพอแล้ว แนะนำให้แม่ปั๊มนมออกเพื่อให้ปริมาณนํ้านมเหลือน้อย ให้ลูกดูดแค่เพื่อสนองความต้องการดูดจากเต้าเท่านั้น

สำหรับคุณแม่มือใหม่ ถ้ายังไม่มั่นใจเรื่องการให้นมลูก สามารถปรึกษาคลินิกนมแม่ได้ คุณหมอจะช่วยแนะนำหลักการให้นมที่ถูกต้อง รวมถึงปริมาณที่เหมาะสมกับลูกของเรา เพราะเด็กแต่ละคนมีความต้องการไม่เท่ากัน เพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยและป้องกันการกินนมมากเกินไปจนเกิดปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ตามมา  
ปรึกษาคลินิกนมแม่และกุมารแพทย์

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?