ผ่าตัดกระดูกสันหลังคด (Scoliosis surgery) เด็กจำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่

ผ่าตัดกระดูกสันหลังคด (Scoliosis surgery) เด็กจำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่

HIGHLIGHTS:

  • กระดูกสันหลังคด เป็นภาวะที่ทำให้ช่วงลำตัวคดเอียงไปทางด้านข้าง ส่งผลให้มีบุคลิกที่ไม่สวยงาม และหากกระดูกมีการคดเอียงมาก อาจส่งผลต่อสุขภาพ เช่น หัวใจ และปอด ทำงานหนัก หรือปวดหลังได้
  • การผ่าตัดกระดูกสันหลังคด ส่วนมากจะผ่าก็ต่อเมื่อคนไข้มีกระดูกคดเอียงมากกว่า 40 องศา หรือมีการคดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเด็กที่อายุน้อยกว่า 10 ปี
  • เทคนิคการผ่าตัดกระดูกสันหลังคด มีทั้งรูปแบบใส่โลหะเชื่อมกระดูก ซึ่งใช้ในคนไข้ที่หยุดการเจริญเติบโตแล้ว กับรูปแบบใส่โลหะไม่เชื่อมกระดูก ที่ใช้กับคนไข้เด็กที่กระดูกสันหลังยังเจริญเติบโตอยู่
  • หลังจากผ่าตัดกระดูกสันหลังคด คนไข้จะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เพียงแค่มีข้อจำกัดเรื่องการเคลื่อนไหว ที่อาจไม่ยืดหยุ่นเท่าบุคคลทั่วไปเท่านั้น

สารบัญบทความ

  1. โรคกระดูกสันหลังคด มีกี่แบบ 
  2. โรคกระดูกสันหลังคด ถ้าปล่อยไว้ ไม่รักษา จะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร  
  3. การรักษาโรคกระดูกสันหลังคดมีจุดประสงค์อย่างไร
  4. การผ่าตัดกระดูกสันหลังคด มีเทคนิคใดบ้าง
  5. ใครควรเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังคด
    5.1 ความเสี่ยงในการผ่าตัดกระดูกสันหลังคด ที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจ
  6. ควรเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังคดอย่างไร
  7. ขั้นตอนการผ่าตัดกระดูกสันหลังคด
  8. หลังผ่าตัดกระดูกสันหลังคดในเด็ก ควรดูแลตนเองอย่างไร
  9. คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าตัดกระดูกสันหลังคดในเด็ก
    9.1 การผ่าตัดกระดูกสันหลังคดอันตรายไหม?
    9.2 ผ่าตัดกระดูกสันหลังคด จะต้องกลับมาผ่าตัดนำเหล็กออกไหม?
    9.3 การผ่าตัดกระดูกสันหลังคด มีข้อเสียอย่างไร?
  10. เลือกผ่าตัดกระดูกสันหลังคดกับโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ลดโอกาสโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

 

1. โรคกระดูกสันหลังคด มีกี่แบบ

กระดูกสันหลังคด (Scoliosis) คือภาวะที่กระดูกสันหลังมีการเบี้ยวเอียงไปทางด้านข้างแทนที่จะเป็นเส้นตรง ซึ่งในทางการแพทย์นั้น กระดูกสันหลังต้องมีองศาที่คดเอียงมากกว่า 10 องศา จึงจะนับว่าเป็นโรคกระดูกสันหลังคด 

โดยโรคกระดูกสันหลังคดสามารถแบ่งใหญ่ ๆ ออกได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 

  • โรคกระดูกสันหลังคดชนิดไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis) เป็นรูปแบบที่พบบ่อยที่สุด ซึ่งอาจพบได้ตั้งแต่อายุต่ำกว่า 3 ขวบ 3-10 ปี และในเด็กอายุ 10 ขวบขึ้นไป โดยรูปแบบกระดูกสันหลังคดไม่ทราบสาเหตุที่พบได้มากนั้น มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เด็กอยู่ในวัยกำลังเจริญเติบโต เช่น ในตอนเด็กเล็กกระดูกสันหลังยังตรงเป็นปกติ แต่เมื่อโตขึ้นกระดูกสันหลังค่อยเริ่มเอียงทีหลัง
  • กระดูกสันหลังคดชนิดตั้งแต่กำเนิด (Congenital Scoliosis) เป็นภาวะที่อาจเกิดจากการพัฒนาการในครรภ์ไม่สมบูรณ์ หรือเกิดความผิดปกติขณะตั้งครรภ์ 
  • กระดูกสันหลังคดจากสาเหตุอื่น ๆ เช่นโรคระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Scoliosis) คนไข้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง พิการทางสมอง โรคเท้าแสนปม  ก็มีโอกาสที่จะทำให้กระดูกสันหลังคดเอียงได้เช่นกัน   หรือ สาเหตุคดจากโรคต่าง ๆ เช่นหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท  หรือมีภาวะขาสั้นยาวไม่เท่ากัน หรือ อื่น ๆ เป็นต้น  

