ปาร์ตี้หนักไป ระวังไขมันพอกตับ

ปาร์ตี้หนักไป ระวังไขมันพอกตับ

HIGHLIGHTS:

สำหรับใครที่ชอบปาร์ตี้บ่อยๆ ยามค่ำคืน กินดื่มหนักๆ บอกกับตัวเองว่าเดี๋ยวค่อยกลับมาดูแลสุขภาพ แต่แอลกอฮอล์ที่ดื่มไปแล้ว  หรืออาหารแคลอรี่สูง โดยเฉพาะไขมัน คาร์โบไฮเดรต และน้ำตาล นอกจากจะทำให้อ้วนแล้ว ยังเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคตับแข็งและอาจกลายเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด

ไขมันพอกตับ ภัยร้ายที่มากับความสนุก

ภาวะไขมันพอกตับ (Fatty Liver Disease, steatosis) คือภาวะที่มีไขมันสะสมแทรกอยู่ในเซลล์ของตับมากกว่า 5-10% ของน้ำหนักตับ โดยคนส่วนใหญ่ไม่มีอาการใดๆ แต่มีประมาณ 7-30% กลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง(steatohepatitis) ทำให้เซลล์ตับตาย เกิดพังผืดในตับ(fibrosis)และกลายเป็นโรคตับแข็ง(cirrhosis)ในที่สุด ซึ่งเมื่อเกิดตับแข็ง จะไม่สามารถรักษาให้หายได้ และเป็นความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งตับ ทำได้เพียงควบคุมอาการและลดปริมาณไขมันในตับลงเท่านั้น 

ภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  • ภาวะไขมันพอกตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Alcohol-related Fatty Liver Disease)  การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากหรือดื่มติดต่อกันเป็นเวลานาน ส่งผลให้ตับทำงานได้ไม่เต็มที่  ไขมันจึงไปสะสมในเซลล์ตับ  ซึ่งความรุนแรงของโรคขึ้นกับชนิด ปริมาณ และระยะเวลาของการดื่ม
  • ภาวะไขมันพอกตับที่ไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ (Non-alcoholic Fatty Liver Disease) มีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดการสะสมของไขมันที่ตับมากกว่าปกติ ที่พบบ่อยได้แก่ ภาวะอ้วนลงพุง  โรคเบาหวาน  ไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง เป็นต้น สามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุ ความรุนเรงขึ้นอยู่กับระยะเวลาและการมีโรคประจำตัวร่วม 

สัญญาณเตือนเมื่อตับพัง

ความเหนื่อยล้า คลื่นไส้ หรือมึนงงหลังงานปาร์ตี้ที่มีการกินดื่มอย่างหนักอาจเกิดขึ้นได้เสมอ แต่หากมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่บ่งบอกว่าความสนุกสนานนั้นนำพาภาวะไขมันพอกตับมาด้วย ควรรีบพบแพทย์เพื่อปรึกษาและทำการวินิจฉัย โดยสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ดังนี้    

  • รู้สึกอ่อนเพลีย เหน็ดเหนื่อย หรือหมดแรง แม้จะพักจากงานปาร์ตี้หลายวันยังรู้สึกเหนื่อยล้า ไม่อยากกลับไปทำงาน  หรืออ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • คลื่นไส้ ไม่สบายในช่องท้อง บางกรณีอาจรู้สึกตึงบริเวณใต้ชายโครงขวา หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องปกติหลังปาร์ตี้ เนื่องจากรับประทานอาหารและดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมาก แต่อาการดังกล่าวควรหายดีภายใน 1-2 วัน  หากมีอาการนานผิดปกติ ควรพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย
  • เบื่ออาหาร หรือน้ำหนักลดผิดปกติ เมื่อใดที่รู้สึกเบื่ออาหารทั้งๆ ที่เป็นคนชอบรับประทาน แสดงว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกาย    
  • ขาดสมาธิ ความสามารถในการตัดสินใจลดลง ภาวะไขมันพอกตับอาจส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกมึนงง ขาดสมาธิ และการตัดสินใจลดลงได้
  • ปัสสาวะและอุจจาระเปลี่ยนสี เนื่องจากตับไม่สามารถกำจัดสารพิษ การเปลี่ยนแปลงของสีปัสสาวะที่เข้มขึ้นและอุจจาระที่จางลงอาจบ่งบอกถึงอาการตับพัง
  • ดีซ่าน เนื่องจากตับไม่สามารถขับสารสีเหลืองที่เรียกว่า ”บิลิรูบิน” ออกจากร่างกาย ได้ ส่งผลให้เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะไขมันพอกตับ

  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน มีภาวะอ้วนลงพุง หรือโรคอ้วน
  • ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน หรือรับประทานยากลุ่มต้านฮอร์โมน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไทรอยด์ 
  • ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ

การวินิจฉัยภาวะ ไขมันพอกตับ

สัญญาณเตือนไขมันพอกตับช่วยให้ผู้มีอาการสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ แต่หากไม่แน่ใจควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยตรวจร่างกาย เพื่อระบุว่าเกิดภาวะไขมันพอกตับหรือไม่หรืออยู่ในระดับใด ซึ่งโรคไขมันพอกตับแบ่งได้เป็น 4 ระยะ  คือ

