ประจำเดือนผิดปกติ สัญญาณเตือนเนื้องอกมดลูก

ประจำเดือนผิดปกติ สัญญาณเตือนเนื้องอกมดลูก

HIGHLIGHTS:

  • ภาวะผิดปกติของการมีประจำเดือนอาจเป็นสัญญาณเตือนเนื้องอกมดลูก ซึ่งส่วนใหญ่พบในหญิงวัยทำงานอายุ 30-40 ปี มากถึง 20-25%
  • เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่พบว่าไม่เป็นอันตราย แต่อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะโลหิตจางจากการสูญเสียเลือดมาก แต่หากมีเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์อาจทำให้เสี่ยงต่อการการคลอดก่อนกำหนด แท้งบุตร และภาวะทารกในครรภ์มีปัญหาในการเจริญเติบโต
  • ปัจจุบันในประเทศไทยมีการนำเข้ายาชนิดรับประทาน ที่มีฤทธิ์ต่อก้อนเนื้องอกโดยตรงทำให้เซลล์เนื้องอกตายและทำให้ขนาดก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลง จึงสามารถใช้รักษาโรคเนื้องอกในมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้หญิงเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ร่างกายจะสร้างเนื้อเยื่อที่ผนังมดลูกให้หนาขึ้น เพื่อเตรียมรองรับการตั้งครรภ์  แต่หากไม่มีการปฏิสนธิ   เยื่อบุโพรงมดลูกก็จะหลุดลอกและไหลออกจากช่องคลอดเป็นเลือด “ประจำเดือน” โดยทั่วไปรอบประจำเดือนของผู้หญิงอยู่ในช่วง 28 + 7 วัน  เฉลี่ยครั้งละประมาณ 3 – 8 วัน  ซึ่งจะมามากที่สุดใน 2 วันแรก  ประจำเดือนอาจมีสีแดงเข้ม สีน้ำตาล หรือสีดำ ทั้งนี้ก่อนมีประจำเดือนยังอาจมีอาการต่างๆ เช่น ปวดศีรษะ  ท้องอืด หงุดหงิด ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ หน้าอกขยาย หิวง่าย  รวมถึงอาการปวดท้องระหว่างมีประจำเดือน ซึ่งอาการบางอย่างอาจเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงตกไข่ แต่บางอาการอาจเป็นสัญญาณเตือนโรคร้ายอย่างเนื้องอกมดลูก