2. โรคกระดูกสันหลังคด ถ้าปล่อยไว้ ไม่รักษา จะส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร

อาการของผู้ที่มีกระดูกสันหลังคดนั้นจะรุนแรงขึ้นตามระดับองศาที่คดเอียง กรณีที่มีการคดเอียงน้อย คนไข้อาจมีเพียงอาการปวดหลังเล็กน้อย และมีบุคลิกที่ดูไม่สวยงาม แต่กรณีที่กระดูกสันหลังมีการคดเอียงมาก อาจส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น

  • ปัญหาต่อปอดและหัวใจ : ผู้ที่มีกระดูกสันหลังคดเอียงช่วงบนในส่วนที่ติดกับปอดและหัวใจ มีโอกาสที่กระดูกกับกล้ามเนื้อส่วนใกล้เคียงจะเกิดการเคลื่อนที่ไปกดทับอวัยวะเหล่านี้ จนทำให้ปอดและหัวใจทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามมาได้
  • อาการปวดหลังเรื้อรัง : กระดูกสันหลังคดมีผลต่อสมดุลของร่างกายที่ไม่สมมาตร ทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรังตามมา และอาจส่งผลให้หมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมเร็วกว่าที่ควรได้
  • ปัญหาทางจิตใจ : กระดูกสันหลังคดส่งผลต่อบุคลิกและรูปลักษณ์ภายนอกโดยตรง ยิ่งมีการคดเอียงมาก ยิ่งสามารถเห็นได้ชัดเจน จนคนไข้อาจมีความรู้สึกอายและไม่มั่นใจในตนเองได้

3. การรักษาโรคกระดูกสันหลังคดมีจุดประสงค์อย่างไร

การรักษากระดูกสันหลังคดมีจุดประสงค์ 3 อย่างคือ

  1. ปรับโครงกระดูกให้ดีขึ้น เพื่อไม่ให้มีการคดมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีผลต่อการทำงานหัวใจและปอด 
  2. รักษาเพื่อความสวยงาม
  3. รักษาเพื่อลดอาการเจ็บปวด จากภาวะไม่สมดุลย์จากการทำงานของกล้าม

หากคนไข้มีมุมองศาการคดของกระดูกสันหลังที่ค่อนข้างน้อย ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้ารับการผ่าตัด แต่ต้องคอยสังเกตอาการอยู่เรื่อย ๆ และอาจใช้เสื้อเกราะพยุงหลัง (Brace) ร่วมกับการกายภาพบำบัด เพื่อช่วยลดโอกาสที่กระดูกสันหลังจะคดเพิ่ม แต่ถ้ากระดูกสันหลังเริ่มมีองศาการคดที่มากขึ้น จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันหรือส่งผลต่อสุขภาพ อาจต้องพิจารณาการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป

4. การผ่าตัดกระดูกสันหลังคด มีเทคนิคใดบ้าง

การผ่าตัดกระดูกสันหลังคดเป็นวิธีแก้ไขปัญหากระดูกสันหลังคดเอียง ด้วยการใส่โลหะดามที่กระดูกสันหลังเพื่อจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้อง ลดโอกาสการคดเอียงเพิ่ม และลดปัญหาแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากโรคกระดูกสันหลังคดได้ โดยการผ่าตัดกระดูกสันหลังคดมีอยู่ 2 รูปแบบ คือ

