รู้จัก ‘ลมพิษในเด็ก’ โรคผิวหนังที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม

รู้จัก ‘ลมพิษในเด็ก’ โรคผิวหนังที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม

HIGHLIGHTS:

  • ลมพิษในเด็ก คืออาการผิดปกติที่ปรากฏบนผิวหนัง โดยผิวหนังจะมีลักษณะอาการบวม นูนแดง และอาจมีอาการคันร่วมด้วย
  • ลมพิษเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ การแพ้อาหาร แพ้ยา แพ้สิ่งแวดล้อม ไปจนถึงลมพิษแบบไม่ทราบสาเหตุ
  • ลมพิษรักษาได้ด้วยการใช้ยาแก้แพ้ การเลี่ยงสารก่ออาการแพ้ และการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการลมพิษ

สารบัญบทความ

1. ลมพิษในเด็กคืออะไร มีลักษณะอาการอย่างไร
2. ลมพิษในเด็กเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง
3. ลมพิษในเด็กถูกแบ่งออกเป็นกี่ประเภท
    3.1. ลมพิษแบบเฉียบพลัน
    3.2. ลมพิษแบบเรื้อรัง
4. ลมพิษในเด็กสามารถเกิดขึ้นร่วมกับโรคอื่นได้หรือไม่
5. ลมพิษในเด็กแบบไหน ที่พ่อแม่ควรต้องพาลูกเข้าพบแพทย์โดยด่วน
6. อาการลมพิษในเด็กสามารถวินิจฉัยได้อย่างไร
7. ลมพิษในเด็กมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง
8. วิธีดูแลและป้องกันไม่ให้ลูกเป็นลมพิษ
9. เลือกพบหมอผิวหนังเด็ก ที่โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช เพื่อให้ลมพิษในเด็กและอาการภูมิแพ้ของลูกน้อยดีขึ้น


1. ลมพิษในเด็กคืออะไร มีลักษณะอาการอย่างไร

ลมพิษในเด็ก เป็นอาการที่มีผื่นเกิดขึ้นบนผิวหนัง โดยผื่นนี้จะมีลักษณะเฉพาะตัวและสามารถสังเกตเห็นชัดได้ด้วยตาเปล่า ลมพิษจะทำให้ผิวมีความแดงและนูน ส่วนอาการคันหรือไม่คันขึ้นจะอยู่กับแต่ละบุคคล 

โดยอาการลมพิษในเด็กที่พบได้บ่อยมีดังนี้

  • ผื่นนูน บวม แดง : เป็นลักษณะเด่นๆ ของลมพิษ ซึ่งอาจมีขนาดเล็กหรือใหญ่ก็ได้ อาจกระจุกเพียงจุดเดียวหรือกระจายทั่วร่างกายก็ได้เช่นกัน
  • อาการคัน : อาการลมพิษในเด็กอาจทำให้เกิดอาการคันได้

2. ลมพิษในเด็กเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

ลมพิษในเด็กเป็นอาการผิดปกติที่แสดงออกมาทางผิวหนัง ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ยกตัวอย่างเช่น

  • การติดเชื้อ: เด็กมีการติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียจนเกิดอาการป่วย และลมพิษเป็นหนึ่งในอาการที่แสดงออกมาจากอาการป่วย เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
  • อาการแพ้: ไม่ว่าจะเป็นอาการแพ้ยาในเด็ก หรือแพ้อาหาร เช่น แพ้นมวัว แพ้อาหารทะเล แพ้ถั่ว ฯลฯ
  • อาการแพ้สัมผัส: ไรฝุ่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ มลภาวะต่างๆ
  • สิ่งกระตุ้นทางกายภาพ: ความร้อน ความเย็น  การออกกำลังกายที่ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
  • โรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ: เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE), ลมพิษที่มีเส้นเลือดอักเสบร่วมด้วย, โรคไทรอยด์ที่เกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ
  • ไม่ทราบสาเหตุ: หลายครั้งการเกิดลมพิษในเด็กก็ไม่อาจหาสาเหตุได้พบ และส่วนใหญ่คนไข้เด็กมักมีอาการลมพิษแบบเรื้อรัง

3. ลมพิษในเด็กถูกแบ่งออกเป็นกี่ประเภท

อาการลมพิษในเด็กสามารถจำแนกประเภทได้ 2 ประเภทตามระยะเวลาที่เกิดอาการ

3.1. ลมพิษแบบเฉียบพลัน
ลมพิษแบบเฉียบพลัน เป็นลักษณะลมพิษที่ปรากฏบนผิวหนังในระยะสั้นไม่เกิน 6 สัปดาห์ สามารถพบได้ในเด็กทุกวัย โดยสาเหตุที่พบลมพิษแบบเฉียบพลันได้บ่อยคือการติดเชื้อและอาการแพ้ต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ

3.2. ลมพิษแบบเรื้อรัง
ลมพิษแบบเรื้อรัง เป็นลักษณะลมพิษที่เป็นมามากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ และมีอาการติดต่อกันนานกว่า 6 สัปดาห์ สามารถเกิดขึ้นได้ในเด็กทุกช่วงวัยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเกิดขึ้นแบบไม่พบสาเหตุ หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับการรักษา ทำให้อาการลมพิษยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ลมพิษเรื้อรังยังสามารถเกิดจากสภาพแวดล้อมหรือสิ่งกระตุ้นอื่นๆ เช่น ความร้อน ความเย็น ฝุ่น หรือเหงื่อได้อีกด้วย