ประจำเดือนปกติ / ผิดปกติ

  1. สี โดยปกติเลือดที่ออกมาในช่วงวันแรกของการมีประจำเดือนจะมีสีแดงคล้ำเล็กน้อย และจะกลายเป็นสีแดงสดในวันถัดมา หรือบางคนอาจเริ่มต้นรอบด้วยสีแดงสดและเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้นในช่วงวันท้ายๆ แต่หากพบประจำเดือนสีจางมากๆ หรือสีคล้ายน้ำเหลือง ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย
  2. ปริมาณ ประจำเดือนส่วนใหญ่จะมามากในช่วงวันแรกๆ จากนั้นจึงค่อยๆ ลดปริมาณลงจนหายไปในที่สุด โดยเลือดประจำเดือนในแต่ละ 1 รอบ ต้องไม่เกิน 80 ซีซี โดยสามารถสังเกตด้วยตัวเองว่าหากผ้าอนามัยเปียกชุ่มและต้องเปลี่ยนทุกๆ 2 – 3 ชั่วโมง  จัดได้ว่าเป็นผู้มีประจำเดือนมากเป็นปกติ  แต่หากต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมงอีกทั้งยังคงเป็นแบบนี้ตลอดช่วงมีประจำเดือนหรือมีประจำเดือนนานกว่า  8 วัน แบบนี้ถือว่าเกิดความผิดปกติกับร่างกาย เช่น การติดเชื้อ  เลือดจาง  ฮอร์โมนไม่สมดุล หรือเกิดเนื้องอกมดลูก ทั้งนี้รวมถึงการมีประจำเดือนกะปริดกะปรอยตลอดทั้งเดือน ควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุเช่นกัน
  3. อาการปวดท้อง ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาปวดท้องทั้งแบบปวดบีบและปวดเกร็งมากถึงประมาณ 70% ซึ่งอาการปวดท้องประจำเดือน เกิดจากการหลั่งสาร โพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) ออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน ซึ่งก่อตัวขึ้นบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก ในช่วงมีประจำเดือน มีผลทำให้กล้ามเนื้อบีบตัวและหดเกร็ง คล้ายภาวะเจ็บปวดขณะคลอดบุตร ในกรณีที่ร่างกายหลั่งสารปริมาณมากจะยิ่งทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้น หรืออาจมีอาการคลื่นไส้และท้องเสียร่วมด้วย แต่หากพบอาการปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรงบ่อยมากๆ หรือเกือบทุกครั้งที่มีประจำเดือน อาจเกิดจากเยี่อบุมดลูกเจริญผิดที่หรือมีเนื้องอกในมดลูก
  4. รอบประจำเดือน ประจำเดือน หมายความว่า มีเลือดออกจากช่องคลอด  เดือนละ 1 ครั้ง  หรือห่างกันประมาณ 28 + 7 วัน โดยแต่ละรอบควรมาเวลาใกล้เคียงกัน หรือห่างกันไม่เกิน 7-9 วัน   กรณีที่ประจำเดือนขาดหายบ่อยครั้ง หรือมาถี่กว่าปกติ เดือนละ 2-3 ครั้ง    อาจบ่งชี้ว่าระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลหรือเกิดโรคภายในอวัยวะสืบพันธุ์  จึงควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง

สัญญาณเตือนเนื้องอกมดลูกจากความผิดปกติของประจำเดือน

ภาวะผิดปกติของการมีประจำเดือนเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณเตือนเนื้องอกมดลูก ซึ่งส่วนใหญ่พบในหญิงวัยทำงานอายุ 30-40 ปี มากถึง 20-25%

เนื้องอกมดลูก คือเนื้องอกที่เกิดขึ้นในตัวมดลูก ซึ่งเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา ไม่ใช่มะเร็ง อาจพบที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของตัวมดลูก มีขนาดต่างๆ กันไป อาจเป็นก้อนเดียวหรือหลายก้อนก็ได้ บางชนิดโตช้า บางชนิดโตเร็ว

ถ้าเป็นเนื้องอกก้อนเล็ก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ อาจตรวจพบโดยบังเอิญเมื่อไปตรวจสุขภาพหรือปรึกษาแพทย์ด้วยปัญหาอื่น และอาจไม่จำเป็นต้องให้การรักษา

สามารถสังเกตเนื้องอกขนาดโต จากอาการผิดปกติของประจำเดือน ดังนี้

  • มีประจำเดือนออกมากและนานกว่าปกติ
  • มีอาการปวดหน่วงๆ ที่ท้องน้อยหรือปวดหลังส่วนล่างแบบเรื้อรัง
  • มีอาการปวดขณะร่วมเพศ
  • ท้องผูกเรื้อรัง
  • ปัสสาวะบ่อย กะปริดกะปรอย หรือปัสสาวะขัด
  • คลำพบก้อนที่ท้องน้อย หรือท้องโตคล้ายคนท้อง

ปัจจัยเสี่ยงเนื้องอกมดลูก

การแพทย์ในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุแน่ชัดของการเกิดเนื้องอกมดลูกได้  แต่อาจเกิดจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