  • การผ่าตัดกระดูกสันคดโดยวิธีการผ่าตัดให้ตรงดีขึ้นและทำการเชื่อมกระดูก
    เป็นรูปแบบการผ่าตัดแบบที่ใช้แท่งโลหะดามกระดูกสันหลังที่คดเอียง ร่วมกับสกรูหรือตระขอยึดตรึงกระดูกสันหลัง และเชื่อมกระดูกสันหลังแต่ละข้อเข้าด้วยกันให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งการผ่าตัดรูปแบบนี้ สุดท้ายกระดูกจะเชื่อมกันทั้งหมด ในท่าที่ตรงขึ้นอย่างมาก แต่จะทำให้กระดูกสันหลังขาดความยืดหยุ่น จึงมักใช้การผ่าตัดกระดูกสันหลังรูปแบบนี้กับผู้ที่กระดูกสันหลังหยุดการเจริญเติบโตแล้วเท่านั้น โดยเหล็กที่ใช้ในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง เป็นโลหะที่สามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้ตลอดชีวิต ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดนำเหล็กออก  แต่มีบางกรณีอาจจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดนำเหล็กออก เช่น อาจมีสกรูเที่เชื่อมเหล็กเคลื่อนตัวไปโดนเส้นประสาท หรือหลุดถอนออก จนทำให้คนไข้รู้สึกเจ็บ หรือเป็นความต้องการของคนไข้เองที่ต้องการนำเหล็กออกจากร่างกาย
    หากใช้วิธีนี้กับคนไข้เด็กที่กระดูกสันหลังยังเจริญเติบโตอยู่ อาจทำให้กระดูกสันหลังส่วนที่ไม่ได้มีการผ่าตัดเชื่อมเช่นทางด้านหน้าของกระดูกปล้องที่ผ่าตัดจะยังเจริญเติบโตอยู่  โดยจะเกิดอาการคดเอียงผิดปกติมากขึ้น หรือกรณีที่เชื่อมกระดูกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ถึงแม้ว่ากระดูกสันหลังจะตรงดีขึ้น  แต่กระดูกสันหลังปล้องที่เชื่อมจะไม่เจริญเติบโต แต่ร่างกายส่วนอื่นยังเจริญเติบโตตามปกติ ทำให้ร่างกายไม่สมดุลหรือตัวสั้นได้
  • การผ่าตัดแก้ไขกระดูกสันหลังคดโดยการไม่เชื่อมกระดูก ด้วยเทคโนโลยี่  Growing Rod 
    ในปัจจุบันที่เทคโนโลยีทางการแพทย์เริ่มก้าวหน้า การผ่าตัดกระดูกสันหลังคดในเด็กจึงสามารถทำได้ปลอดภัยยิ่งขึ้นด้วยเทคโนโลยี แท่งเหล็ก (rod) ที่ยึดตรึงกระดูกสันหลังยืดได้  (Growing rod)  ซึ่งการยืด rod มีหลายวิธีเช่น การผ่าตัด   การปล่อยให้ยืดเอง  (self-growing rod)  หรือ การใช้คลื่นแม่เหล็กบังคับ (Magnetic expansion control rod)  หรือเรียก MAGEC Rod   ซึ่งอันหลังสุดนี้เป็นอุปกรณ์ที่ใส่ดามกระดูกสันหลังคดในเด็ก ด้วยการใส่แท่งโลหะดามกระดูกสันหลัง (Rod) ชนิดยืดออกได้  ซึ่งหลังจากที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้ว ทุก 3 เดือนเด็กจะต้องเข้ามารับการปรับยืดกระดูกด้วยแม่เหล็ก ที่จะช่วยให้กระดูกค่อย ๆ ยืดออกได้โดยไม่ต้องผ่าตัดซ้ำ และการปรับยืดนี้ไม่มีความเจ็บปวดแต่อย่างใด อีกทั้งยังใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น โดยที่กระดูกสันหลังของเด็กยังคงสามารถเจริญเติบโตขึ้นได้  ซึ่งจะมีผลต่อความสูงด้วย

5. ใครควรเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังคด

โดยส่วนมากแพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดกระดูกสันหลังคดให้กับคนไข้เด็กที่กระดูกมีการคดเอียงมากกว่า 40 องศาขึ้นไป ซึ่งเป็นระดับคดเอียงที่เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และมีแนวโน้มที่จะสามารถคดเอียงได้มากขึ้นตามการเจริญเติบโต

นอกจากนี้ แพทย์จะพิจารณาการผ่าตัดโดยดูจากอายุร่วมด้วย หากคนไข้เด็กมีอายุต่ำกว่า 10 ปี แต่มีการคดเอียงมากกว่า 30-40 องศาก็จะแนะนำให้ทำการผ่าตัดแก้ไขกระดูกสันหลังคดแบบไม่เชื่อมกระดูก แต่ถ้าหากเป็นคนไข้เด็กโตที่กระดูกหยุดการเจริญเติบโตแล้ว กระดูกมีมุมองศาคดเอียงไม่เกิน 30-40 องศา และไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นร่วม ก็อาจพิจารณาไม่ต้องเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังคดได้ 