4. ลมพิษในเด็กสามารถเกิดขึ้นร่วมกับโรคอื่นได้หรือไม่

ลมพิษในเด็กเป็นอาการที่แสดงถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจากอาการป่วยติดเชื้อหรือการแพ้ แต่ลมพิษในเด็กก็อาจเป็นหนึ่งในอาการของโรคอื่นๆ อาทิ โรคหอบหืด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคไทรอยด์ หรือโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติได้เช่นกัน ผู้ปกครองจึงควรพาเด็กเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทำการตรวจหาสาเหตุของการเป็นลมพิษและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมกับโรคต่อไป

5. ลมพิษในเด็กแบบไหน ที่พ่อแม่ควรต้องพาลูกเข้าพบแพทย์โดยด่วน

ถึงแม้ว่าลมพิษในเด็กจะเป็นอาการที่พบได้บ่อยและส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง แต่หากพบอาการลมพิษในเด็กร่วมกับโรคหรืออาการดังต่อไปนี้ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

  • ตัวร้อน มีไข้สูง 
  • มีอาการซึม ไม่รับประทานอาหาร ไม่ร่าเริงเหมือนปกติ

และหากพบว่าเด็กมีอาการลมพิษร่วมกับอาการตาบวม ปากบวม อาเจียน ปวดท้อง หายใจไม่ออก อาจเป็นอาการลมพิษจากอาการแพ้รุนแรง ซึ่งผู้ปกครองจะต้องรีบพาเด็กเข้าพบแพทย์โดยด่วน เพราะหากปล่อยไว้นานเกินไปอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที

6. อาการลมพิษในเด็กสามารถวินิจฉัยได้อย่างไร

อาการลมพิษในเด็กสามารถประเมินได้ด้วยการสังเกตผื่นที่ปรากฏบนผิวของเด็ก และแพทย์จะมีการซักประวัติคนไข้เพิ่มเติมเพื่อดูว่าคนไข้เป็นลมพิษจากสาเหตุใด ในกรณีที่ยังไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุของลมพิษจากการซักประวัติ แพทย์อาจพิจารณาส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการคลินิกเพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือดเพื่อดูการติดเชื้อหรือการอักเสบในร่างกาย หรือการตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ เพื่อวางแผนการรักษาให้เหมาะสมกับคนไข้เด็กมากที่สุด

7. ลมพิษในเด็กมีวิธีรักษาอย่างไรบ้าง

การรักษาลมพิษในเด็กเบื้องต้น แพทย์จะจ่ายยาแก้แพ้เพื่อลดอาการคันและผื่นลมพิษบนผิว โดยมีทั้งรูปแบบยากิน และยาฉีด หลังจากคนไข้ได้รับยาแก้แพ้แล้ว ส่วนใหญ่ผื่นลมพิษก็จะยุบลงได้ในเวลาไม่นาน
แต่หากอาการลมพิษที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากอาการแพ้ คนไข้เด็กจะต้องเข้ารับการรักษาเพิ่มเติมให้ตรงกับโรคที่เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดลมพิษ จึงจะสามารถแก้ปัญหาลมพิษได้

8. วิธีดูแลและป้องกันไม่ให้ลูกเป็นลมพิษ

วิธีป้องกันการเกิดซ้ำ ขึ้นกับสาเหตุของลมพิษ ถ้าเกิดจากการแพ้ จะต้องหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้เฉพาะบุคคล เช่น อาหาร ยา สิ่งสัมผัสต่างๆ ถ้าเกิดจากการกระตุ้นทางกายภาพ ก็ต้องเลี่ยงสภาวะนั้นๆ เช่น ความร้อน ความเย็น และถ้าเกิดจากการติดเชื้อ การดูแลรักษาความสะอาด สุขอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อก็จะลดโอกาสการเกิดลมพิษซ้ำได้

9. เลือกพบหมอผิวหนังเด็ก ที่โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช เพื่อให้ลมพิษในเด็กและอาการภูมิแพ้ของลูกน้อยดีขึ้น

ลมพิษในเด็กเป็นอาการที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะจากการแพ้อาหาร แพ้ยา แพ้สัมผัส การสัมผัสความร้อน ความเย็น หรือกรณีที่ร่างกายมีการติดเชื้อ ป่วย ไม่สบาย ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดผื่นลมพิษในเด็กได้เช่นกัน ดังนั้นหากทราบแล้วว่าลูกเราแพ้อะไร ป่วยเป็นอะไรอยู่ก็ควรจะรับมือและรักษาให้เหมาะสม 

แต่หากคุณพ่อคุณแม่ต้องการหาสาเหตุและรักษาอาการลมพิษของลูกน้อย สามารถมาพบหมอผิวหนังเด็ก ที่โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช ที่มีประสบการณ์ในการดูแลรักษาโรคผิวหนังในเด็ก มามากกว่า 6 ปี 

นอกจากนี้ ในกรณีที่อาการลมพิษในเด็กเกิดจากโรคภูมิแพ้ ที่โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช มีศูนย์โรคภูมิแพ้และโรคหืดในเด็ก ที่มีทีมกุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้ ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขากุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โดยมีบริการดูแลรักษาแบบครบวงจรสำหรับเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ เพื่อให้ลูกน้อยได้รับการรักษาที่ดีที่สุด

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?