ป้องกัน ดูแล อย่างไร เมื่อไอกรน ระบาด

ป้องกัน ดูแล อย่างไร เมื่อไอกรน ระบาด

HIGHLIGHTS:

  • “เชื้อไอกรน” เป็นเชื้อแบคทีเรีย ที่อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะ เมื่อเกิดการติดต่อจะส่งผลต่อการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ หากเกิดขึ้นในทารกแรกเกิดอาจมีความรุนแรงถึงชีวิตได้ 
  • โรคไอกรนติดต่อได้ง่ายมาก ผู้ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันจะติดเชื้อจากผู้ป่วยที่อยู่ในบ้านเดียวกันได้สูงถึง 80-100% 
  • โรคไอกรนสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (TdaP vaccine) ซึ่งเด็กไทยมักได้รับวัคซีนนี้ตั้งแต่แรกเกิด และควรฉีดกระตุ้นอีกครั้งในช่วงอายุ 11- 12 ปี 

สาเหตุของการติดโรคไอกรน

ไอกรนเป็นโรคติดเชื้อ สาเหตุเกิดจาก “เชื้อไอกรน” เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า “บอร์เดเทลลาเพอร์ทัสซิส” (Bordetella pertussis) ซึ่งจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วย เมื่อเชื้อเข้าสู่ทางเดินหายใจจะไปเกาะอยู่กับเซลล์เยื่อบุหลังโพรงจมูก และผลิตสารพิษหลายชนิดออกมา ซึ่งจะส่งผลต่อการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ ตามมา เชื้อแบคทีเรียดังกล่าว มีผลรุนแรงในทารกแรกเกิด ซึ่งอาจรุนแรงถึงชีวิตได้ 

โรคไอกรนติดต่อได้อย่างไร

โรคไอกรนติดต่อได้ง่ายมาก ผู้สัมผัสโรคที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรค จะติดเชื้อจากผู้ป่วยที่อยู่ในบ้านเดียวกันได้สูงถึง 80-100% แต่หากเคยได้รับวัคซีนป้องกันคอตีบ บาดทะยัก ไอกรน และมีภูมิคุ้มกันแล้ว โอกาสติดเชื้ออยู่ที่ประมาณ 20%  ส่วนใหญ่ในเด็กจะติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่ในครอบครัว โดยติดต่อผ่านทางเดินหายใจ น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ที่มีเชื้อ หากได้รับเชื้อจะสังเกตอาการได้ในระยะเวลาประมาณ 5-10 วัน แต่หากรับเชื้อเกิน 3 สัปดาห์แล้วไม่มีอาการ แสดงว่าไม่ติดโรค 

วิธีสังเกตอาการหากสงสัยว่าติดเชื้อไอกรน

อาการของไอกรน แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 

  • ระยะที่ 1 เยื่อเมือกทางเดินหายใจอักเสบ (Catarrhal phase) เรียกว่า ระยะหวัด มีอาการเหมือนหวัดธรรมดาทั่วไป ไข้ต่ำน้ำมูกไหล จาม ไอเล็กน้อย อ่อนเพลีย ตาแดง น้ำตาไหล 
  • ระยะที่ 2  ระยะอาการกำเริบ (Paroxysmal phase) เรียกว่า ระยะรุนแรง ซึ่งระยะนี้จะกินเวลานาน 7-10 วัน ในระยะนี้ส่วนใหญ่จะยังวินิจฉัยโรคไอกรนไม่ได้ แต่มีข้อสังเกตว่า ผู้ป่วยจะมีอาการตามข้อ 1 เพิ่มขึ้น อาจมีอาการไอรุนแรงและหลังการไอสิ้นสุดลงจะมีเสียงเฉพาะ (เสียงวู้ป) เกิดขึ้น หากไอติดต่อนาน ๆ จนตัวงอและหายใจไม่ทัน (ในครั้งหนึ่งจะไอติดต่อกันประมาณ 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น แล้วหยุดไป แล้วเริ่มไอใหม่เป็นแบบนี้ซ้ำๆ) โดยอาการไอนี้อาจเกิดขึ้นเพียง 5-10 รอบต่อวัน หรือเกิดขึ้นหลายสิบรอบในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ผู้ป่วยจะมีอาการไอมากในช่วง 2 สัปดาห์แรก และอาการไอมักเกิดถี่ขึ้นในตอนกลางคืนหรือเวลาที่ถูกอากาศเย็น ดื่มน้ำเย็นจัด ถูกฝุ่นหรือควันบุหรี่
  • ระยะที่ 3 ระยะพักฟื้น (Convalescent phase) หรือ ระยะฟื้นตัว ระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 2 - 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น น้ำหนักตัวขึ้น อาการไอและความรุนแรงจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ จนหายสนิท 
  • รวมระยะของโรคทั้งหมดถ้าไม่มีโรคแทรกซ้อนใช้เวลาประมาณ 6-10 สัปดาห์ 

วิธีป้องกันโรคไอกรน

โรคไอกรนสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (TdaP vaccine) ซึ่งเด็กไทยมักได้รับวัคซีนนี้ 5 เข็มในช่วงแรกเกิด โดยเริ่มฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 2 เดือน, เข็มที่ 2 เมื่ออายุ 4 เดือน, เข็มที่ 3 เมื่ออายุ 6 เดือน, เข็มที่ 4 เมื่ออายุ 18 เดือน และเข็มที่ 5 เข็มสุดท้ายเมื่ออายุ 4-6 ปี และอาจได้รับการกระตุ้นในช่วงอายุ 11-12 ปี

เมื่อมีคนในครอบครัวติดเชื้อโรคไอกรน ต้องทำอย่างไร

  • เมื่อมีผู้ติดเชื้อในบ้านหรือครอบครัว ทุกคนในครอบครัวต้องติดตามอาการไออย่างใกล้ชิด อย่างน้อย 2 สัปดาห์ 
  • เมื่อมีคนในครอบครับติดโรคไอกรน ให้แยกคนป่วยออกจากเด็ก 5 วัน แยกน้ำดื่ม อาหาร ของใช้ และแยกห้องนอน
  • เด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคไอกรน ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไอกรน
  • ถ้าในบ้านของผู้ป่วยมีเด็กทารกหรือมีบุคคลที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง ควรรีบพบและปรึกษาแพทย์
  • หลีกเลี่ยงสถานที่ผู้คนแออัด สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือด้วยน้ำกับสบู่หรือแอลกอฮอล์ เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่จะส่งผ่านมาจากการสัมผัสผู้ป่วย 
  • ไม่ใช้นิ้วขยี้ตาหรือแคะจมูก 
  • ไม่เข้าใกล้หรือนอนรวมกับผู้ป่วย  
  • ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย 
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?