รักษาด้วย PRP ลดอาการเจ็บ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อและข้อ

รักษาด้วย PRP ลดอาการเจ็บ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อและข้อ

Highlight:

  • การฉีด PRP เป็นหนึ่งทางเลือกในการรักษา เหมาะกับผู้ที่ต้องการรักษาอาการเสื่อม อาการบาดเจ็บ การฉีกขาดของเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ เพื่อให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น และกลับมาใกล้เคียงสภาวะปกติ โดยไม่ต้องทำการผ่าตัด  
  • ผลการรักษาด้วยการฉีด PRP อาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ปัจจัยที่มีผลต่อการรักษา คือสุขภาพร่างกายโดยรวมของผู้ที่มารับการรักษา ถ้าระบบภูมิต้านทานในร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี จะทำให้เห็นผลได้รวดเร็ว แต่ถ้ามีโรคประจำตัว รับประทานสเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน ผลลัพธ์และประสิทธิภาพการรักษาก็อาจจะลดลง 

PRP หรือ Platelet-Rich Plasma คืออะไร

PRP คือ เกล็ดเลือดความเข้มข้นสูง ที่สกัดออกมาจากเลือดของตัวเอง เพื่อนำไปฉีดรักษาความเสื่อม อาการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรงหรือมีการบาดเจ็บบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อเยื่อรอบโครงสร้าง ผิวข้อกระดูก หมอนรองกระดูก เส้นเอ็น ที่มีความเสื่อมยังไม่มาก เพื่อกระตุ้นการหายของแผล ช่วยซ่อมแซมเซลล์ ฟื้นฟูสภาพให้กลับไปใช้งานได้ใกล้เคียงปกติ การฉีด PRP สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ส่งเสริมการรักษาและช่วยชะลอการผ่าตัดเปลี่ยนข้อ

PRP สามารถฉีดรักษาอาการบาดเจ็บส่วนไหนได้บ้าง?

การฉีด PRP นั้นสามารถฉีดได้กับทุกส่วน ไม่ว่าจะฉีดในบริเวณใด เช่น กล้ามเนื้อที่มีการฉีกขาด บริเวณข้อต่อ กระดูกต่าง ๆ ฉีดรอบ ๆ เส้นเอ็นหรือแม้กระทั่งฉีดเข้ากล้ามเนื้อก็สามารถทำได้ เพราะไม่มีอันตรายที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ เนื่องจาก Platelet-Rich Plasma คือ Autologous Rejection หรือเลือดของตัวผู้ป่วยเอง 

ขั้นตอนในการรักษาด้วยวิธี PRP

  1. นอนหลับพักผ่อนให้พียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่  
  2. งดเครื่องดื่มที่มีแอลกออล์ 
  3. ดื่มน้ำมาก ๆ ประมาณ 1-2 ลิตร ก่อนรับการรักษาด้วยการฉีด PRP เพื่อทำให้เลือดไม่ข้น ไม่หนืด สามารถดูดเลือดออกมาได้ง่าย 
  4. งดการรับประทานวิตามินก่อนฉีด / งดยาปฏิชีวนะที่กินติดต่อกันป็นเวลานาน  
  5. ห้ามรับประทานยาในกลุ่ม ASA หรือ NSAID เช่น แอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ เนื่องจากอาจจะทำให้เลือดมีสารปนเปื้อน และด้อยประสิทธิภาพ 
  6. หากมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน เกาต์ ไขมันในเลือดสูง ควรรักษาโรคเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพใกล้เคียงปกติก่อนทำการฉีด PRP เพราะโรคหรืออาการดังกล่าวจะส่งผลต่อความหนืดของเลือด สารประกอบภายในเลือดจะไม่บริสุทธิ์ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาด้อยลง 

การดูแลหลังจากฉีด PRP

กลไกการทำงานของ PRP หรือ Platelet-Rich Plasma คือ กระตุ้นให้ร่างกายมีอาการอักเสบในบริเวณที่ทำการฉีดอาจจะมีอาการอักเสบ ปวดตึง เพราะฉะนั้นในช่วง 48 ชั่วโมงแรกหลังฉีด จะเป็นเหมือนการอักเสบทั่วไปซึ่งมีวิธีการดูแล ดังนี้ 

  1. ประคบเย็นเพื่อลดอาการปวด 
  2. พยายามเลี่ยงการใช้งานบริเวณที่ทำการฉีด PRP  
  3. หากมีอาการปวดมาก สามารถรับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล ห้ามรับประทานยากลุ่ม NSAIDs ยาแก้อักเสบ  สเตียรอยด์ เพราะจะไปยับยั้ง Factors ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาและไปกดภูมิทำให้ประสิทธิภาพของ PRP ลดลง 

จำนวนครั้งในรักษาด้วยการฉีด PRP

จำนวนครั้งในการรักษาด้วยการฉีด PRP นั้น ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย เช่น การฉีดเพื่อรักษาความเสื่อม การบาดเจ็บฉีกขาดของกล้ามเนื้อ การฉีกขาดในข้อเข่าหรือหมอนรองกระดูก ผิวข้อสึก เอ็นเข่าฉีก โดยสามารถจำแนกได้ดังนี้ 

