ศูนย์การรักษาทางเลือกโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่เพื่อผู้สูงอายุ

ชั้น 4 ศูนย์การรักษาทางเลือกโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่เพื่อผู้สูงอายุ เปิดบริการทุกวัน 07.00 – 20.00 น. 02-378-9114 info@samitivej.co.th

ศูนย์การรักษาทางเลือกโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่เพื่อผู้สูงอายุ

สมิติเวช ศรีนครินทร์

ดูแลโรคซับซ้อนอย่างปลอดภัย โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

เมื่ออายุเพิ่มขึ้น การรักษาโรคต่าง ๆ ในผู้สูงวัยอาจต้องพิจารณาเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อมีโรคประจำตัวหลายอย่าง หรือร่างกายไม่พร้อมสำหรับการผ่าตัดใหญ่ 

ที่ศูนย์  เรามุ่งเน้นการดูแลผู้สูงวัยด้วยเทคโนโลยีการรักษาสมัยใหม่  Minimally Invasive Interventionโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ 

หัตถการเหล่านี้ไม่ต้องเปิดแผล ไม่ต้องดมยาสลบ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน และฟื้นตัวได้เร็ว เหมาะอย่างยิ่งกับผู้สูงอายุที่มีข้อจำกัดทางสุขภาพ โดยครอบคลุมการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม ต่อมลูกหมากโต เนื้องอกมดลูก ก้อนเนื้อในอวัยวะต่าง ๆ รวมถึงภาวะฉุกเฉินที่ต้องหยุดเลือดหรือระบายหนองในร่างกาย  ดูแลโดยทีมแพทย์เฉพาะทางด้าน Interventional Radiology ที่มีประสบการณ์สูง พร้อมเทคโนโลยีภาพนำทางแบบทันสมัย ทำให้การรักษาแม่นยำ ปลอดภัย และเห็นผลได้อย่างชัดเจน

บริการรักษาที่ครอบคลุม พร้อมเทคโนโลยีเฉพาะทาง โดยทีมแพทย์เฉพาะทาง Interventional Radiologist

.

การรักษาแต่ละแบบมีข้อบ่งชี้เฉพาะราย และไม่สามารถใช้ทดแทนการผ่าตัดในผู้ป่วยระยะรุนแรงหรือซับซ้อนมากได้ แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม

1. การรักษาข้อเข่าเสื่อม   (Genicular Artery Embolization – GAE)
เหมาะสำหรับผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมระดับเริ่มต้นถึงปานกลาง (Kellgren-Lawrence grade II–III) และมีอาการปวดข้อเข่าเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา กายภาพ หรือฉีดยาเฉพาะที่ โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่สามารถผ่าตัดหรือไม่ต้องการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า (TKA)   

2.การรักษาต่อมลูกหมากโตโดยไม่ผ่าตัด (Prostatic Artery Embolization – PAE)
ใช้สำหรับผู้ชายที่มีอาการปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ปัสสาวะไม่สุด หรือปัสสาวะขัด เนื่องจากต่อมลูกหมากโตในระดับปานกลางถึงมาก และไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดแบบ TURP ได้ หรือปฏิเสธการผ่าตัด  

3. การทำลายก้อนเนื้อในตับ ไต ปอด ด้วยความเย็นหรือความร้อน (Tumor Ablation: Cryoablation / Microwave / RF)
เหมาะกับผู้ที่มีก้อนเนื้อ ขนาดไม่เกิน 3–5 เซนติเมตร และไม่มีการลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง โดยเฉพาะในรายที่ไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ หรือมีโรคร่วมที่ทำให้การผ่าตัดเสี่ยงสูง
หัตถการนี้ไม่เหมาะกับก้อนเนื้อขนาดใหญ่ หรือก้อนที่อยู่ใกล้อวัยวะสำคัญมาก เช่น เส้นเลือดใหญ่ หรือทางเดินน้ำดี 
ซึ่งอาจต้องใช้การผ่าตัดหรือรังสีร่วมด้วย

4. การทำลายก้อนเนื้อในเต้านม Breast Tumor Ablation
ใช้สำหรับทำลายก้อนเนื้อในเต้านมที่ ไม่ใช่มะเร็ง (เช่น Fibroadenoma)  หนึ่งในเทคนิคที่ได้รับความนิยมและใช้จริงในประเทศไทยคือ Cryoablation ซึ่งเป็นการแช่แข็งก้อนเนื้อจากภายในโดยใช้เข็มขนาดเล็ก แพทย์จะใช้ภาพจากเครื่อง Ultrasound เพื่อสอดเข็มเข้าไปยังตำแหน่งของก้อน และปล่อยความเย็นจัดระดับ -100 ถึง -160 องศาเซลเซียส เข้าไปทำลายเซลล์ในบริเวณนั้น เมื่อเซลล์ของก้อนถูกแช่แข็งและทำลาย ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะค่อย ๆ ดูดซึมและย่อยสลายก้อนออกไป ทำให้ก้อนฝ่อลง