  • ระดับฮอร์โมน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศหญิง คือฮอร์โมนเอสโตรเจน และฮอร์โมนโปรเจนเตอโรน ซึ่งไปกระตุ้นให้ก้อนเนื้องอกโตขึ้นได้
  • ผลกระทบจากยา โดยเฉพาะยาฮอร์โมนต่างๆ อาจเพิ่มการเจริญเติบโตของเนื้องอกมดลูกได้ เช่น ยาคุมกำเนิด เป็นต้น
  • กรรมพันธุ์ หากพบบุคคลในครอบครัวเป็นเนื้องอกในมดลูก ถือเป็นปัจจัยเพิ่มโอกาสเป็นเนื้องอกมดลูกมากขึ้น
  • อาหาร การรับประทานเนื้อแดง หรืออาหารไขมันสูง  รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลให้มีความเสี่ยงเกิดเนื้องอกมดลูกมากกว่าคนปกติ
  • สุขภาพร่างกาย ผู้ป่วยโรคอ้วน ผู้หญิงที่มีประจำเดือนก่อนวัย หรือขาดวิตามินบางชนิด จะมีเพิ่มโอกาสเสี่ยงภาวะเนื้องอกมดลูกมากขึ้น

การวินิจฉัยเนื้องอกมดลูก

การตรวจวินิจฉัยด้วยอัลตราซาวด์เป็นการตรวจดูอวัยวะภายใน สามารถทำได้ 2 ทาง ดังนี้

  1. การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างทางหน้าท้อง (Ultrasound Lower Abdomen) เพื่อตรวจดูอวัยวะในช่องท้องทั้งหมด โดยเฉพาะมดลูก  แนะนำให้ตรวจเมื่อมีอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงเนื้องอกมดลูก เช่น มีภาวะปวดท้องประจำเดือนเรื้อรัง หรือประจำเดือนมาผิดปกติ เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงที่บริเวณช่องท้องส่วนล่าง  ซึ่งต้องตรวจในขณะที่ปวดปัสสาวะมากพอสมควร ซึ่งผู้เข้ารับการตรวจควรดื่มน้ำเและต้องกลั้นปัสสาวะก่อนการตรวจ  เนื่องจากน้ำในกระเพาะปัสสาวะจะช่วยให้เห็นมดลูกจากการบดบังของอวัยวะอื่นๆ ได้ชัดเจนขึ้น โดยสามารถเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมพร้อมการตรวจสุขภาพประจำปี
  2. การตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound – TVS) เป็นการตรวจอัลตราซาวด์ด้วยคลื่นความถี่สูง เพื่อตรวจความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งอาจทำให้เกิดเนื้องอก  โดยสอดเครื่องมือขนาดเล็กเข้าทางช่องคลอดสำหรับเก็บภาพภายในมดลูก ซึ่งมีข้อจำกัดคือคลื่นความถี่สามารถผ่านไปในบริเวณที่จำกัด แต่ให้ภาพที่ชัดเจนมากกว่าการตรวจทางหน้าท้อง ทั้งนี้ผู้เข้ารับการตรวจต้องถ่ายปัสสาวะออกให้หมดก่อนตรวจ 

นอกจากนี้  อาจมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)  หรือการส่องกล้องตรวจมดลูก ทั้งนี้เพื่อยืนยันผลที่ชัดเจนก่อนการพิจารณาการรักษาที่มีประสิทธิภาพต่อไป

