Working Mom กับการให้นมลูก

Working Mom กับการให้นมลูก
  • ช่วงระหว่างลาคลอด 4-6 สัปดาห์แรก ควรให้ลูกได้ดูดนมแม่จากเต้าอย่างเดียว
  • หลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนก่อนกลับไปทำงานควรเริ่มทำการเก็บน้ำนม

วิธีการเก็บน้ำนม

การเก็บน้ำนมทำได้ 2 วิธี คือ การบีบโดยใช้มือ และ การบีบโดยใช้เครื่องปั๊ม

การบีบน้ำนมจากเต้าด้วยมือ

ข้อดี
เป็นวิธีการที่สะดวก ปลอดภัย สามารถควบคุมความแรงได้ด้วยตัวเอง เพราะเป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่มีปัญหาหัวนมแตก เพราะการมีผิวสัมผัสระหว่างมือกับเต้านมทำให้เกิดการกระตุ้นกลไกน้ำนมพุ่ง (Let down’s reflex) ได้ดี
ข้อพึงระวัง
ทุกขั้นตอนต้องทำอย่างนุ่มนวล ถูกวิธี จึงจะไม่เจ็บ ไม่ช้ำ ปริมาณของน้ำนมเป็นผลโดยตรงจากการบีบกระตุ้นเต้านม ซึ่งต้องทำอย่างน้อยทุก 3 ชั่วโมง

การบีบน้ำนมจากเต้าด้วยเครื่องปั๊ม

ก่อนเริ่มปั๊มนมควรนวดสัมผัสเบาๆ บริเวณเต้านมก่อน เพราะจังหวะของเครื่องปั๊มจะมีอยู่แค่ 2 จังหวะ คือ บีบ-ปล่อย ซึ่งต่างจากการบีบด้วยมือคือจะมีการกด-บีบ-คลาย คล้ายการดูดของลูก จึงควรเริ่มด้วยแรงดูดปั๊มที่เบาๆ แล้วค่อยๆ ปรับขึ้นเพื่อป้องกันเต้านมเจ็บ

  •  สามารถปั๊มทีละ 1 หรือ 2 เต้าก็ได้เพื่อประหยัดเวลาในการปั๊มระหว่างวันหรือขณะทำงาน
  • หยุดปั๊มเมื่อน้ำนมไหลช้าลง

เก็บน้ำนม เรื่องไม่ยาก

1. ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด ก่อนการ บีบ-เก็บ น้ำนมเสมอ
2. เก็บน้ำนมในภาชนะที่สะอาด ที่ผ่านการทำให้ปลอดเชื้อแล้วด้วยวิธีนึ่งหรือต้มและผึ่งให้แห้ง อาจเป็นแก้วหรือพลาสติกชนิดที่มีฝาปิดมิดชิด หรือถุงเก็บน้ำนมที่ปลอดเชื้อ
3. ควรเก็บน้ำนมให้มีปริมาณพอดีสำหรับหนึ่งมื้อ เพราะถ้ากินไม่หมดที่เหลือต้องทิ้งไป
4. ติดป้ายบอกวันที่ และ เวลาที่บีบเก็บ เพื่อนำเอาอันที่บีบก่อนไปใช้ก่อน
5. หากต้องการเก็บน้ำนมนานเกินกว่า 2 วันให้เก็บในช่องแช่แข็งทันที และเมื่อนำน้ำนมไปละลายแล้วห้ามนำไปแช่แข็งใหม่อีก แต่อาจเก็บต่อในช่องตู้เย็นธรรมดาได้อีกประมาณ 2 วัน ถ้าลูกยังไม่ได้ดูด
6. น้ำนมเมื่อวางไว้เฉยๆ จะแยกเป็นชั้นไขมันและน้ำ ก่อนนำให้ลูกดูดควรเขย่าเบาๆ ก่อน

ระยะเวลาในการเก็บน้ำนมที่เพิ่งบีบ

  • อุณหภูมิห้อง
    – 25 องศาเซลเซียส  ระยะเวลา 4-6 ชั่วโมง
    – 19-22 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 10 ชั่วโมง
    – 15 องศาเซลเซียส (เมื่อเก็บในกระติกน้ำแข็ง) ระยะเวลา 24 ชั่วโมง
  • ในตู้เย็น
    – น้ำนมที่เพิ่งบีบ 0-4 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 8 วัน
    – น้ำนมที่ถูกละลาย 0-4 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 24 ชั่วโมง
  • ในตู้เย็น
    – ตู้เย็นประตูเดียว (-15 องศาเซลเซียส) ระยะเวลา 2 สัปดาห์
    – ตู้เย็น 2 ประตู (-18 องศาเซลเซียส) ระยะเวลา 3-6 เดือน
    – ตู้แช่แข็ง (-19 องศาเซลเซียส) ระยะเวลา 6-12 เดือน

น้ำนมที่แช่เย็นไว้ จะนำมาใช้ได้อย่างไร

  • เอานมที่แช่ไว้ออกมาตั้งทิ้งไว้ให้ละลายและใช้ได้เลยโดยไม่ต้องอุ่น
  • ถ้าต้องการอุ่น ให้วางขวดนมในแก้วน้ำร้อนแทน ห้ามนำไปอุ่นหรือต้มในเตาร้อนหรือไมโครเวฟ เพราะจะทำให้เสียคุณค่าภูมิต้านทานที่อยู่ในนมแม่และทำให้น้ำนมร้อนเกิน อาจลวกปากลูกได้
  • น้ำนมที่นำมาอุ่นแล้ว และกินไม่หมดให้ทิ้งไปไม่นำกลับมาแช่เย็นหรือไปใช้กินในมื้อต่อไป

คลินิกนมแม่สมิติเวช

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?