5. การทำลายก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์  Ablation Therapy for Thyroid Nodules
เหมาะสำหรับก้อนเนื้อในต่อมไทรอยด์ โดยเฉพาะก้อนชนิดไม่ใช่มะเร็ง เช่น Thyroid Nodule หรือ Thyroid Goiter  ในปัจจุบันมีทางเลือกใหม่ที่ไม่ต้องผ่าตัด คือ การทำลายก้อนเนื้อด้วยพลังงานความร้อนหรือเคมี โดยไม่ต้องเปิดแผล หัตถการนี้เรียกว่า Ablation Therapy for Thyroid Nodules ซึ่งสามารถทำได้ภายใต้การใช้ยาชาเฉพาะที่ โดยแพทย์จะใช้ภาพ Ultrasound นำทางเข็มขนาดเล็กเข้าสู่ก้อนในต่อมไทรอยด์ แล้วปล่อยพลังงานเพื่อทำลายเซลล์ภายในก้อนให้ฝ่อลง  การทำลายก้อนต่อมไทรอยด์ด้วยวิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีก้อนเนื้อชนิดไม่ร้ายแรง ขนาดไม่เกิน 3–5 เซนติเมตร ที่มีอาการกดเบียดหรือรู้สึกไม่สบาย เช่น กลืนลำบาก เสียงแหบ หรือไม่สบายคอ และไม่ต้องการผ่าตัดด้วยเหตุผลด้านสุขภาพหรือด้านความงาม

เทคนิคที่ใช้บ่อย ได้แก่ Microwave Ablation (MWA) และ Alcohol Ablation (PEI) โดย Microwave Ablation จะใช้ความร้อนประมาณ 60–100 องศาเซลเซียส ทำลายเนื้อเยื่อภายในก้อนแบบแม่นยำ ส่วน Alcohol Ablation จะใช้แอลกอฮอล์เข้มข้นฉีดเข้าไปในก้อนเพื่อทำให้เซลล์ฝ่อตายและยุบตัวลงในระยะเวลาไม่กี่เดือน

ข้อดีของการรักษาแบบนี้คือไม่มีแผลเปิด ไม่มีรอยเย็บ ไม่กระทบต่อเนื้อเยื่อปกติของต่อมไทรอยด์โดยรอบ และไม่ทำให้ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายเสียสมดุล อีกทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหลีกเลี่ยงการใช้ยาฮอร์โมนทดแทนตลอดชีวิตได้ในหลายกรณี

6. การฉีดยาเคมีเข้าเส้นเลือดตรงก้อนมะเร็ง    (Transarterial Chemoembolization – TACE)
เหมาะกับผู้ป่วยมะเร็งตับระยะกลางที่ยังไม่มีการลุกลามออกนอกตับ และผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ โดยแพทย์จะฉีดยาเคมีร่วมกับสารอุดเส้นเลือดเพื่อทำลายก้อนมะเร็งเฉพาะจุด

7. การเจาะชิ้นเนื้อแบบแม่นยำ   (Image-Guided Biopsy)
ใช้ในการวินิจฉัยก้อนหรือความผิดปกติในตับ ปอด ไต กระดูก หรืออวัยวะอื่น ๆ โดยการเจาะเก็บชิ้นเนื้อด้วยเข็มขนาดเล็กภายใต้ภาพนำทาง (CT หรือ Ultrasound) 

8. การระบายของเสียในร่างกาย   (Percutaneous Drainage)
เหมาะกับผู้ป่วยที่มีหนอง น้ำดี หรือน้ำในช่องท้องหรือปอดคั่งจากการติดเชื้อ หรือภาวะอุดตัน โดยการใส่สายระบายช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อรุนแรง หากตำแหน่งของของเสียอยู่ในบริเวณที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ทางผิวหนัง หรือมีพังผืดจำนวนมาก อาจต้องพิจารณาใช้วิธีผ่าตัดหรือส่องกล้องร่วมด้วย

9. การห้ามเลือดฉุกเฉิน   (Angiography with Embolization)
ใช้ในผู้ป่วยที่มีเลือดออกเฉียบพลันจากทางเดินอาหาร เสมหะมีเลือด หรือมะเร็งที่มีเส้นเลือดแตก เช่น มะเร็งตับ ม้าม ไต โดยแพทย์จะตรวจหาเส้นเลือดที่มีปัญหาและอุดเลือดด้วยวิธีเฉพาะในกรณีที่เลือดออกจำนวนมากเกินควบคุม หรือมาจากอวัยวะที่ฉีกขาดรุนแรง อาจต้องพิจารณาเข้ารับการผ่าตัดฉุกเฉินทันที

ทีมแพทย์