โรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ ส่วนใหญ่จะพบในผู้สูงอายุ เกิดจากลิ้นหัวใจเสื่อม จึงทำให้เกิดการตีบ หรือ เปิดปิดไม่สนิท ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดจากหัวใจไปสู่ส่วนต่างๆของร่างกายมีการติดขัด หรือ น้อยลง จึงทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น และอาจเกิดปัญหาหัวใจล้มเหลวตามมาได้
การรักษาลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบแบบเดิม คือการผ่าตัดเปิดอกเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แต่ผู้ป่วยบางกลุ่มอาจมีสภาวะร่างกายที่ไม่เหมาะสมสำหรับการผ่าตัด เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ ที่มักมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว และไม่ได้แข็งแรงเท่าคนหนุ่มสาว จึงทำให้การผ่าตัดอาจทำได้ยากขึ้นเนื่องด้วยปัจจัยหลายประการ
ดังนั้น การเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยไม่ต้องผ่าตัด ด้วย TAVI จึงถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้อยู่กับครอบครัวที่รัก และใช้ชีวิตประจำวันได้ดังเดิม
การรักษาด้วย TAVI (Transcatheter Aortic Valve Implantation) หรือ TAVR (Transcatheter Aortic Valve Replacement) เป็นการรักษาเปลี่ยนลิ้นหัวใจคนไข้ที่เป็นลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบโดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดอก ซึ่งเกิดลิ้นหัวใจเสื่อมและตีบ เนื่องจากคนไข้อายุมาก จึงทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น
วิธีการทำนั้น ทำโดยการใส่สายหรือใส่ลิ้นหัวใจผ่านไปทางหลอดเลือด สิ่งที่ทำให้มีความพิเศษคือ ไม่ต้องหยุดหัวใจคนไข้ โดยจะสามารถทำในขณะที่หัวใจยังเต้นอยู่ได้ โดยที่ใส่ลิ้นหัวใจ (TAVI Valve) ที่พับอยู่ เข้าไปในหลอดเลือดแดงที่ขา โดยใส่เข้าไปวางทับกับลิ้น Aortic Valve เดิม โดยใช้เวลาทำเพียงแค่ 1 ชั่วโมง เนื่องด้วยไม่มีแผลผ่าตัด ระยะพักฟื้นจึงน้อย ทำให้คนไข้สามารถกลับบ้านได้ภายใน 3-5 วัน แล้วแต่ความฟิตเดิมของคนไข้
สำหรับผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 80 ปี ขึ้นไป การรักษาด้วย TAVI นั้น คือทางเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจาก TAVI นั้นได้ถูกคิดค้นขึ้นมาสำหรับผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีความเสี่ยงสูง ส่วนผู้ป่วยที่อายุ 70-80 ปีนั้น ทีมแพทย์และผู้ดูแล(Heart Team) จะต้องดูปัจจัยต่างๆ ก่อน เช่น ความเสี่ยงของการผ่าตัดของคนไข้, Anatomy ของลิ้นหัวใจ และ บริเวณรอบข้างของคนไข้ รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ในส่วนของ TAVI นั้น เป็นหัตถการที่มีมาเนิ่นนานแล้ว โดยถือว่าเป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐาน เพราะในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในอเมริกาหรือในยุโรป TAVI นั้น ถือว่าเป็น Treatment of Choice เหนือกว่าศัลยกรรมในหลายๆ กรณีเช่น ผู้ป่วยที่มีการประเมิณว่า การผ่าตัดจะมีความเสี่ยงสูง เช่น อัตราการเสียชีวิตมากกว่า 4-8 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นไป ดังนั้นการรักษาด้วย TAVI จึงเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้
โดยทั่วไป โอกาสทำสำเร็จนั้นมีสูงมาก และ โอกาสการเสียชีวิตจากการทำ TAVI นั้นมีน้อยกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าน้อยมาก ความเสี่ยงอื่นที่อาจจะเกิดขึ้น ได้แก่ จะมีภาวะเลือดออก และ ภาวะ Stroke ซึ่งโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 เปอร์เซ็นต์
ในบางกรณีจะมีความเสี่ยง 5-10 เปอร์เซ็นต์ จะต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Permanent Pacemaker) เนื่องจากกระแสไฟฟ้าหัวใจเดินช้าลงหลังเปลี่ยนลิ้นหัวใจ แต่ความเสี่ยงเรื่องอื่นๆ เช่น แผลติดเชื้อ จะมีโอกาสเกิดน้อยมาก เพราะคนไข้สามารถเคลื่อนไหวได้เร็วหลังทำ เนื่องจากใช้เวลาพักฟื้นน้อย
หลังจากรักษาด้วย TAVI แล้ว หากการรักษามีความราบรื่นดี ลิ้นหัวใจ TAVI อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ลิ้นไม่รั่ว มักไม่ต้องดูแลรักษาอะไร เนื่องจากอุปกรณ์มีความคงทนสูง โดยลิ้นหัวใจ TAVI นั้น สามารถใช้ได้ยาวนานถึง 10 ปี ยกเว้นในบางกรณีที่มีความพิเศษต้องเปลี่ยนลิ้น ซึ่งมีโอกาสน้อยมาก โดยส่วนใหญ่จะมีการติดตามอาการ กับแพทย์ที่ทำหัตถการ หรือ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านหัวใจอย่างต่อเนื่อง
ลิ้นหัวใจ TAVI นั้นสามารถใช้ได้ยาวนานถึง 10 ปี
การทำ TAVI นั้น ไม่ได้เจ็บ และ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากเริ่มมีอาการ ควรรีบเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย และทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนนานยิ่งขึ้น
โรงพยาบาลสมิติเวชมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยทางการแพทย์ เพื่อให้การวินิจฉัยรวดเร็วและถูกต้อง โดยใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัย และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และมีความสามารถที่จะให้การรักษาที่มีประสิทธิภาพ และสามารถรักษาโรคได้อย่างหลากหลาย ภายใต้เงื่อนไขต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคหัวใจล้มเหลว โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจรูมาติก และอื่นๆ
ที่สถาบันหัวใจให้บริการฉุกเฉินทุกวัน ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้เรายังมีความเข้าใจในครอบครัวของผู้ป่วย หลังจากการรักษา เรามีการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโดยผู้เชี่ยวชาญและนักกายภาพบำบัด เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนในอนาคต
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่