ตับแข็ง และภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย

ตับแข็ง และภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย

Highlights:

  • ตับแข็ง คือ การที่ตับถูกทำลายจากสาเหตุต่างๆ และเกิดการซ่อมแซมตัวเอง โดยสร้างเนื้อเยื่อคล้ายพังผืด ซึ่งมีลักษณะแข็งขึ้นมาแทนเนื้อตับปกติ ทำให้การทำงานของตับลดลง เลือดไปเลี้ยงตับน้อย ส่งผลต่อการสร้างสารอาหาร ฮอร์โมน การจัดการกับยา และสารพิษต่าง ๆ
  • การดูแลตัวเองในเบื้องต้น เพื่อลดความเสี่ยงจากตับแข็ง คือ การงดเครื่องดื่มแอลกฮอล์ และการตรวจภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบเอและบี สำหรับผู้ที่ไม่มีภูมิควรได้รับการวัคซีนป้องกัน
  • การตรวจไฟโบรสแกน ช่วยประเมินระดับความรุนแรงของภาวะตับแข็ง ประกอบการติดตามผล เพื่อเช็กการตอบสนอง และวางแผนการแก้ไขโรคให้กับผู้ป่วย อาจใช้แทนการเจาะเนื้อตับ ในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามหรือปฏิเสธการเจาะตับ 

ตับแข็ง คืออะไร

ตับแข็ง คือ การที่ตับถูกทำลายจากสาเหตุต่าง ๆ และเกิดการซ่อมแซมตัวเองโดยสร้างเนื้อเยื่อคล้ายพังผืด ซึ่งมีลักษณะแข็งขึ้นมาแทนเนื้อตับปกติ ตับแข็งจะส่งผลทำให้การทำงานของตับลดลง เลือดที่ไปเลี้ยงตับน้อย ส่งผลต่อการสร้างสารอาหาร ฮอร์โมน การจัดการกับยาและสารพิษต่าง ๆ

ตับแข็งเกิดจากสาเหตุใด

สาเหตุของตับแข็งมีได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ไวรัสตับอักเสบ เช่น ไวรัสตับอักเสบชนิดบี ซี 
  • โรคไขมันพอกตับ
  • การได้รับสารพิษที่มีผลต่อตับ หรือการรับประทานยาบางชนิด ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • โรคประจำตัว เช่น โรควิลสัน โรคซิสติกไฟโบรซิส ภาวะดีซ่านจากท่อน้ำดีอุดตัน ภาวะตับอักเสบจากภูมิต้านทานตนเอง เป็นต้น

ทำไม? ไม่ดื่มเหล้าแต่เป็นตับแข็งได้

จากสาเหตุต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า การดื่มแอลกอฮอล์เป็นเพียงแค่ปัจจัยเดียวที่ทำให้เกิดภาวะตับแข็ง การป้องกันและกำจัดสาเหตุอื่น ๆ เช่น การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ ลดการใช้ยาและสารเคมี รวมถึงสมุนไพรที่อาจมีผลกับตับ การป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ การรักษาดัชนีมวลกายให้อยู่ในภาวะปกติ การตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอในผู้ที่มีความเสี่ยง และการปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ จึงมีความสำคัญที่จะช่วยป้องกันโรคตับแข็งได้