  1. ฉีดเพื่อรักษาความเสื่อม เป็นการรักษาที่ต้องใช้วลา ทำครั้งเดียวอาจไม่หายโดยทันที ดังนั้นจึงต้องฉีด อย่างน้อย 3 ครั้ง เพื่อเพิ่มปริมาณในการซ่อมแซมส่วนที่มีปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  2. ฉีดเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อเพียงเล็กน้อย ดังนั้นจึงสามารถทำ แบบ Single Shot PRP 1 ครั้ง และ ทำการอัลตร้าซาวด์หลังฉีด เพื่อดูว่ากล้ามเนื้อที่ทำการฉีดนั้นมีซ่อมแซมได้ดีขึ้นหรือไม่ 
  3. ฉีดเพื่อรักษาอาการฉีกขาดในข้อที่ทำให้เชื่อมติดกันได้ยาก เป็นการรักษาที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรฉีดต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ครั้ง 

ระยะห่างในการฉีด PRP แต่ละเข็ม

ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียงหรืออาการอักเสบมาก สามารถฉีดได้สัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพื่อให้ร่างกายได้พักและสภาวะของร่างกายกลับมาอยู่ในระดับปกติแล้ว จึงทำการฉีดกระตุ้นใหม่อีกครั้ง การฉีดโดยทิ้งระยะห่างน้อยเกินไปจะทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบมาก รู้สึกปวดบริเวณที่ฉีดมากขึ้นได้

ผู้ที่สามารถรับการรักษาด้วย PRP

  • ผู้ป่วยในกลุ่มที่มีอาการเสื่อมของผิวข้อระยะเบื้องต้น ข้อไม่ผิดรูปมากนัก ยังไม่จำเป็นต้องรับการผ่าตัด  
  • ผู้สูงอายุที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมระยะเริ่มต้น การรักษาด้วยวิธี PRP จะช่วยชะลออาการเสื่อม และลดอาการปวดโดยไม่ต้องทำการผ่าตัด 
  • นักกีฬาที่มีอาการบาดเจ็บของกระดูกอ่อน แต่อาการไม่มากนัก มีบริเวณรอยหลุมของกระดูกอ่อนตื้น ความกว้างของหลุมกระดูกอ่อนไม่กว้างมากจนเกินไป การฉีด PRP เข้าไปในส่วนที่ลึก ที่มีเลือดไปหล่อเลี้ยงได้น้อย ทำให้การเชื่อมติดเป็นไปได้ยาก จะช่วยให้กระดูกอ่อนสามารถเชื่อมติดกันได้ง่ายขึ้นและปรับสมดุลในข้อให้ดียิ่งขึ้น 

ดังนั้น PRP จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องการรักษาอาการเสื่อม อาการบาดเจ็บ การฉีกขาดของเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อ เพื่อให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้น และกลับมาใกล้เคียงสภาวะปกติ โดยไม่ต้องทำการผ่าตัด เป็นหนึ่งทางเลือกในการรักษา แต่มีข้อจำกัด คือ ข้อต้องไม่มีการผิดรูปมากและไม่มีการเสียดสีจนทำให้ PRP ที่ฉีดเข้าไปนั้นถูกรบกวนจนไม่เกิดประโยชน์จากการฉีด PRP  

ผลการรักษาด้วยการฉีด PRP

ผลการรักษาอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล เนื่องจากแต่ละคนมีภูมิคุ้มกันไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นปัจจัยที่มีผล คือสุขภาพร่างกายโดยรวมของผู้ที่มารับการรักษา ว่ามีสุขภาพแข็งแรงหรือไม่ การซ่อมแซมโดยธรรมชาติของตัวเองหรือภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยและการทำงานของเม็ดเลือดขาวดีหรือไม่ ถ้าระบบภูมิต้านทานในร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้ดี จะทำให้กลไกการซ่อมแซมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เห็นผลได้รวดเร็ว แต่ถ้าผู้ที่รับการรักษามีโรคประจำตัว เช่น โรค SLE รับประทานสเตียรอยด์มาเป็นเวลานาน ผลลัพธ์และประสิทธิภาพการรักษาก็อาจจะลดลง 

หากรับการรักษาด้วยการฉีด PRP ครบตามที่แพทย์แนะนำ ผลการรักษาจะอยู่ได้นานเท่าใด

โดยส่วนใหญ่ PRP จะช่วยเข้าไปกระตุ้นการซ่อมแซมตนเอง จึงไม่สามารถบอกได้ว่าผลการรักษาจะอยู่ได้นานเท่าใดแต่จะสามารถช่วยปรับสมดุลและช่วยซ่อมแซมในส่วนที่มีปัญหาได้ กระตุ้นให้มีการฟื้นฟูสภาพของร่างกาย หากรักษาแล้วอาการดีขึ้นไม่จำเป็นต้องกลับมาฉีด PRP ซ้ำ แต่ถ้ายังมีอาการปวดก็สามารถกลับมาทำการฉีด PRP เพื่อกระตุ้มการซ่อมแซมได้อีก

ข้อจำกัดและข้อยกเว้นสำหรับการฉีด PRP

  1. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคมะเร็ง โรคโลหิตจาง โรครูมาตอยด์ หรือผู้ป่วยติดเชื้อ HIV 
  2. ผู้ที่รับประทานยาในกลุ่ม ASA หรือ NSAID เช่น แอสไพรินหรือยาต้านเกล็ดเลือด 
  3. ผู้ที่มีความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด 
  4. มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?