สิวคนเมือง

สิวคนเมือง

HIGHLIGHTS:

  • มลพิษทางอากาศ รวมถึงควันบุหรี่ เป็นหนึ่งสาเหตุของการเกิดสิว
  • อย่าเข้าใจผิดว่าเมื่อเป็นสิวแล้ว ห้ามทาครีมกันแดด หรือทาครีมทุกชนิด แต่ต้องเลือกครีมที่เหมาะกับสภาพผิว จะเป็นการดีที่สุด
  • การทาครีมกันแดดต้องทาทุกวัน และเลือกครีมที่ปกป้องได้ทั้งรังสียูวีเอ ยูวีบี มีค่า SPF30 และค่า PA +++ ทุกวัน

“หมอคะ ตั้งแต่หนูมาเรียนต่อกรุงเทพ หน้าหนูแย่ลงเยอะเลยค่ะ ทั้งหมอง สิวขึ้น แก่ นอนก็เหมือนเดิม กินก็เหมือนเดิม ไม่ได้เครียดด้วยนะคะ ทำไมเป็นงี้อะคะ??”

น้องนักศึกษาหน้าตาน่าเอ็นดูถามหมอด้วยแววตาสงสัยจริงจัง

เป็นคำถามที่น่าสนใจค่ะ คุณผู้อ่านคิดว่าเกิดจากอะไรคะ ระหว่างกรุงเทพกับต่างจังหวัด มีปัจจัยอะไรที่ต่างกันบ้าง?

แน่นอนค่ะว่าการอยู่ในเมืองใหญ่กับชนบท มีข้อแตกต่างหลายประการด้วยกัน แต่หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือ มลพิษทางอากาศ หรือ Air pollution ซึ่งหลายคนทราบกันดีว่า มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงผลของมลพิษทางอากาศกับผิวกันมากนัก

มลพิษทางอากาศประกอบไปด้วยสารเคมีหลายกลุ่ม ซึ่งแค่ฟังชื่อก็อาจเป็นมลพิษทางความจำไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น PAHs (polycyclic aromatic hydrocarbons), VOCs (volatile organic compounds), PM (particulate matter), O3 (Ozone) รวมถึงที่เรารู้จักกันดีอย่างควันบุหรี่ พบว่ามลพิษเหล่านี้ ส่งผลต่อผิวโดยสามกลไกหลักด้วยกัน

หนึ่งคือเจ้าฝุ่นผงที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ หรือ PM นั้น ก่อให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของซีบั้มที่ผิว (Squalene oxidation) ส่งผลให้เกิดสิวอุดตันมากขึ้น และยิ่งบวกเข้ากับรังสียูวีที่แรงกล้า ปฏิกิริยาจะยิ่งเกิดได้ดีมากขึ้นไปอีก พูดง่ายๆว่า ฝุ่นและแดดนั้น รวมพลังกันส่งผลให้ผิวทั้งมีสิวและดำขึ้นได้!

สองคือมลพิษเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดอนุมูลอิสระที่ผิว อนุมูลอิสระเป็นตัวการสำคัญที่เร่งให้เซลล์แก่ และสามคือ มลพิษทางอากาศก่อให้เกิดการอักเสบในระดับโมเลกุลของเซลล์ การอักเสบเป็นอีกกลไกสำคัญที่ทำให้ผิวแก่และส่งเสริมให้สิวเห่อมากขึ้น

งานวิจัยชิ้นหนึ่งศึกษากลุ่มตัวอย่างสาวจีน 200 คน เปรียบเทียบผิวระหว่างสาวปักกิ่งซึ่งเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูง กับสาวที่อาศัยอยู่ชนบทพบว่า สาวในเมืองมีผิวที่แย่กว่า โดยเฉพาะในส่วนของสิว ความชุ่มชื้น และความแข็งแรงของชั้นปกป้องผิว

สำหรับวิธีการที่จะต่อสู้กับมลพิษทางอากาศเหล่านี้นั้นสามารถทำได้โดย

  • หลบเลี่ยง เท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเราสามารถตรวจความสาหัสของมลพิษทางอากาศในกรุงเทพแต่ละวันได้ จากเว็บไซต์ aqicn.org/map/Bangkok
  • ล้างทำความสะอาดผิวหน้าเมื่อกลับถึงบ้าน ช่วยลดระยะเวลาที่ฝุ่นผงมลพิษจะตกค้างบนใบหน้า
  • เลือกครีมกันแดดที่ปกป้องได้ทั้งรังสียูวีเอ ยูวีบี โดยมีค่า SPF30 และค่า PA +++ หากมีสารต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบเป็นส่วนประกอบด้วยจะยิ่งดี ที่สำคัญคือ เมื่อมีแล้วต้องหมั่นทาทุกวันด้วย
  • เลือกครีมที่ไม่ก่อให้เกิดสิวอุดตัน (Non-comedogenic) และปราศจากสารพาราเบน (Paraben-free)

หลายคนยังเข้าใจผิด คิดว่าเมื่อเป็นสิวแล้วห้ามทาครีมกันแดด หรือทาครีมทุกชนิดบนใบหน้า ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว หากเรารู้จักเลือกครีมที่เหมาะสมกับสภาพผิว ช่วยลดความมัน และปกป้องผิวจากแสงแดดและมลพิษทางอากาศ จะส่งผลให้ปัญหาสิวกลายเป็นเรื่องสิวๆไปได้ โดยเฉพาะสิวคนเมืองที่หลายคนกำลังเผชิญ

References
  • Drakaki, Eleni, Clio Dessinioti, and Christina V. Antoniou. “Air pollution and the skin.” Frontiers in Environmental Science 2 (2014): 11.
  • Passarini, Beatrice, Salvatore Domenico Infusino, and Evangelia Kasapi. “Chloracne: still cause for concern.” Dermatology 221.1 (2010): 63-70.
  • Bowe, Whitney P., Nayan Patel, and Alan C. Logan. “Acne vulgaris: the role of oxidative stress and the potential therapeutic value of local and systemic antioxidants.” Journal of drugs in dermatology: JDD 11.6 (2012): 742-746.
  • Arican, Ozer, Ergul Belge Kurutas, and Sezai Sasmaz. “Oxidative stress in patients with acne vulgaris.” Mediators of inflammation 2005.6 (2005): 380-384.
  • Bowe, Whitney P., and Alan C. Logan. “Clinical implications of lipid peroxidation in acne vulgaris: old wine in new bottles.” Lipids in health and disease 9.1 (2010): 1.
  • Pham, D‐M., et al. “Oxidization of squalene, a human skin lipid: a new and reliable marker of environmental pollution studies.” International journal of cosmetic science 37.4 (2015): 357-365.
  • Krutmann, Jean, et al. “Pollution and skin: from epidemiological and mechanistic studies to clinical implications.” Journal of dermatological science 76.3 (2014): 163-168.
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?