อาการของตับแข็ง

  1. ภาวะหลอดเลือดขอดในหลอดอาหาร (Esophageal varices) เกิดจากพังผืดในตับ ดึงรั้งทำให้เกิดความดันเลือดในตับและในหลอดอาหารสูงขึ้น จนเกิดเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร โดยหากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารแตก จะทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเป็นเลือด ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้
  2. ท้องมาน (Ascites) เป็นภาวะที่มีน้ำในช่องท้องปริมาณมากกว่าปกติ เกิดจากการที่แรงดันของหลอดเลือดในตับสูงขึ้นจนเกิดการรั่วซึมของน้ำออกมาจากตับ ร่วมกับภาวะที่ผู้ป่วยตับแข็งมักมีระดับโปรตีนอัลบูมินที่ต่ำลง (โปรตีนชนิดนี้จะช่วยอุ้มน้ำให้อยู่ในหลอดเลือด) จึงเกิดการสะสมปริมาณน้ำในช่องท้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ป่วยจะมีอาการท้องบวม ขาบวม สะดือจุ่น ภาวะนี้รักษาได้โดยการให้ยาขับปัสสาวะ 
    นอกจากนี้ผู้ป่วยดังกล่าว อาจเกิดการติดเชื้อในช่องท้องแทรกซ้อนได้ เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ลดลง ส่งผลให้มีอาการไข้ ปวดท้อง หรือท้องเสีย แพทย์จะวินิจฉัยโดยการเจาะน้ำในช่องท้องไปตรวจ และให้การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
  3. ภาวะไตวายจากตับแข็ง (Hepatorenal syndrome) เกิดจากภาวะตับที่เสื่อมสภาพ ทำให้มีไนตริกออกไซด์ และระบบฮอร์โมนที่ควบคุมการบีบตัวของเส้นเลือดแดงผิดปกติ มีผลให้เลือดไปเลี้ยงที่ไตลดลง ทำให้เกิดภาวะไตวายขึ้น โดยภาวะนี้พยาธิสภาพของเนื้อไตจะปกติดี
  4. ภาวะทางสมองของผู้ป่วยตับแข็ง เกิดจากความสามารถในการขจัดสารพิษของตับลดลง ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนเลือดในตับที่ผิดปกติ ส่งผลให้ของเสีย (โดยเฉพาะสารแอมโมเนีย) บางส่วนไม่ผ่านการกรองที่ตับ ทำให้เกิดสารพิษดังกล่าวปนกับกระแสเลือด และมีผลกระทบต่อการทำงานของสมอง 
    โดยผู้ป่วยมีอาการง่วงตอนกลางวัน มือสั่น พูดจาสับสน ความรู้สึกตัวลดลง หรือหมดสติได้ โดยปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ได้แก่ การติดเชื้อ ท้องผูก 

การรักษาตับแข็ง และคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยตับแข็ง

  1. หาสาเหตุของตับแข็งและรักษาสาเหตุ เพื่อลดการทำลายเนื้อตับ สามารถทำให้พังผืดลดลงได้ เช่นรักษาหรือกำจัดไวรัสตับอักเสบบี ซี และสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ หรืองดเว้นการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
  2. โภชนาการ ผู้ป่วยตับแข็งควรรับประทานอาหารประมาณ 35 – 40 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมและมีโปรตีนอย่างน้อย 1.2 – 1.5 กรัม ต่อกิโลกรัมต่อวัน เนื่องจากตับมีความสามารถในการสะสมพลังงานได้น้อยกว่าปกติ จึงแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหาร 4 – 6 มื้อต่อวัน โดยเฉพาะมื้อก่อนนอน นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคตับแข็งควรงดอาหารเค็ม และเกลือ เพื่อลดการบวมและการสะสมของน้ำในช่องท้อง
  3. การส่องกล้องทางเดินอาหาร เพื่อดูหลอดเลือดขอดในหลอดอาหาร โดยหากพบเส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร แพทย์อาจพิจารณาให้ยา เพื่อลดความดันในหลอดเลือดหรือรัดเส้นเลือดดำขอด ในบริเวณหลอดอาหาร เพื่อป้องกันเส้นเลือดแตก 
  4. การตรวจคัดกรองมะเร็งตับ เนื่องจากผู้ป่วยตับแข็งจากทุกสาเหตุ มีโอกาสเป็นมะเร็งตับสูงกว่าคนทั่วไป ดังนั้นผู้ป่วยตับแข็งทุกคน ควรได้รับการตรวจคัดกรองโดยการอัลตร้าซาวด์ทุก ๆ 6 เดือน
  5. ผู้ป่วยตับแข็งทุกรายควรได้รับการตรวจภูมิคุ้มกัน ไวรัสตับอักเสบเอและบี และควรได้รับการฉีดวัคซีนหากผู้ป่วยยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสดังกล่าว

การตรวจตับด้วยวิธี “ไฟโบรสแกน” (FibroScan)

ไฟโบรสแกน (FibroScan) เป็นเทคโนโลยีในการตรวจตับ เพื่อหาภาวะพังผืดในเนื้อตับ และตรวจวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ ไม่เจ็บ ลดความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น 

ตรวจไฟโบรสแกน (FibroScan) เพื่ออะไร

การตรวจไฟโบรสแกน ช่วยประเมินระดับความรุนแรงของภาวะตับแข็ง ประกอบการติดตามผล เพื่อเช็กการตอบสนอง และวางแผนการแก้ไขโรคให้กับผู้ป่วย 

