ทำไมต้องตรวจหลอดเลือดสมอง

ทำไมต้องตรวจหลอดเลือดสมอง

HIGHLIGHTS:

  • ความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากหลายปัจจัย
    • พบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น คาดเดาว่าจะพบอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น เนื่องจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
    • โรคความดันโลหิตสูงเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดสมองมากกว่า 8 เท่าเทียบกับคนที่ไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง
    • โรคเบาหวาน เสี่ยงมากขึ้น 6 เท่า
    • ไขมันสูง เสี่ยงมากขึ้น 1.8 เท่า
    • หลอดเลือดแดงแคโรทิดตีบชนิดไม่มีอาการเสี่ยงมากขึ้น 2 เท่า
    • ภาวะอ้วน เสี่ยงมากขึ้น 1.4 เท่า 
  • โรคหลอดเลือดสมอง เป้นสาเหตุที่ทำให้เกิดความทุพลภาพที่เกิดความสูญเสียทั้งในแง่สุขภาพกาย สุขภาพใจ เศรษฐกิจ
  • ไม่มีใครอยากป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง

การทำงานของสมองจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนและสารอาหารจากเลือด เมื่อใดก็ตามที่เส้นเลือดสมองถูกปิดกั้น ตีบ อุดตัน หรือเส้นเลือดแตก ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้ ทำให้สมองขาดเลือดจนเซลล์สมองได้รับความเสียหาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วน เนื่องจากยิ่งรักษาเร็ว จะช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ แต่หากช้าเกินไปอาจส่งผลความเสียหายต่อเนื้อสมอง นำไปสู่ภาวะทุพพลภาพ และเกิดความพิการ หรือ เสียชีวิตได้

สาเหตุของ โรคหลอดเลือดสมอง

  1. สมองขาดเลือดอาจเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic stroke)
  2. หลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic stroke) 
    โดยพบหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันได้บ่อยกว่า ประมาณ 70% ในขณะที่หลอดเลือดสมองแตกมีเพียง 30% ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด 
    สาเหตุของหลอดเลือดสมองตีบเกิดจากภาวะไขมันในเลือดสูง มีไขมันเกาะหลอดเลือดจำนวนมากจนหลอดเลือดตีบแคบ ส่งผลให้ความสามารถในการลำเลียงเลือดลดลง ส่วนหลอดเลือดสมองอุดตันมักเกิดจากลิ่มเลือดในหลอดเลือดสมองเอง หรือเกิดจากลิ่มเลือดในร่างกายไหลไปอุดตันบริเวณหลอดเลือดสมองจนเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงสมองได้เพียงพอ รวมถึงโรคที่ทำให้หลอดเลือดเสื่อมเร็วกว่าปกติ เช่น เบาหวาน
    สำหรับภาวะหลอดเลือดสมองแตกเกิดจากผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง ร่วมกับไขมันสูงจนทำให้เส้นเลือดขาดความยืดหยุ่น แตกเปราะง่าย ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงอย่างฉับพลัน ซึ่งถือเป็นภาวะวิกฤติอย่างมาก ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว

ปัจจัยเสี่ยง

โรคหลอดเลือดสมองเกิดจากหลายปัจจัย ทั้งที่ปรับเปลี่ยนได้และปรับเปลี่ยนไม่ได้ สืบเนื่องมาจากอายุ เพศ การดูแลสุขภาพ และการใช้ชีวิต

ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันได้

  •  ความดันโลหิตสูง คือปัจจัยที่มีความเสี่ยงสูงสุดของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองทั้งแตกและอุดตัน โดยผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่ไม่มีความดันสูงถึง 8 เท่า
  •  ไขมันในเลือดสูง เมื่อไขมันสะสมตามผนังหลอดเลือดจนตีบตันและขาดความยืดหยุ่น ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงทั้งหลอดเลือดสมองตีบและแตกโดยมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า
  •  เบาหวาน ผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนปกติ 1.8-6 เท่า เนื่องเบาหวานทำให้หลอดเลือดแข็งและแตกเปราะง่าย
  •  โรคหัวใจบางชนิด ที่ส่งผลให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจ ลอยไปอุดตันใน หลอดเลือดสมอง
  •  หลอดเลือดแดงแคโรทิดตีบชนิดที่ไม่มีอาการ เสี่ยงมากกว่าคนปกติ 2 เท่า
  •  สูบบุหรี่ เนื่องจากสารนิโคตินและคาร์บอนมอนอกไซด์จะไปลดปริมาณออกซิเจนที่ไปเลี้ยงสมอง รวมถึงทำลายผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ 2-3 เท่า
  •  ความอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ทำให้เป็นโรคต่างๆ ที่ส่งผลให้หลอดเลือดสมองผิดปกติ เสี่ยงมากกว่าคนปกติ 1.3 เท่า

ปัจจัยเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

  •  อายุ ผู้มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป พบว่ามีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้นเกือบ 50% ในทุกๆ 10 ปี เนื่องจากหลอดเลือดเสื่อมไปตามวัย หลอดเลือดหนาขึ้น ขาดความยืดหยุ่น หรือมีไขมันสะสมและหินปูนเกาะตามผนังหลอดเลือด
  •  เพศชายมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง
  •  ประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมอง มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองเช่นกัน
  •  เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

