เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับโรค ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy)

เรื่องที่คุณอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับโรค ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy)

HIGHLIGHTS:

  • ผู้ที่มีความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นเบาหวาน หรือเคยติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจนำมาก่อน เช่น โรคหวัด หรือ โรคไข้หวัดใหญ่ มีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรค Bell’s palsy
  • โดยทั่วไป อาการของโรคจะหายไปภายในระยะเวลา 1-2 เดือน แต่ประมาณ 10 % ของผู้ที่เคยเป็นโรค Bell’s palsy มีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำอีก และอาจเกิดขึ้นที่ด้านตรงข้ามของใบหน้า หรือด้านเดิมก็ได้
  • โรคนี้ไม่ร้ายแรง ถ้าหากได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและทันเวลา 

คงดูน่าตกใจไม่น้อย ถ้าอยู่ดีๆ คุณก็มีอาการปากเบี้ยวไปครึ่งซีก

มันคืออาการหนึ่งของโรค ปากเบี้ยว หรือ Bell’s palsy นั่นเอง Bell’s palsy เป็น โรคซึ่งเกิดจากการบวม อักเสบของเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 (Cranial nerve) ที่ควบคุมการทำงานของใบหน้า

โรคปากเบี้ยว Bell’s palsy โรคนี้เกิดขึ้นกับใครก็ได้ พบได้บ่อยในคนทุกวัยทุกเพศ ทุกอาชีพและทุกเชื้อชาติ โอกาสในการเกิดโรคนี้สูงถึง 1 ใน 500 คน

อาการของโรคปากเบี้ยวจะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด มักมีอาการเตือน ปวดหลังหู ก่อนที่จะเริ่มมีปากเบี้ยว และปิดตาไม่ได้ อาจพบว่ามีอาการแสบตาข้างเดียวเพราะไม่สามารถปิดตาได้สนิท หรือรับประทานอาหารแล้วน้ำลายไหลออกทางมุมปากข้างใด ข้างหนึ่ง อาการของโรคอาจจะเป็นมากขึ้นจนสามารถสังเกตเห็นได้ชัดเจนเวลาผู้ป่วย พูด ยิ้ม หรือกะพริบตา บางรายอาจเป็นมากจนไม่สามารถขยับมุมปาก หลับตาหรือยักคิ้วหลิ่วตาได้เลย บางคนสังเกตว่าพูดไม่ชัด ผิวปากไม่ดัง หรือดูดน้ำไม่ได้ เนื่องจากกล้ามเนื้อใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งทำงานไม่ได้เหมือนปกติ หลายคนบ่นว่า มีความรู้สึกเหมือนหน้าบวม ตึงและชาที่ใบหน้าครึ่งซีก ทั้งนี้เป็นเพราะเวลากล้ามเนื้อใบหน้าไม่ทำงานก็จะทำให้เลือดมาคั่งในบริเวณนั้นมากกว่าปกติ และจะมีผลกระตุ้นต่อเซลล์รับความรู้สึกบริเวณใบหน้า จึงเกิดอาการชาขึ้นได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีการสูญเสียประสาทรับความรู้สึกที่ใบหน้าแต่อย่างใด อาการร่วมที่อาจพบได้คือ ลิ้นชาด้านเดียวกับที่ปากเบี้ยว ทานอาหารแล้วไม่รู้รส

อาการของโรคนี้ จะหายไปภายใน 4-8 อาทิตย์ แต่ประมาณ 10 % มีโอกาสเกิดขึ้นอีก และอาจเกิดขึ้นที่ด้านตรงข้าม ของใบหน้าได้ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีอาการเหลือปรากฏให้เห็นไปเป็นเวลานาน หรือตลอดชีวิต

คนที่มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้

  • หญิงตั้งครรภ์ โดยเฉพาะระยะสามเดือนสุดท้าย หรือหลังคลอดบุตร
  • ผู้ที่มีประวัติว่าคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจมาก่อน เช่น โรคหวัด หรือ ไข้หวัดใหญ่
  • คนที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ร่างกายอ่อนแอ ทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำลง
  • คนที่มีภาวะเครียด
  • คนที่เคยได้รับอุบัติเหตุ

วิธีการดูแลตัวเองเมื่อมีอาการ

  • ใช้น้ำตาเทียมเพื่อป้องกันตาแห้ง
  • ใช้ยาขี้ผึ้งป้ายตาก่อนนอน หรือใช้ที่ครอบตาป้องกันฝุ่นเข้าตาขณะนอนหลับ
  • สวมแว่นเวลาออกนอกบ้านเพื่อกันลมและฝุ่นละออง
  • ห้ามขยี้ตาข้างที่ปิดไม่สนิท
  • ทำกายภาพบำบัดโดยการออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้าเป็นประจำ ใช้อุปกรณ์พิเศษช่วยกระตุ้นใบหน้าข้างที่อ่อนแรง เช่น laser

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุ ที่แท้จริงของ โรคปากเบี้ยว แต่เชื่อว่าเกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เส้น ประสาทสมองคู่ที่ 7 ทำงานผิดปกติจนมีอาการบวม และขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงที่ใบหน้าจนเป็นอัมพาต ต่างจากโรคหลอดเลือดสมองซึ่งเป็นสาเหตุของการ เป็นอัมพาตของร่างกายครึ่งซีก ซึ่งมักจะมีความพิการทางสมองตามมาอย่างถาวร

อย่างไรก็ตาม โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคร้ายแรงแต่อย่างใด และมักจะรักษาให้หายได้ ถ้าหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างรวดเร็วและทันเวลา

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?