ไฟโบรสแกน อาจใช้แทนการเจาะเนื้อตับ ในผู้ป่วยที่มีข้อห้ามหรือปฏิเสธการเจาะตับ ยิ่งตรวจก่อน  รู้ก่อน จะทำให้รักษาได้ทันที และมีประสิทธิภาพตามไปด้วย 

อาการที่ควรตรวจไฟโบรสแกน (FibroScan)

การตรวจโบรสแกน (FibroScan) เป็นการตรวจ เพื่อตรวจความผิดปกติของตับ  ที่มีการสังเกตอาการผิดปกติไป เช่น 

  • มีอาการอาหารไม่ย่อยบ่อยๆ รู้สึกอ่อนเพลีย (เนื่องจากตับไม่สามารถหลั่งเอนไซม์ ที่ใช้ในการย่อยอาหารออกมาได้)
  • พบว่า มีประวัติการดื่มสุราเรื้อรัง (พิษสุราจะทำลายตับโดยตรง) 
  • มีคนในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งตับ ทำให้ส่งผลต่อบุคคลในครอบครัวคนอื่นๆ สามารถเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ได้ 
  • หากมีอาการตาเหลืองและตัวซีดเหลืองผิดปกติ ให้ลองสังเกตตัวเองเบื้องต้น อาจจะเกิดจากการทำงานของตับที่ผิดปกติ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจติดตามและเข้ารักษาอย่างถูกต้อง 

วิธีการและขั้นตอนการตรวจไฟโบรสแกน (FibroScan)

  • ก่อนการตรวจไฟโบรสแกน ควรงดอาหารอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง 
  • การตรวจไฟโบรสแกนไม่เจ็บปวด ตรวจง่าย รวดเร็ว ใช้เวลาไม่เกิน 5-10 นาที และรอทราบผลทันที
  • ในการตรวจ เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยจัดท่าทางนอนหงาย ลักษณะยกแขนทั้งสองข้างไว้เหนือศีรษะ และทาเจลที่หัวตรวจหรือผิวหนังคนไข้ 
  • ขณะตรวจอาจจะรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน บริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับปลายหัวตรวจ สามารถตรวจซ้ำได้หลายครั้งโดยไม่เป็นอันตราย
  • แพทย์จะแปลผลไฟโบรสแกนที่ได้ ไว้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคตับ ผลที่ได้เป็นค่าความแข็งของตับ เป็นเลขตั้งแต่ 1.5 - 75 กิโลพาสคาล และค่าปริมาณไขมันสะสมในตับตั้งแต่ 100-400 เดซิเบล/เมตร 
  • หากทราบผลการตรวจ แพทย์จะให้คำแนะนำตามขั้นตอนของการรักษา หากพบว่าผลที่ออกมา มีภาวะพังผืดและไขมันในตับสูง ก็จะดำเนินการรักษาต่อเนื่องไป 

ข้อควรระวังในการตรวจไฟโบรสแกน

  1. ผู้ที่มีภาวะท้องมาน เพราะคลื่นความถี่จากตัวเครื่อง จะกระตุ้นให้เกิดอาการรุนแรงได้ ดังนั้นแพทย์จะรักษาโรคท้องมานให้หายดีก่อน จึงจะตรวจไฟโบรสแกนได้  
  2. ตรวจอวัยวะอื่นๆไม่ได้  ไฟโบรสแกนใช้กับตับเท่านั้น  หากเป็นอวัยวะอื่นๆ จะทำให้เกิดผลกระทบจนเป็นอันตรายได้
  3. ผู้ป่วยที่ติดอุปกรณ์ในร่างกาย คลื่นความถี่ของการตรวจ จะไปทำลายตัวอุปกรณ์ทำให้เกิดความเสียหายหรือเกิดผลข้างเคียง ดังนั้นในผู้ป่วยที่ติดอุปกรณ์ในร่างกาย ต้องแจ้งปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง 
  4. หญิงตั้งครรภ์ ควรต้องระมัดระวังตัวเอง เพราะคลื่นความถี่ของไฟโบรสแกน ส่งผลต่อการพัฒนาการและการเจริญเติบโตของตัวอ่อนทารกในครรภ์ และควรหลีกเลี่ยงไม่อยู่ใกล้กับตัวเครื่องในขณะเปิดใช้งานด้วย 

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?