ปัจจัยเสี่ยงที่ป้องกันและเปลี่ยนแปลงได้

  •  ควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเสี่ยง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ให้อยู่ในเกณฑ์
  •  ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน 5 ครั้งต่อสัปดาห์
  •  งดสูบบุหรี่
  •  ตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงตรวจหาปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง
  •  หากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง ควรรับการรักษาและปฏิบัติตามแผนการรักษาของแพทย์ รวมถึงรีบพบแพทย์ทันที หากสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เช่น อ่อนแรง ชาครึ่งซีก ตาพร่ามัว ปวดศีรษะ
  •  หากพบอาการเตือนที่แสดงว่าหลอดเลือดสมองตีบ แม้อาการจะหายไปเอง ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัย

อาการของโรค หลอดเลือดสมอง

เนื่องจากสมองขาดเลือดจึงไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ โดยจะแสดงอาการมากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งมักเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ดังนี้

  •  รู้สึกชาหรืออ่อนแรงบริเวณใบหน้า หรือส่วนของร่างกายด้านใดด้านหนึ่งโดยทันที
  •  พูดช้าลง พูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ ปากเบี้ยว ไม่เข้าใจคำพูด
  •  ปวดศีรษะ เวียนศีรษะโดยไม่ทราบสาเหตุแบบฉับพลัน
  •  ตาพร่ามัว หรือเห็นภาพซ้อนทันทีทันใด
  •  เดินเซ หรือทรงตัวลำบาก

อย่างไรก็ตามในบางกรณีอาจมีอาการเกิดขึ้นชั่วคราวแล้วหายไป หรืออาจเกิดขึ้นหลายครั้งก่อนสมองจะขาดเลือดแบบถาวร ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติ  ควรรีบพบแพทย์   อย่าชะล่าใจ อาจเสี่ยงเป็น  "โรคหลอดเลือดสมอง" ได้ 

โรคหลอดเลือดสมอง”  สามารถตรวจหาความเสี่ยงก่อนเป็นโรคได้หลากหลายวิธี
คลิกอ่าน  โปรแกรมตรวจหาความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

  • การค้นหาคนที่มีปัจจัยเสี่ยง ให้การรักษาเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อลดการเกิดโรค จึงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด (Primary Prevention) 
  • การค้นหาปัจจัยเสี่ยง ควรทำให้ครบองค์รวมทั้งการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ตรวจสุขภาพสมองและหลอดเลือด
  • การตรวจสุขภาพสมองได้โดยการตรวจภาพวินิจฉัยสมอง MRI หรือ CT และการตรวจหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองได้แก่ Carotid Doppler Ultrasound ไปแล้วถึง 602 ราย โดยพบการตรวจที่มีความผิดปกติซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองถึง 190 ราย คิดเป็น 32% โดยผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทั้งหมด ได้รับคำแนะนำ การรักษา รวมถึงการติดตามที่เหมาะสม
  • การตรวจ Carotid Doppler Ultrasound สามารถที่จะช่วยค้นหาความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง ให้การรักษา ป้องกัน ก่อนที่ผู้ป่วยจะป่วย = stroke screening for stop stroke

การตรวจหาปัจจัยเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมอง

ปัจจุบันการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองสามารถชี้ตำแหน่งหลอดเลือดสมองผิดปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงหาความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ก่อนเกิดอาการ โดยมีรายละเอียดการตรวจดังนี้

  •  ตรวจความเข้มข้นและความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
  •  ตรวจระดับน้ำตาล ความดันโลหิต และไขมันในเลือด
  •  ตรวจค่าการอักเสบของหลอดเลือด
  •  ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) ว่ามีจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติหรือไม่
  •  ตรวจการไหลเวียนเลือดของหลอดเลือดแดงในสมอง (Transcranial Doppler Ultrasound)
  •  ตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อดูหลอดเลือดสมอง หรือมีภาวะสมองขาดเลือด
  •  ตรวจหลอดเลือดแดงบริเวณคอที่ไปเลี้ยงสมองด้วยคลื่นความถี่สูง (Carotid Duplex Ultrasound)

การรักษาโรค หลอดเลือดสมอง

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองมีความแตกต่างระหว่างหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันและหลอดเลือดสมองแตก โดยหากหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน จะทำการรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ ซึ่งจะได้ผลดีในกรณีที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลภายในเวลาไม่เกิน 4.5 ชั่วโมง หลังเกิดอาการและอาจยืดระยะเวลาไปถึง 24 ชั่วโมง ถ้ามาใน รพ.ที่สามารถให้การรักษาด้วยการใส่สายสวนหลอดเลือดแดงเพื่อลากเอาลิ่มเลือดออก

สำหรับหลอดเลือดสมองแตก อาจต้องรีบทำการผ่าตัดในกรณีที่เลือดออกมาก เพื่อควบคุมปริมาณเลือดที่ออก และรักษาระดับความดันโลหิต ป้องกันสมองเสียหาย

การดูแลหลังการรักษา

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่ได้รับการรักษาทันท่วงทีสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ แม้บางรายจะต้องใช้เวลาก็ตาม แต่ในบางกรณีผู้ป่วยอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่และต้องได้รับการดูแลและปรับตัวจากผลกระทบโรคหลอดเลือดสมอง เช่น อัมพฤกษ์หรืออัมพาต ต้องมีทีมสหสาขาในการดูแลผู้ป่วยครบทุกด้าน

ที่สำคัญที่สุดคือปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ รวมถึงรับประทานยา และพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด การรักษาไม่สม่ำเสมอทำให้ผู้ป่วยฟื้นฟูไม่ได้ผลเต็มที่ รวมถึงอาจกลับมาเป็นซ้ำ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

สอบถามเพิ่มเติม

*โปรดระบุ

ชื่อ*
ชื่อ*
นามสกุล*
นามสกุล*
ประเภทคำถาม*
ประเภทคำถาม*
คำถามของคุณ*
คำถามของคุณ*
อีเมล*
อีเมล*
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?