5.1. ความเสี่ยงในการผ่าตัดกระดูกสันหลังคด ที่ควรพิจารณาก่อนตัดสินใจ
ก่อนตัดสินใจเลือกวิธีผ่าตัดกระดูกสันหลัง เพื่อรักษากระดูกสันหลังคดนั้น ควรที่จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากการผ่าตัดกระดูกสันหลังเป็นการผ่าตัดใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูง คนไข้เด็กจะอยู่ภายใต้การดมยาสลบนาน 4-7 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีการเปิดแผลที่กว้างมาก ทำให้อาจเสียเลือดมากและมีโอกาสติดเชื้อได้ นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่อาจเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต และอาจร้ายแรงถึงชีวิตได้
เมื่อแพทย์พิจารณาแล้วว่าเด็กสมควรเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง แพทย์เจ้าของไข้จะอธิบายถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัด ไม่ว่าจะเป็นการเสียเลือดมาก การติดเชื้อ หรือความผิดพลาดขณะผ่าตัดไปโดนเส้นประสาท แต่ในปัจจุบันนี้มีเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ช่วยให้การผ่าตัดให้ปลอดภัยมากขึ้น เช่น navigation หรือ robotic system เป็นต้น ความเสี่ยงเหล่านี้จึงลดต่ำลงไปด้วย 

6. ควรเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดกระดูกสันหลังคดอย่างไร

การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดกระดูกสันหลังคด แพทย์จะนัดเข้ามาตรวจสุขภาพของเด็ก ว่ามีความพร้อมต่อการผ่าตัดหรือไม่ เช่น 

  • การเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจและอารมณ์ของเด็ก เช่น การพูดคุยเพื่อลดความวิตกกังวล การอธิบายให้ความรู้เกี่ยวกับการผ่าตัด  
  • การเอ็กซเรย์ ,  MRI หรือ CT Scan 
  • การตรวจเลือด 
  • การตรวจระบบหัวใจและปอด 

ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการตรวจสุขภาพ จะนำไปวางแผนการผ่าตัดรักษากระดูกสันหลังคดต่อไป

7. ขั้นตอนการผ่าตัดกระดูกสันหลังคด

หลังจากที่เด็กได้รับการเตรียมความพร้อมสำหรับการผ่าตัดทั้งทางร่ายกายและจิตใจแล้ว เมื่อถึงเวลาผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะให้เด็กดมยาสลบ ก่อนที่ศัลยแพทย์จะเริ่มการผ่าตัด ซึ่งเวลาที่ใช้ในการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับความยากและความซับซ้อนของกระดูกสันหลังคนไข้แต่ละคน แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง 

เมื่อผ่าตัดเสร็จ คนไข้เด็กจะถูกพาตัวไปที่ห้อง ICU สำหรับผู้ป่วยเด็ก หรือ Pediatric Intensive Care Unit (PICU) เพื่อสังเกตอาการเบื้องต้นก่อนที่จะพากลับห้องพักผู้ป่วย โดยหลังจากการผ่าตัดกระดูกสันหลังคดคนไข้เด็กจะต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 7-10 วัน

การผ่าตัดกระดูกสันหลังเป็นการผ่าตัดใหญ่ เพื่อให้คนไข้เด็กได้รับการดูแลหลังผ่าตัดอย่างใกล้ชิด ที่โรงพยาบาลเด็กสมิติเวชมีห้อง PICU (Pediatric Intensive Care Unit) หรือห้องสังเกตอาการในหอผู้ป่วยเด็กวิกฤตโดยเฉพาะ 

ดูแลโดยทีมกุมารแพทย์เวชบำบัดร่วมกับทีมกุมารแพทย์สหสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรคระบบหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบสมองและประสาท โรคไต รวมถึงโรคเลือด ที่คอยดูแลคนไข้ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ และเพื่อให้คนไข้เด็กสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติต่อไป

8. หลังผ่าตัดกระดูกสันหลังคดในเด็ก ควรดูแลตนเองอย่างไร

หลังจากผ่าตัดกระดูกสันหลัง คนไข้เด็กจะยังคงต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลต่อประมาณ 7-10 วัน ซึ่งในช่วงหนึ่งถึงสองวันแรก เด็กอาจมีอาการเจ็บปวดรุนแรงจากแผลผ่าตัดกระดูกสันหลังคด โดยแพทย์จะมีการให้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการเป็นระยะ นอกจากนี้จะมีการต่อสายระบายเลือดเสียที่หลัง ต่อท่อปัสสาวะ และกรณีที่คนไข้เสียเลือดมากก็จะมีการให้เลือดเพิ่มด้วย

หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 3-4 หลังผ่าตัดกระดูกสันหลังคด หากคนไข้เด็กสามารถลุกได้แล้ว แพทย์จะให้คนไข้เริ่มฝึกเดินพร้อมกับดึงสายปัสสาวะออก เพื่อให้เด็กสามารถทำธุระส่วนตัวด้วยตนเองได้

เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว อาจมีการกำหนดให้คนไข้เด็กใส่เกราะอ่อนพยุงหลังในช่วง 3-6 เดือนแรกเพื่อช่วยในการทรงตัว และมีนัดเข้ามาติดตามอาการในช่วง 1-2 อาทิตย์แรกเพื่อดูแผลผ่าตัด จากนั้นจะค่อย ๆ เพิ่มระยะห่างระหว่างนัดมากขึ้น เช่น ทุก 1 เดือน ทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือน ทุก 1 ปี ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เจ้าของไข้

หลังจากรับการรักษาด้วยการผ่าตัดกระดูกสันหลังคดแล้ว เด็กจะสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ควรระมัดระวัง กีฬาที่มีการกระทบกระทั่งรุนแรง เช่น การเล่นกีฬาผาดโผน เนื่องจากหากเกิดอุบัติเหตุที่กระดูกสันหลัง อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้รุนแรงกว่าบุคคลทั่วไปได้

9. คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าตัดกระดูกสันหลังคดในเด็ก

9.1. การผ่าตัดกระดูกสันหลังคดอันตรายไหม?
การผ่าตัดทุกรูปแบบมีความเสี่ยงและความอันตราย แต่ด้วยเทคนิคการรักษาและเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในปัจจุบัน เช่น เทคโนโลยีต่าง ๆ มากมายเช่น navigation,  intraoperative neurophysiological monitoring system (IONM) และอื่น ๆ ประกอบกับประสบการณ์ของแพทย์ผู้ชำนาญการ ที่มีประสบการณ์ผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังคดมามากกว่า 25 ปี ทำให้มีความปลอดภัยในการผ่าตัดมากขึ้นและการพักฟื้นรวดเร็วขึ้น เพราะมีทีมที่ดูแลหลังผ่าตัดเป็นสหสาขาอย่างเป็นมืออาชีพ 

9.2. ผ่าตัดกระดูกสันหลังคด จะต้องกลับมาผ่าตัดนำเหล็กออกไหม?
เหล็กที่ใช้ในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง เป็นโลหะที่สามารถอยู่ในร่างกายมนุษย์ได้ตลอดชีวิต ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องผ่าตัดนำเหล็กออก ยกเว้นเป็นความต้องการของคนไข้เองที่ต้องการนำเหล็กออกจากร่างกาย

9.3. การผ่าตัดกระดูกสันหลังคด มีข้อเสียอย่างไร?
นอกจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นขณะผ่าตัดกระดูกสันหลังคดแล้ว การเชื่อมโลหะที่กระดูกสันหลังยังทำให้คนไข้ความยืดหยุ่นลดลงไป คนไข้จึงอาจมีการเคลื่อนไหวที่มีข้อจำกัดมากขึ้น เช่น ก้มเงยยากขึ้นเพราะหลังแข็ง เป็นต้น

10. เลือกผ่าตัดกระดูกสันหลังคดกับโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ลดโอกาสโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

กระดูกสันหลังคด เป็นภาวะที่กระดูกสันหลังคดเอียงผิดปกติ จนมีโอกาสที่กระดูกจะไปเบียดอวัยวะอื่นจนทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้ นอกจากนี้กระดูกสันหลังคดยังทำให้โครงสร้างของร่างกายขาดความสมดุล รวมถึงส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจเนื่องจากสภาพร่างกายที่ผิดแปลกไปได้อีกด้วย ซึ่งหากกระดูกสันหลังมีอาการคดเอียงมาก แพทย์มักแนะนำให้เด็กเข้ารับการผ่าตัดแก้ไขกระดูกสันหลังคด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และคืนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับเด็ก ๆ อีกครั้ง 

เลือกผ่าตัดกระดูกสันหลังคดกับโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ที่มีเทคโนโลยีการผ่าตัดชั้นสูงครบครัน มีห้องผ่าตัดมีที่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูง และมีทีมกุมารแพทย์เฉพาะทางในทุกสาขาอย่างครบครัน โดยมีศัลยแพทย์ สาขาออร์โธปิดิกส์ ที่มีประสบการณ์ผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังคดมามากกว่า 25 ปี  อีกทั้งยังมีหอผู้ป่วยเด็กวิกฤต หรือ Pediatric Intensive Care Unit (PICU) สำหรับการดูแลผู้ป่วยเด็กโดยเฉพาะอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?