ตามปกติแล้ว รกควรจะลอกตัวออกจากโพรงมดลูก หลังจากที่ทารกคลอดออกมาแล้ว ไม่ว่าจะคลอดธรรมชาติ หรือผ่าคลอด ทางหน้าท้องก็ตาม แต่หากทารกยังไม่คลอดแต่รกเกิดลอกตัวจากโพรงมดลูก ไม่ว่าจะหลุดลอกออกเพียงเล็กน้อย หรือหลุดลอกออกบริเวณกว้าง อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้ เพราะรกเป็นช่องทางการติดต่อระหว่างมารดาและทารกในครรภ์ ทั้งสารอาหารและออกซิเจน หากรกมีการลอกตัวออกจากผนังมดลูก อาจทำให้ทารกขาดสารอาหารหรือออกซิเจน และทำให้มารดาเสียเลือดมากได้
ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดพบได้บ่อยสุดในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ โดยมีอาการได้หลายรูปแบบ เช่น เลือดออกทางช่องคลอด ปวดท้อง มดลูกกดเจ็บ มดลูกมีการบีบตัวเกือบจะตลอดเวลา
อาจเกิดจากการกระแทกที่หน้าท้องอย่างรุนแรง เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ การตกจากที่สูง หรือการที่น้ำเดินอย่างรวดเร็ว
ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ทำให้เกิดอันตรายต่อแม่ตั้งครรภ์ได้ โดยคุณแม่อาจช็อคจากการเสียเลือดมาก มีภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติจากการเสียเลือด เกิดไตวาย และอวัยวะอื่นๆ ล้มเหลว นอกจากนี้ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด ยังทำให้ทารกขาดอาหารและออกซิเจน คลอดก่อนกำหนด หรือเสียชีวิตในครรภ์ได้
ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภาวะรกลอกตัว และอายุครรภ์ หากอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด และภาวะรกลอกตัวไม่รุนแรงทั้งมารดาและทารกในครรภ์ ยังไม่พบความผิดปกติ สามารถติดตามการรักษาโดยควรอยู่ภายใต้การดูแลของสูตินรีแพทย์อย่างใกล้ชิด แต่หากภาวะรกลอกตัวรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ควรต้องรีบยุติการตั้งครรภ์ทันที ซึ่งส่วนใหญ่มักทำโดยการผ่าตัดคลอด
นอกจากนี้ยังพบว่า รกลอกตัวก่อนกำหนด เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากภาวะครรภ์เป็นพิษ การแพทย์ปัจจุบันสามารถตรวจคัดกรองความเสี่ยงของครรภ์เป็นพิษได้ ตั้งแต่อายุครรภ์ 11 -13 สัปดาห์ 6 วัน จะพบโอกาสเสี่ยงของการเกิดได้มากกว่า 90 % และยังช่วยป้องกันได้ถึง 70% การฝากครรภ์ทันทีตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย และการมาตรวจครรภ์อย่างสม่ำเสมอตามแพทย์นัด จะช่วยป้องกันความเสี่ยงต่าง ๆ ได้
สมัครสมาชิกเพื่อจัดเก็บข้อมูลของคุณสำหรับการนัดหมายครั้งต่อไป
มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว? เข้าสู่ระบบที่นี่