การรักษาเนื้องอกมดลูก

  • การใช้ยา กรณีผู้ป่วยที่ไม่รุนแรงหรือมีก้อนเนื้องอกขนาดเล็ก แพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาแก้ปวด หรือยาคุมกำเนิด เพื่อช่วยควบคุมอาการปวดของภาวะเนื้องอกมดลูก สำหรับผู้ป่วยที่มีประจำเดือนมามากผิดปกติ แพทย์อาจสั่งยาเสริมธาตุเหล็กให้รับประทาน เพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง
  • การใช้ฮอร์โมน ยาฮอร์โมนโกนาโดโทรปินรีลิสซิ่ง (gonadotropin releasing hormone) มีฤทธิ์ทำให้เนื้องอกฝ่อลง รวมถึงบรรเทาอาการต่างๆ แต่การใช้ฮอร์โมนดังกล่าวฯ อาจส่งผลให้การผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลงด้วย ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการร้อนวูบวาบและช่องคลอดแห้งได้ รวมถึงอาจเกิดเนื้องอกขึ้นอีกหลังจากหยุดใช้ยา
  • ยาจำเพาะเจาะจง ปัจจุบันวงการแพทย์ในประเทศไทยได้มีการนำเข้ายาชนิดรับประทานจากยุโรป ซึ่งเป็นตัวแรกและตัวเดียวที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อตัวรับของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Selective Progesterone Receptor Modulator – SPRM) ที่ได้รับอนุมัติในการรักษาโรคเนื้องอกมดลูก อีกทั้งยังมีฤทธิ์ต่อก้อนเนื้องอกโดยตรงทำให้เซลล์เนื้องอกตายและทำให้ขนาดก้อนเนื้องอกมีขนาดเล็กลง จึงสามารถใช้รักษาโรคเนื้องอกในมดลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถให้เพื่อลดอาการและขนาดก้อนเนื้องอกก่อนการผ่าตัด หรือให้การรักษาแบบเป็นคอร์สโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัดได้เช่นกัน ซึ่งยานี้สามารถหยุดเลือดประจำเดือนที่ออกมากได้อย่างรวดเร็วภายใน 5-10 วัน อีกทั้งยังสามารถลดขนาดก้อนเนื้องอกและอาการปวดได้อีกด้วย
  • การผ่าตัด กรณีเนื้องอกมดลูกมีขนาดใหญ่ หรือผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดรักษาเนื้องอกมดลูก เนื่องจากเป็นวิธีที่ได้ผลมากที่สุด

อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เคยมีเนื้องอกมดลูกก็มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้นในบางกรณีแพทย์อาจพิจารณาให้ตัดมดลูกออกเพื่อป้องกันการเกิดเนื้องอกมดลูกซ้ำ   ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถตั้งครรภ์ได้  และอาจมีผลต่อสุขภาพอื่นๆ ในระยะยาวได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้องอกและความรุนแรงของโรค ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและพิจารณาการรักษาตามกรณีที่จำเป็น

ภาวะแทรกซ้อนของเนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูกส่วนใหญ่พบว่าไม่เป็นอันตราย แต่อาจส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สบายตัว รวมถึงทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น ภาวะโลหิตจางจากการสูญเสียเลือดมาก  แต่หากเกิดเนื้องอกมดลูกขณะตั้งครรภ์ ภาวะแทรกซ้อนอาจเพิ่มความอันตรายและปัจจัยเสี่ยงต่อการการคลอดก่อนกำหนด แท้งบุตร และภาวะทารกในครรภ์มีปัญหาในการเจริญเติบโต นอกจากนี้เนื้องอกมดลูกบางชนิดอาจมีผลให้มีบุตรยาก

การป้องกันเนื้องอกมดลูก

ปัจจุบันยังไม่สามารถทราบสาเหตุการเกิดภาวะเนื้องอกมดลูกที่แน่ชัด  จึงไม่สามารถป้องกันได้ แต่การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงลงได้ โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เลี่ยงการรับประทานเนื้อแดงและอาหารไขมันสูง รวมถึงงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 7 ชั่วโมงขึ้นไป นอกจากนี้การลดความเครียด และทำจิตใจให้แจ่มใส จะช่วยให้ห่างไกลโรคเนื้องอกมดลูกได้

หากเนื้องอกมดลูกไม่มีอาการใดๆ หรือเนื้องอกมีขนาดเล็กมาก อาจไม่มีความจำเป็นต้องรักษา แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยต้องพบแพทย์สม่ำเสมอเพื่อเข้ารับการตรวจติดตามอาการ

คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?