การรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร แบ่งตามระยะของโรค ดังนี้
- ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะแรก อาจไม่แสดงอาการ แต่มาพบแพทย์ด้วยอาการแน่นท้อง ท้องอืด หรือจากการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งระยะเริ่มต้นนี้ สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด โดยใช้กล้องส่องทางเดินอาหารเข้าไปตัดเฉพาะเยื่อบุกระเพาะอาหารที่ผิดปกติ ซึ่งมีโอกาสหายขาดสูงมาก
- ผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะที่มะเร็งเริ่มมีขนาดโต แต่ยังไม่กระจายไปยังอวัยวะข้างเคียง สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดเป็นหลัก โดยการเอามะเร็งและต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงออก ทั้งนี้อาจมีการใช้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
- มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะที่มะเร็งลุกลาม ไปติดอวัยวะข้างเคียง เช่น ในผนังช่องท้อง ซึ่งเมื่อก่อนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด แต่ปัจจุบันสามารถใช้ยาเคมีบำบัดร่วมกับความร้อน มาช่วยในการผ่าตัด (HIPEC) ส่งผลให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดมากขึ้น
- มะเร็งกระเพาะอาหาร ระยะสุดท้าย หรือระยะมะเร็งกระจายไปอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด ตับ ระยะนี้ไม่สามารถผ่าตัดและไม่สามารถรักษาให้หายขาด แพทย์มักพิจารณาให้การรักษาด้วยเคมีบำบัด เพื่อควบคุมโรคและลดอาการของโรค
ผ่าตัด มะเร็งกระเพาะอาหาร
ในปัจจุบันการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหารสามารถทำได้ทั้งแบบเปิดหน้าท้อง (Open surgery) หรือผ่าตัดผ่านกล้องเป็นวิธีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับ สำหรับมะเร็งระยะแรกเริ่มหรือขนาดไม่ใหญ่มาก การผ่าตัดผ่านกล้องจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นจากอาการผ่าตัดได้เร็ว เจ็บแผลน้อยลง ลดระยะเวลาการพักรักษาที่โรงพยาบาลได้ ซึ่งต้องทำโดยศัลยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดผ่านกล้อง
ทั้งนี้การ ผ่าตัดเพื่อรักษาโรคกระเพาะอาหารแล้ว แพทย์อาจพิจารณาให้ทำเคมีบำบัดร่วมด้วย เพื่อลดความเสี่ยงโรคกำเริบและไม่กลับมาเป็นซ้ำ รวมถึงควบคุมโรคมะเร็งไม่ให้แพร่กระจายไปยังอวัยวะส่วนอื่น ซึ่งอาจมีผลกระทบข้างเคียงจากการให้ยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย
ดังนั้นผู้ป่วยควรพักผ่อนมาก ๆ รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและดื่มน้ำให้เพียงพอ รวมถึงทำจิตใจให้สงบ ไม่เครียดหรือวิตกกังวลมากเกินไป ข้อสำคัญคือต้องติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