ศูนย์รักษา Failed Back

ชั้น 1 ทุกวัน 07.00-22.00 น. 66 (0) 2022-9242 info@samitivej.co.th

ศูนย์รักษา Failed Back

ศูนย์รักษา  Failed Back

เนื่องจากการผ่าตัดรักษาโรคกระดูกสันหลังมีมากมายหลายวิธี ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยสามารถทำการรักษากระดูกสันหลังได้ทุกส่วนตั้งแต่ระดับคอ ระดับทรวงอก ระดับเอวจนถึงระดับกระดูกสันหลังส่วนกระเบนเหน็บ และแม้ว่าโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หลายๆ แห่งทั้งภาครัฐและเอกชนจะมีศักยภาพสูงในการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลัง จำนวนมากในแต่ละปี แต่ผลที่ได้อาจจะต่างกันไปตามความชำนาญของแพทย์และเครื่องมือที่ใช้ในการผ่าตัด ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแล้วได้ผลดีก็จะจบปัญหาไปในระดับหนึ่ง แต่ผู้ป่วยที่ผ่าตัดแล้วไม่ดีขึ้นก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้ ทั้งผู้ป่วย แพทย์ผู้รักษา และโรงพยาบาลที่ให้การรักษา นอกจากนี้ผู้ป่วยบางรายที่ผ่าตัดหายดีแล้ว ในเบื้องต้นก็อาจจะเกิดปัญหาต่อมาในภายหลังได้อีก การดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้นั้นถือเป็นความท้าทาย และโอกาสในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยในอนาคต การจัดตั้งศูนย์รักษา Failed Back หรือ Revision Spine Center ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ เป็นแห่งแรกของประเทศไทยและในเอเซียแปซิฟิก ที่จะสามารถช่วยผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้และยังสามารถรองรับผู้ป่วยต่างประเทศได้เป็นอย่างดี เป้าหมายของศูนย์ นอกจากการรักษาแล้วยังมุ่งให้เกิดการเรียนรู้ในเชิงการเรียนการสอนและการวิจัย เพื่อประโยชน์ของแพทย์รุ่นหลังที่จะเข้ามาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมและพัฒนาการรักษาให้ดีมากยิ่งขึ้นต่อๆไป โดยมิได้เน้นในเรื่องการหารายได้เป็นประเด็นสำคัญ
 

Failed Back Surgery  
อาการปวดหลัง” ไม่หายขาดภายหลังจากที่ได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังแล้ว ตามศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่า “Failed Back Surgery"  หรือ "Failed Back Syndrome” มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยทุกคนที่เคยได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อได้รับการผ่าตัดกระดูกสันหลังครั้งแรกแทนที่จะหายขาดจากอาการเจ็บปวด แต่กลับยังคงมีอาการปวดหลังเช่นเดิม อาจมากขึ้นหรือปวดเรื้อรังซึ่งสร้างความทุกข์ทรมานอย่างมาก และบางคนต้องรับความทุกข์ทรมานจากอาการนี้เป็นเวลาหลายปี ปัจจัยที่อาจจะก่อให้เกิดภาวะผิดปกติหลังการผ่าตัดกระดูกสันหลัง คือ
•    ความชำนาญของแพทย์ผู้ให้การรักษาหรือการผ่าตัด ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญมากที่สุดข้อหนึ่งต่อความสำเร็จในการผ่าตัดกระดูกสันหลังโดยเฉพาะการผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังจากการผ่าตัด ซึ่งแพทย์จะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดกระดูกสันหลังที่มีประสบการณ์สูงและมีความละเอียดรอบคอบ
•    ความพร้อมและการเตรียมการ ก่อนการผ่าตัดทั้งเครื่องมือทางการแพทย์และทีมแพทย์เฉพาะทาง
•    ตัวผู้ป่วยและชนิดของโรคกระดูกสันหลังที่เกิดขึ้น ความยากง่ายของโรคกระดูกสันหลังแต่ละชนิด กระดูกพรุนหรือบางมาก โรคประจำตัวอื่นๆ ที่ผู้ป่วยเป็นและรักษาอยู่ก็ส่งผลให้เกิดภาวะผิดปกติหลังการผ่าตัดกระดูกสันหลังตามมาได้ 
•    การเลือกเทคนิคและวิธีการที่ถูกต้องและเหมาะสมกับผู้ป่วย
•    การดูแลหลังการผ่าตัดที่ถูกต้อง 