ระยะแรก เป็นช่วงที่มีไขมันแทรกอยู่ตามเนื้อตับ(steatosis) แต่ยังไม่เกิดการอักเสบ หรือเกิดพังผืดในตับ เป็นระยะที่ยังไม่มีอาการใดๆ อาจตรวจร่างกายพบมีตับโตกว่าปกติได้

ระยะที่สอง ตับเริ่มมีการอักเสบ ตรวจพบค่าการทำงานของตับผิดปกติได้โดยที่ผู้ป่วยอาจยังไม่มีอาการ  หากละเลยไม่พบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษา อาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง (steatohepatitis)

ระยะที่สาม เมื่อตับมีภาวะอักเสบเรื้อรังอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เซลล์ตับค่อยๆ ถูกทำลาย จนเกิดพังผืดในตับ(fibrosis)  โดยที่ตับยังสามารถทำงานได้ปกติ การรักษาที่ระยะนี้ทำได้เพียงป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบและพังผืดมากขึ้นได้เท่านั้น 

ระยะที่สี่ เซลล์ตับถูกทำลายจนเกิดพังผืดทั่วทั้งตับเกิดภาวะตับแข็ง (cirrhosis) ทำให้ตับไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ มีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง และสามารถเกิดเป็นมะเร็งตับได้ในที่สุด 

นอกจากขั้นตอนการตรวจไขมันพอกตับเบื้องต้นด้วยการคลำบริเวณท้อง ดูว่าตับมีลักษณะโตผิดปกติ รวมถึงประเมินความเสี่ยงของไขมันพอกตับ ประวัติการดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ยังมีการตรวจเพิ่มเติมด้วยเครื่อง Fibroscan 

Fibroscan เครื่องมือตรวจภาวะ ไขมันพอกตับ

ไฟโบรสแกน (Fibroscan)  เทคโนโลยีที่ใช้เพื่อตรวจหาภาวะไขมันพอกตับ และพังผืดในเนื้อตับ โดยการปล่อยคลื่นเสียงเข้าไปในตับและอาศัยหลักการสะท้อนของคลื่นเสียง ซึ่งสามารถวัดปริมาณไขมันสะสมในตับ และพังผืดหรือความแข็งในเนื้อตับ เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคและวินิจฉัยภาวะตับแข็งได้ รวมถึงเป็นการตรวจติดตามผลการรักษา  ผู้ป่วยเพียงงดน้ำหรืออาหาร 3 ชั่วโมง ก่อนการตรวจ ไม่ต้องนอนพักฟื้นในโรงพยาบาล สะดวก รวดเร็ว รู้ผลการตรวจได้ทันที  ไม่เจ็บปวด มีความแม่นยำสูง และหมดความกังวลเรื่องภาวะแทรกซ้อน 

ทั้งนี้เครื่องไฟโบรสแกน เป็นการตรวจที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคตับอักเสบเรื้อรัง ไวรัสตับอักเสบบี หรือซี  ไขมันพอกตับและตับแข็ง ในการประเมินการดำเนินโรคและติดตามการรักษา

การรักษาภาวะไขมันพอกตับ

นอกจากแพทย์พิจารณาให้ยารับประทานตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคนแล้ว การรักษาส่วนใหญ่มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยดูแลสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต  โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์  เลี่ยงอาหารหรือผลไม้ที่มีรสหวานและมีไขมันสูง งดดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150-200 นาทีต่อสัปดาห์ และลดน้ำหนัก ซึ่งภาวะไขมันพอกตับสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้ หากได้รับการดูแลรักษาก่อนเกิดการอักเสบจนเป็นพังผืด

ส่วนผู้ป่วยเบาหวาน ไขมันสะสมในเลือดสูง หรือความดันโลหิตสูง ควรควบคุมโรคโดยเอาใจใส่รับประทานยาและปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ ควบคุมอาหารและเพิ่มการออกกำลังกาย ทำจิตใจให้แจ่มใส หากมีความจำเป็นต้องร่วมงานเลี้ยง หรือพบปะสังสรรค์ในหน้าที่การงาน รวมถึงรักความสนุกสนานของบรรยากาศปาร์ตี้ โดยเฉพาะช่วงเทศกาลรื่นเริงต่างๆ ควรมีการเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อลดภาวะเสี่ยงไขมันพอกตับ

สิ่งที่ดีที่สุดในการต่อสู้กับโรคทุกชนิดก็คือ การป้องกัน การตรวจหาภาวะไขมันพอกตับด้วย Fibroscan  ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเฝ้าระวังของการเกิดพังผืดภายในตับ  ซึ่งการตรวจใช้เวลาตรวจไม่นาน  ไม่ต้องนอนพักฟื้น รู้ผลการตรวจได้ทันที มีความแม่นยำสูง ไม่เจ็บปวดและไม่มีภาวะแทรกซ้อน  เพราะถ้าหากปล่อยทิ้งไว้จนเป็นตับแข็ง  จะไม่สามารถรักษาให้หายได้  ทำได้เพียงควบคุมอาการและลดปริมาณไขมันในตับลงเท่านั้น  

สอบถามเพิ่มเติม

*โปรดระบุ

ชื่อ*
ชื่อ*
นามสกุล*
นามสกุล*
ประเภทคำถาม*
ประเภทคำถาม*
คำถามของคุณ*
คำถามของคุณ*
อีเมล*
อีเมล*
คะแนนบทความ

มีบัญชีผู้ใช้อยู่แล้ว?