เทคนิคในการรักษาผู้ป่วย Failed Back Surgery  

การรักษาผู้ป่วย Failed Back Surgery มิใช่ว่าจำเป็นต้องแก้ไขโดยการผ่าตัดเสมอไป ผู้ป่วยที่ได้รับความทุกข์ทรมานหลังการผ่าตัดในครั้งแรกหลายรายเมื่อได้รับคำแนะนำที่ดีและให้การรักษาอย่างถูกต้องก็สามารถผ่านช่วงเวลาที่ทุกข์ทรมานไปได้และหายจากอาการปวดในที่สุด สำหรับกลุ่มที่ยังคงมีปัญหาอยู่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นหลังการผ่าตัดใหม่ๆ หรือหลังการผ่าตัดเป็นเวลานาน จำเป็นต้องเลือกวิธีการที่เหมาะสมในการรักษาโดยต้องพิจารณาดังนี้
1. มีความเจ็บปวดทุกข์ทรมานมากน้อยเพียงใด
2. มีอาการทางระบบประสาทถูกกดทับร่วมด้วยหรือไม่
3. การใช้งานหรือดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอุปสรรคมากน้อยแค่ไหน
 

การฟื้นฟูหลังการรักษา

ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขกระดูกสันหลังในกลุ่ม Failed Back จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการรักษาซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปบ้างในแต่ละราย ในการนี้แพทย์ผู้ผ่าตัดจะให้การแนะนำวิธีการต่างๆ ที่ถูกต้อง ผู้ป่วยเองก็ควรซักถามด้วยว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อป้องกันการเกิด Failed Back ซ้ำซ้อน อย่าลืมว่าสถานกาณ์ของผู้ป่วยแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ความแตกต่างอาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ “ได้ผลที่สมบูรณ์ในการผ่าตัดอย่างเต็มที่หรือไม่” “สภาวะของ ตัวผู้ป่วยเอื้อเต็มที่หรือไม่” และสุดท้าย “การดูแลหลังการผ่าตัดต้องปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง”


ความพร้อมทางการแพทย์
ปัจจุบันมีการจัดตั้งศูนย์รักษาโรคกระดูกสันหลังเกิดขึ้นหลายแห่งในประเทศไทย แต่ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ มีความต่างจากที่อื่น เนื่องจากมีศูนย์รักษาโรคกระดูกสันหลังบริเวณเอวทั้งแบบไม่ผ่าตัดและผ่าตัด ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานการรักษาโรค เฉพาะทาง CCPC สำหรับโรคปวดหลัง (Low Back Pain) จากสถาบัน JCI (Joint Commission International) มีมาตรฐานคุณภาพเทียบเท่าสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีความพร้อมในด้านอุปกรณ์ นวัตกรรมการรักษาโรคกระดูกสันหลัง รวมทั้งเทคโนโลยีที่ทันสมัยในด้านการให้บริการอย่างครบวงจร ได้แก่
•    ห้องตรวจผู้ป่วยและห้องทำการรักษาที่มีอุปกรณ์ เครื่องมืออย่างครบครัน 
•    ห้องผ่าตัดที่มีมาตรฐานสูง พร้อมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย อาทิ เครื่อง C-ARM แบบ 2-D และ 3-D เครื่อง MRI ภายในห้องผ่าตัดเพื่อใช้สำหรับตรวจความถูกต้องในระหว่างการ ผ่าตัดและหลังการผ่าตัดหรือในรายที่มีปัญหาระหว่างการผ่าตัด
•    เครื่องมืออุปกรณ์เทคโนโลยีสูงในการวินิจฉัยโรคทางด้านกระดูกสันหลังและข้อ เช่น เครื่องวัดความหนาแน่นของกระดูก เครื่องคอมพิวเตอร์ระบบนำวิถี เครื่องตรวจด้วยระบบแม่เหล็ก (MRI) 
•    บริการตัดรองเท้า เครื่องพยุงแขนขา กายอุปกรณ์ที่ใช้ในการพยุงหลังทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด 
•    ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกด้านที่เกี่ยวข้องในการรักษาโรคกระดูกสันหลัง เช่น แพทย์ระบบประสาท ศัลยศาสตร์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัดที่ผ่านการฝึกอบรมและมีประสบการณ์สูง ในการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยโรคกระดูกสันหลัง ให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกายให้สมบูรณ์อย่างต่อเนื่องและถูกวิธี